xs
xsm
sm
md
lg

ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและการต่อสู้เพื่อระบบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่ คสช. และ สปช. ต้องศึกษาให้ถ่องแท้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดุษฎี ห๎ลีละเมียร

จากร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ ภาค ๓ หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด ๑ ศาลและกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่ ๑ บททั่วไป มาตรา ๒๒๕ บัญญัติเพิ่มเติมสัดส่วนคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่มาจากฝ่ายการเมืองเป็นไม่น้อยกว่าหนึ่งใน สามของจำนวนผู้พิพากษาที่เป็นคณะกรรมการตุลาการทั้งหมด น่าจะมาจากความพยายามที่จะตรวจสอบและควบคุมศาลยุติธรรมอย่างหนักแน่นและเข้มข้น และอาจมาจากหลักคิดหรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่จะสร้างให้ประชาชนเป็นใหญ่ จึงมีความพยายามให้มีกรรมการตุลาการที่เป็นคนนอกซึ่งเป็นตัวแทนจากฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็นจำนวนมาก จากเดิมมีกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิเพียง ๒ คน ระบบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี ความจริงแล้วความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเป็นหลักประกันความยุติธรรมในศาลซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนว่าการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาจะไม่ถูกแทรกแซงหรือก้าวก่ายจากฝ่ายบริหารหรือทางการเมือง จึงเป็นหลักประกันอันสำคัญแก่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคน การให้มีกรรมการตุลาการที่เป็นตัวแทนจากฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องในระบบบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมมาก ๆ โดยอ้างว่าจะได้มีการยึดโยงกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนรู้เห็นและควบคุมกิจการศาลบ้าง เพื่อให้ถ่วงดุลอำนาจบ้าง เพื่อหลักการประชาธิปไตยบ้าง ทั้งหมดน่าจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอนำเสนอและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

เมื่อกล่าวถึงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา (Independence of the Judiciary) สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ หลักประกันอันสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานของการดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยภายใต้กฎหมาย ซึ่งมาจากหลักนิติธรรม (The Rule of Law) มิใช่การรักษาอำนาจของผู้พิพากษาหรือตุลาการ ศาลได้รับมอบอำนาจจากบ้านเมืองให้ทำหน้าที่ประสิทธิประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า มีเพียงบัลลังก์และปากกาเป็นเครื่องมือ บางทีเป็นข้อพิพาทของประชาชนกับผู้มีอำนาจ หรือข้อพิพาทระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้มีอำนาจ การที่จะให้ศาลหรือผู้พิพากษาสามารถพิจารณาคดีโดยยึดมั่นในตัวบทกฎหมายและความยุติธรรมโดยไม่ต้องคำนึงว่าใครคือคู่ความหรือพรรคพวกของคู่ความ ซึ่งบางกรณีอาจจะเป็นผู้มีอำนาจหรือผู้มีอิทธิพลยิ่งใหญ่ ต้องนับว่าบ้านเมืองมอบภาระที่ยากยิ่งและหมิ่นเหม่ต่อการถูกอิทธิพลชักจูงหรือบีบบังคับให้คำวินิจฉัยของศาลผันแปรไปตามความต้องการหรือประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันบ้านเมืองและประชาชนก็คาดหมายให้ศาลหรือตุลาการวางตัวเป็นกลางและให้ความยุติธรรมแก่ทุกคนโดยทั่วหน้า ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ฝักใฝ่กับฝ่ายใด และให้ยึดถือหลักกฎหมายและความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง ดังนั้น ผู้พิพากษาหรือตุลาการต้องมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี

ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา โดยพื้นฐานหมายถึง สิทธิของผู้พิพากษาหรือตุลาการที่จะใช้วิจารณญาณวินิจฉัยชี้ขาดและตัดสินอรรถคดีให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงแห่งคดีและหลักกฎหมายอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมด้วยความเป็นกลาง และปราศจากอคติหรือความลำเอียง โดยคำนึงถึงหลักกฎหมาย และเหตุผลที่ถูกต้องตามสามัญสำนึก ตลอดจนสิทธิและความรับผิดชอบของคู่ความในคดี แต่สิทธิในภาวะอิสระเช่นนี้ต้องไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำจากอำนาจหรืออิทธิพลใด ๆ ที่เข้ามาชักจูง แนะนำ บีบคั้น กดดัน ก้าวก่าย แทรกแซง หรือออกคำสั่งใด ๆ จนทำให้ผู้พิพากษาหรือตุลาการหวาดหวั่นและไม่อาจประสิทธิประสาทความยุติธรรมตามอุดมการณ์และด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพของตนได้ ทั้งนี้ ผู้พิพากษาหรือตุลาการจะใช้อำนาจอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีตามอำเภอใจโดยไม่มีขอบเขตไม่ได้

หลักเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในประเทศไทยมีมาแต่โบราณแล้ว มิใช่เป็นของใหม่หรือเพิ่งเกิดขึ้นในวงการศาลไทย เพราะปรากฏมีอยู่ชัดแจ้งใน “พระธรรมศาสตร์” อันเป็นกฎหมายแต่ดั้งเดิมตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา และใช้เรื่อยมาจนถึงตอนต้นของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์ อำนาจตุลาการซึ่งเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยจึงเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยตรง ในความเป็นจริงแล้วพระมหากษัตริย์มิได้ทรงสงวนพระราชอำนาจนี้เป็นสิทธิขาดเฉพาะพระองค์แต่อย่างใด แต่ทรงมอบหมายให้ขุนนางทำหน้าที่แทน ทำให้มีการนำหลักจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์และหลักอินทภาษที่เกี่ยวกับการปราศจากอคติ ๔ ประการ อันได้แก่ ฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ และโมหาคติ มาวางเป็นข้อปฏิบัติและการวางตนของผู้พิพากษาตระลาการเพื่อให้การชี้ขาดตัดสินคดีเป็นไปอย่างเที่ยงธรรมและเป็นกลาง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นระยะเวลาที่ประเทศไทยต้องเตรียมรับสถานการณ์จากภยันตรายอันใหญ่หลวงของลัทธิจักรวรรดินิยม ทั้งมีความพยายามที่จะยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและศาลกงศุลเพื่อกอบกู้เอกราชทางการศาล หนทางเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้ก็โดยการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลไทยให้อยู่ในระดับมาตรฐานที่ชาวตะวันตกยอมรับโดยเร่งด่วนที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ จึงทรงส่งพระราชโอรส พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศอังกฤษ ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาซึ่งเป็นคตินิยม วัฒนธรรมทางการศาล และขนบธรรมเนียมอันดีงามของระบบศาลอังกฤษจึงฝังลึกอยู่ในจิตสำนึกของนักกฎหมายรุ่นแรกของประเทศไทยทุกท่าน และเมื่อสถาปนาโรงเรียนกฎหมายขึ้น จึงย่อมต้องมีการปลูกฝัง ถ่ายทอด และสั่งสอนเกี่ยวกับหลักอิสรภาพของผู้พิพากษาในโรงเรียนกฎหมาย รวมทั้งใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาขณะที่มีการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลให้อยู่ในระดับมาตรฐานที่ชาวตะวันตกยอมรับ

ระบบศาลไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ และใช้เรื่อยมาจนถึงตอนต้นของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝ่ายบริหารสามารถครอบงำการประสาทความยุติธรรมของฝ่ายตุลาการ และการทุจริตของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางการศาลสืบเนื่องมาจากการที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการมิได้แยกออกจากกัน เป็นเหตุผลหลัก ๒ ประการ ที่ทำให้ต้องปฏิรูประบบศาลไทยและการยุติธรรมใหม่หมดทั้งระบบ พระราชปรารภในคำจารึกของหิรัญบัตรที่บรรจุหีบสังกะสีสอดอยู่ในศิลาปฐมฤกษ์ของอาคารศาลสถิตยุติธรรมเมื่อ ร.ศ. ๑๐๐ (พ.ศ. ๒๕๒๔) เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการเป็นรัฐประศาสโนบายที่สำคัญในการปฏิรูปศาลไทยและการยุติธรรมในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อมีประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรม ร.ศ. ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) เจตนารมณ์ของกฎหมายที่แฝงอยู่ในประกาศดังกล่าวเป็นหลักการใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในระบบศาลและการยุติธรรมของไทย คือ การเปลี่ยนแนวคิดจากการให้ศาลที่สังกัดอยู่กับฝ่ายบริหารแบบเดิมมาเป็นให้มีอำนาจอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี หลังจากนั้นเมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญแก่การปรับปรุงด้านความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ทรงยึดถือหลักการให้ผู้พิพากษาเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีมาโดยตลอด และทรงเป็นแบบอย่างอันดีของการรักษาความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการอย่างเคร่งครัดโดยไม่ยอมให้อำนาจใดเข้ามาแทรกแซง ก้าวก่าย หรือครอบงำได้ บรรพตุลาการทั้งหลายได้ยึดถือหลักการนี้ไว้ในจิตสำนึกมาโดยตลอดจนเป็นวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีทางการศาลที่สืบทอดกันต่อ ๆ มาจนถึงผู้พิพากษาหรือตุลาการในปัจจุบัน แม้จะยังเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หลักเรื่องการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น ๓ ฝ่าย ยังไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย อำนาจการปกครองบ้านเมืองทั้งปวงมีศูนย์รวมอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์พระองค์เดียว แต่พระมหากษัตริย์ก็ไม่ทรงเข้ามาแทรกแซงหรือก้าวก่ายอำนาจศาลเลย แม้จะไม่มีตัวบทกฎหมายบัญญัติห้ามเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมก้าวก่ายศาล ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วมีอำนาจที่จะแทรกแซงการพิจารณาคดีได้ รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้ง โยกย้าย และลงโทษผู้พิพากษาในสมัยนั้นได้โดยตรง และในทางกฎหมายยังไม่ได้รับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมจะปล่อยวางเพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีไปตามตัวบทกฎหมายโดยไม่เข้าแทรกแซง ดังนั้น ในทางปฏิบัติตลอดระยะเวลาของสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ศาลยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่ประสาทความยุติธรรมโดยอิสระตามกฎหมายอย่างมั่นคงและไม่มีความหวั่นเกรงต่ออำนาจหรืออิทธิพลใด ๆ เลย

เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย มีการบัญญัติเกี่ยวกับความเป็นอิสระของผู้พิพากษาไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นฉบับแรกไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า “...ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี” เพราะในสังคมประชาธิปไตยทุกคนเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย และความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเป็นหลักประกันความยุติธรรมแก่ประชาชน ส่วนระบบบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษายังคงถือตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช ๒๔๗๑ ซึ่งเป็นฉบับแรกที่แยกออกจากกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน แต่เปลี่ยนตัวผู้มีอำนาจในกระทรวงยุติธรรมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช ๒๔๗๗ วางหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในระดับหนึ่ง แต่สิทธิขาดในการแต่งตั้ง โยกย้าย และลงโทษผู้พิพากษาอยู่ที่คณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร เป็นครั้งแรกที่มีคณะกรรมการตุลาการหรือ ก.ต. เป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของผู้พิพากษา จำนวน ๕ ท่าน ประกอบด้วย อธิบดีศาลฎีกา ปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีศาลอุทธรณ์ นายกกรรมการเนติบัณฑิตยสภา และท่านผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก.ต. ชุดนี้มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หากรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย ให้เสนอคณะรัฐมนตรีวินิจฉัย ดังนั้น การแต่งตั้ง โยกย้าย และลงโทษผู้พิพากษาจึงเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร นอกจากนี้ มีการเชื่อมโยงกันระหว่างศาลยุติธรรมกับสภาผู้แทนราษฎรเพื่อถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายตุลาการ ผู้พิพากษาตกอยู่ในการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะเป็นอำนาจบริหารหรืออำนาจนิติบัญญัติ จึงมีการต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพของตุลาการ

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช ๒๔๗๙ บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจร่วมกับ ก.ต. จำนวน ๗ ท่าน ประกอบด้วย ก.ต. โดยตำแหน่ง จำนวน ๓ ท่าน อันได้แก่ อธิบดีศาลฎีกา เป็นประธาน ก.ต. ปลัดกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีศาลอุทธรณ์ กับ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๔ ท่าน อันได้แก่ ผู้แทนเนติบัณฑิตยสภา ผู้แทนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และข้าราชการตุลาการบำนาญ จำนวน ๒ ท่าน พระราชบัญญัติฉบับนี้มิได้ให้อำนาจแก่คณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งและถอดถอนผู้พิพากษาอีกต่อไป

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช ๒๔๘๒ เปลี่ยนโครงสร้างของ ก.ต. เสียใหม่ โดยกำหนดให้มี ก.ต. จำนวน ๑ ท่าน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้เลือก และเพิ่มข้าราชการตุลาการบำนาญอีก ๑ ท่าน โดยตัดผู้แทนเนติบัณฑิตยสภาและผู้แทนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองออกไป เมื่อรวมกับ ก.ต. โดยตำแหน่ง จำนวน ๒ ท่าน และ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นข้าราชการตุลาการบำนาญอีก ๒ ท่าน ทำให้โครงสร้าง ก.ต. มีผู้พิพากษาทั้งหมดถึง ๖ คน แม้ไม่มี ก.ต. คนนอก แต่การเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหาร คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เลือก ก.ต. จากผู้พิพากษา แสดงว่าฝ่ายบริหารสามารถตรวจสอบการทำงานของ ก.ต. โดยผ่านผู้พิพากษาที่เป็นตัวแทนรัฐมนตรี นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจกว้างขวางที่จะมีคำสั่งให้ข้าราชการตุลาการสามัญออกจากตำแหน่งโดยมิได้กระทำผิด ถ้าเห็นว่ามีมลทินหรือมัวหมองและอาจทำให้ทางราชการเสียหาย ทั้งนี้ ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบของ ก.ต. และมีอำนาจออกคำสั่งให้ข้าราชการตุลาการออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญอย่างข้าราชการพลเรือน การให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอย่างกว้างขวางเช่นนี้ทำให้การแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดีเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกใน “คดีสมเด็จพระปกเกล้าฯ” ซึ่งมีผลทำให้พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุธ เลขยานนท์) อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ต้องถูกสั่งให้ออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญฐานรับราชการนานด้วยเหตุผลทางการเมือง เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ศาลไทยนับแต่ปฏิรูประบบศาลและการยุติธรรมเป็นต้นมา ทำให้เป็นที่ตระหนักว่าผู้พิพากษาจะไม่มีความปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว ทำให้หลักการแบ่งแยกอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยต้องเสียไป ฝ่ายบริหารจะใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจโดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีศาลที่เป็นอิสระคอยทัดทานด้วยหลักกฎหมายและความยุติธรรม การพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะถูกทำลายลงด้วย ดังนั้น พลังความคิดประชาธิปไตยในเรื่องหลักนิติธรรมและหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาจึงค่อย ๆ เข้าไปอยู่ในมโนสำนึกของผู้พิพากษา บุคลากรในวงการนิติศาสตร์ และนักกฎหมายโดยทั่วไป แม้กระทั่งเหล่านักศึกษาวิชากฎหมาย ทำให้ความรู้สึกที่จะต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพของผู้พิพากษาเกิดขึ้นในจิตใจ

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พุทธศักราช ๒๔๘๕ บัญญัติขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ และอยู่ในยุคเผด็จการของประเทศไทย โครงสร้าง ก.ต. เป็นเช่นเดียวกับในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช ๒๔๘๒ แต่มีการบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า ให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการ “ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายที่รัฐบาลแถลง” แสดงว่าฝ่ายบริหารเข้ามาควบคุมฝ่ายตุลาการอย่างใกล้ชิด เลียนแบบแนวคิดเผด็จการของฮิตเลอร์ที่ปฏิเสธความเป็นอิสระของผู้พิพากษาโดยสิ้นเชิง นักศึกษาและนักวิชาการที่เติบโตในยุคนี้จึงยึดหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาในการต่อต้านเผด็จการ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงในปี ๒๔๘๘ เกิดรัฐประหารขึ้นในปี ๒๔๙๐ ทำให้ประเทศไทยกลับไปสู่การปกครองแบบเผด็จการอีกครั้ง การต่อสู้เพื่อหลักนิติธรรมและหลักอิสรภาพของตุลาการได้ดำเนินไปอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ในช่วงนี้มีเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองอย่างรุนแรงหลายครั้ง เช่น กบฏวังหลวง กบฏแมนฮัตตัน มีการจับกุมผู้ตกเป็นกบฏและฟ้องร้องในศาลจำนวนมาก รวมทั้งนักการเมืองฝ่ายค้าน นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนก็ตกเป็นจำเลยในศาลจำนวนมาก ผู้พิพากษาในยุคนั้นต้องเผชิญกับผู้มีอิทธิพลที่มีอำนาจอันยิ่งใหญ่ในขณะที่ต้องรักษาความบริสุทธิ์ยุติธรรมรวมทั้งศักดิ์ศรีและเกียรติศักดิ์ของตุลาการไว้ด้วย ผู้พิพากษาในยุคนั้นสามารถยืนหยัดรักษาความเป็นอิสระในการวินิจฉัยชี้ขาดด้วยกฎหมายและความยุติธรรมโดยไม่ยินยอมให้อิทธิพลทางการเมืองเข้าแทรกแซงหรือครอบงำได้อย่างสมศักดิ์ศรี ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นโครงสร้างของระบบ ก.ต. ยังไม่มีบทบัญญัติทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่จะเป็นหลักประกันเสถียรภาพในการดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาอย่างเต็มที่เลย ต่อมามีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ การรวมพลังที่ยืนหยัดในหลักนิติธรรมและหลักอิสรภาพของตุลาการทำให้มีการเพิ่มเติมเพื่อรับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาอย่างหนักแน่นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ว่า “การแต่งตั้ง โยกย้าย และถอดถอนผู้พิพากษาต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล” เป็นการยืนยันหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่มีอยู่ในทางปฏิบัติซึ่งผู้พิพากษาได้ต่อสู้และหวงแหนมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ทั้งเป็นหลักประกันเสถียรภาพของตุลาการอันจะมีผลถึงความเป็นอิสระในทางส่วนตัวตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อมิให้อำนาจใด ๆ เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงในการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รวมทั้งเพื่อมิให้ผู้พิพากษาหวั่นไหวต่ออำนาจหรืออิทธิพลใด ๆ และเป็นหลักประกันว่าจะไม่ถูกโยกย้ายหรือถอดถอนโดยฝ่ายบริหารหรืออำนาจทางการเมืองเป็นอันขาด เพราะขณะนั้น ก.ต. มีอำนาจยับยั้งการแต่งตั้ง โยกย้าย และถอดถอนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอย่างเด็ดขาดโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ขณะเดียวกันพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พุทธศักราช ๒๔๘๕ ซึ่งมีผลใช้บังคับขณะนั้นมีโครงสร้าง ก.ต. ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้พิพากษาถึง ๖ ท่าน และมิได้กำหนดให้มี ก.ต. คนนอกด้วย จึงมีผลทำให้อำนาจตุลาการเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารอย่างเด็ดขาด ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะครอบงำอำนาจตุลาการจากผู้มีอำนาจในสมัยนั้นโดยยกเหตุผลต่าง ๆ นานามาทำให้สังคมคล้อยตามและยอมรับ ดังเช่น ก.ต. จะต้องมีการควบคุมจากรัฐสภา เพราะรัฐสภามาจากประชาชน ต้องให้รัฐสภามีส่วนแต่งตั้ง ก.ต. ซึ่งจะเท่ากับให้ประชาชนมีส่วนควบคุม ก.ต. ด้วย จึงจะชอบด้วยหลักประชาธิปไตย แต่เหล่านักศึกษาและประชาชนผู้สนใจในเวลานั้นสามารถมองออกว่ารัฐสภาไทยขณะนั้นถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหารซึ่งมีอำนาจทางการเมือง หากปล่อยให้รัฐสภามีส่วนแต่งตั้ง ก.ต. ก็เท่ากับปล่อยให้ผู้มีอำนาจสั่งการได้ว่า ก.ต. ควรประกอบด้วยใครบ้าง แล้วหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาจะมีเหลืออยู่อย่างไร แม้กระแสมติมหาชนจะคัดค้าน แต่ไม่สามารถยับยั้งผู้มีอำนาจในทางการเมืองที่คอยบงการในกระบวนการนิติบัญญัติได้ พระราชบัญญัติฉบับใหม่จึงมีผลใช้บังคับตามความต้องการของผู้มีอำนาจ

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พุทธศักราช ๒๔๙๗ กำหนดให้มี ก.ต. ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ก.ต. ประธานศาลฎีกา เป็นรองประธาน ก.ต. และ ก.ต. อื่น ๆ อันได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็น ก.ต. โดยตำแหน่ง และ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๕ ท่าน ซึ่งจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร โครงสร้าง ก.ต. ตามกฎหมายฉบับนี้สามารถคงหลักการที่ให้มีการเชื่อมโยงกันระหว่างศาลยุติธรรมกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อถ่วงดุลการใช้อำนาจตุลาการ และสามารถตรวจสอบการทำงานของ ก.ต. โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ก.ต. ทั้งมี ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๕ ท่าน ที่เป็นตัวแทนของฝ่ายนิติบัญญัติโดยมาจากการแต่งตั้ง จึงเป็นอันว่าฝ่ายบริหารและการเมืองเข้ามาแทรกแซงครอบงำและคุมเสียงข้างมากใน ก.ต. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้พิพากษา จะเห็นได้ว่ามีข้าราชการตุลาการโดยตำแหน่งเพียง ๔ ท่าน ในจำนวน ก.ต. ทั้งหมด ๑๑ ท่าน เท่านั้นที่จะคุ้มกันความเป็นอิสระในการประสาทความยุติธรรมของผู้พิพากษา นอกจากนี้ การเลื่อนขั้นเงินเดือนแก่ข้าราชการตุลาการระดับผู้พิพากษาหัวหน้าศาลขึ้นไปจนถึงประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจสั่งโดยได้รับความเห็นชอบจาก ก.ต. และต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เท่ากับฝ่ายบริหารเข้ามาก้าวก่ายความเป็นอิสระในทางส่วนตัวของผู้พิพากษาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เพื่อที่จะควบคุมให้ผู้พิพากษาอยู่ใต้อาณัติของฝ่ายบริหาร พระราชบัญญัติฉบับนี้ถูกประณามว่าเป็นกฎหมายโบว์ดำในทันทีโดยมติมหาชน และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่าเป็นเครื่องมือของเผด็จการที่จะครอบงำเพื่อจะได้ใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจโดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีศาลที่เป็นอิสระคอยทัดทานด้วยกฎหมายและความยุติธรรม หลังจากนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำรัฐประหารและมีรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรี มีการประกาศนโยบาย “แน่วแน่แก้ไขในสิ่งผิด” โดยเฉพาะประกาศความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขระบบ ก.ต. ให้คืนสู่สภาพเดิมเพื่อให้ปลอดพ้นจากอำนาจทางการเมืองที่จะเข้ามาครอบงำแทรกแซงศาล จึงได้มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งพระยาอรรถ-การีย์นิพนธ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านรีบจัดการแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พุทธศักราช ๒๔๙๗ โดยมีศาสตราจารย์กำธร พันธุลาภ ตุลาการอาวุโสที่โอนมาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นกำลังสำคัญ

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๐ กำหนดหลักการสำคัญที่รับรองความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ โดยเฉพาะการตัดอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมออกจากตำแหน่งประธาน ก.ต. และคืนให้แก่ประธานศาลฎีกาดังที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการฉบับก่อน ๆ โครงสร้าง ก.ต. ประกอบด้วย ก.ต. โดยตำแหน่ง คือ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ก.ต. ปลัดกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๘ ท่าน มาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษาทั่วประเทศ โดยเลือกมาจากผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาขึ้นไป จำนวน ๔ ท่าน และอีก ๔ ท่าน เลือกมาจากข้าราชการตุลาการบำนาญ พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นจุดเริ่มต้นของโครงสร้างระบบ ก.ต. ที่เป็นหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาอย่างมั่นคง สมบูรณ์ และเด็ดขาด พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ๑๒ ปี

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๑๒ มีการแก้ไขเล็กน้อยโดยเพิ่มจำนวน ก.ต. เป็น ๑๒ คน เท่านั้น กล่าวคือ เพิ่มรองประธานศาลฎีกาที่มีอาวุโสสูงสุดเป็น ก.ต. โดยตำแหน่ง ต่อมาเกิดการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ และมีการจัดตั้งรัฐบาลคณะปฏิวัติโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ที่มีศาสตราจารย์หลวงจำรูญเนติ-ศาสตร์ อดีตประธานศาลฎีกา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๙ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๕ เป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งของฝ่ายบริหารที่จะเข้ามาแทรกแซงและมีอิทธิพลในวงการตุลาการ โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในฐานะประธาน ก.ต. และให้ ก.ต. ที่เป็นผู้พิพากษาซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเลือก จึงเท่ากับเป็นตัวแทนของฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่ตรวจสอบ ก.ต. ด้วย ทำให้เกรงกันว่าอำนาจบริหารหรือรัฐบาลคณะปฏิวัติจะเข้ามาครอบงำฝ่ายตุลาการ ผู้พิพากษาและนักกฎหมายทั่วไปคัดค้านในทันที เป็นเหตุให้เกิดการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาและประชาชนอย่างกว้างขวาง ถึงกับมีผู้ประณามว่าเป็น “กฎหมายโบว์ดำ” จนรัฐบาลคณะปฏิวัติประกาศยกเลิกด้วยการตราพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๙ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๕

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. ๒๕๒๑ มีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายตามความยุติธรรมโดยไม่ถูกก้าวก่ายหรือแทรกแซงโดยอำนาจอื่นอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ โดยมี ก.ต. เป็นองค์กรที่เป็นหลักประกันความเป็นอิสระให้แก่ผู้พิพากษา แต่ในระหว่างที่มีเหตุการณ์ซึ่งเรียกว่า “วิกฤตตุลาการ” เกิดขึ้นในวงการตุลาการ ได้มีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. ๒๕๒๑ พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งกำหนดให้มี ก.ต. ชุดหนึ่ง ประกอบด้วย ก.ต. โดยตำแหน่ง อันได้แก่ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ก.ต. อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และปลัดกระทรวงยุติธรรม กับ ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๑๐ ท่าน อันได้แก่ ข้าราชการตุลาการชั้น ๗ ขึ้นไปซึ่งมิได้เป็น ก.ต. โดยตำแหน่ง และข้าราชการตุลาการซึ่งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน ๖ ท่าน รวมทั้งข้าราชการตุลาการบำนาญตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนหลังสุดตามลำดับ จำนวน ๔ ท่าน แม้จะมีหลักการที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของ ก.ต. แต่ผู้พิพากษาส่วนใหญ่และนักกฎหมายทั่วไปตลอดจนนักนิติศาสตร์ในสถาบันการศึกษาต่างออกมาคัดค้านกันอย่างกว้างขวาง เพราะมองเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อสนับสนุนการก้าวก่ายแทรกแซงวงการตุลาการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาอย่างรุนแรง ทั้งทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ตุลาการ และมีการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อรักษาอิสรภาพของตุลาการในบรรดาผู้พิพากษาทั้งหลายอย่างกว้างขวาง ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรในสมัยของรัฐบาลต่อมาพิจารณาพระราชกำหนดฉบับนี้แล้วมีมติไม่อนุมัติ ทำให้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. ๒๕๒๑ พ.ศ. ๒๕๓๕ ตกไป ไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. ๒๕๒๑ จึงใช้บังคับเรื่อยมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๐ โดยมาตรา ๒๗๕ ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานเป็นอิสระทั้งในการบริหารงานบุคคลและการงบประมาณ อันหมายถึง การแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม และทำให้ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ เพื่อรองรับการแยกศาลยุติธรรมเป็นสถาบันอิสระ

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ได้ปรับปรุงโครงสร้าง ก.ต. เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ หมวด ๘ ศาล ส่วนที่ ๓ ศาลยุติธรรม มาตรา ๒๗๔ โดยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของ ก.ต. เสียใหม่ ก.ต. ศาลยุติธรรม จำนวน ๑๕ คน ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ก.ต. ศาลยุติธรรม ก.ต. ศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๑๒ ท่าน ซึ่งข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล เว้นแต่ผู้ช่วยผู้พิพากษา เป็นผู้เลือกจากข้าราชการตุลาการในชั้นศาลของตนเอง กล่าวคือ ศาลฎีกา ให้เลือกจากข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลฎีกาในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน ๔ ท่าน ศาลอุทธรณ์ ให้เลือกจากข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หรือผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค จำนวน ๔ ท่าน และศาลชั้นต้น ให้เลือกจากข้าราชการตุลาการที่ดำรงตำแหน่งในศาลชั้นต้นในตำแหน่งที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จำนวน ๔ ท่าน กับ ก.ต. ศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๒ ท่าน ซึ่งวุฒิสภาเลือกจากบุคคลที่ไม่เป็นข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม โดย ก.ต. ศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสองท่านนี้ต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ไม่เป็นกรรมการพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมือง ไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือกรรมการในคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองหรือศาลอื่น ไม่เป็นทนายความ ข้าราชการตำรวจ หรือข้าราชการอัยการ ไม่เป็นกรรมการ ที่ปรึกษา พนักงาน ลูกจ้าง หรือดำรงตำแหน่งใดในรัฐวิสาหกิจ และไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอื่นใดอันเป็นการกระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ก.ต. ศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งห้ามมิให้กรรมการบริหารศาลยุติธรรมเป็น ก.ต. ศาลยุติธรรมในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้วางหลักเกณฑ์เพื่อให้ความคุ้มครองอิสรภาพของผู้พิพากษา เช่น มาตรา ๑๘ การโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการตุลาการจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากข้าราชการตุลาการผู้นั้น มาตรา ๖๖ ข้าราชการตุลาการต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่น หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้การพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่นขาดความเป็นอิสระหรือความยุติธรรม ฯลฯ เท่ากับเป็นหลักประกันความเป็นอิสระในทางส่วนตัวของผู้พิพากษาเพื่อมิให้ต้องกังวลหรือหวั่นไหวต่ออำนาจหรืออิทธิพลใด ๆ ที่จะเข้ามาแนะนำ ตักเตือน ชักจูง บีบคั้น แทรกแซง ก้าวก่าย ครอบงำ หรือแม้กระทั่งออกคำสั่งใด ๆ ซึ่งมีผลกระทบกระเทือนต่อการใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างอิสระและปราศจากอคติใด ๆ โดยมี ก.ต. ศาลยุติธรรมซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของผู้พิพากษาทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ควบคุมดูแลให้ผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องและเที่ยงธรรมด้วย นอกจากนี้ ยังมีคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประจำชั้นศาลทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเสนอความเห็นต่อ ก.ต. ศาลยุติธรรมเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งเพิ่งมีเป็นครั้งแรกในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการหลังจากการแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นธรรมแก่ผู้พิพากษาแต่ละคนมากที่สุด

เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ เป็นต้นมา การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่เป็นรูปธรรมมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น มีการรับรองว่าอำนาจอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้น จะต้องไม่ถูกก้าวก่ายหรือแทรกแซงโดยอำนาจอื่นอย่างเด็ดขาด และเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีสาระสำคัญเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันของปวงชนชาวไทยในอันที่จะวางรากฐานหลักนิติธรรม (The Rule of Law) เพื่อการเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงในสังคมไทย โดยเริ่มตั้งแต่การปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสาม องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐเป็นเบื้องแรก ดังนั้น ความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรศาลซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย อันได้แก่ ผู้พิพากษาและตุลาการ จึงสมควรได้รับการพิจารณาให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลมีคู่กรณี ๒ ฝ่าย ที่ขัดแย้งกัน หากผู้พิพากษาและตุลาการไม่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว ศาลจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้อย่างไร ดังนั้น ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาจึงเป็นหลักประกันสำคัญในการพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชน และทำให้สถาบันศาลสามารถประสิทธิประสาทความยุติธรรมแก่ประชาชนได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ในส่วนโครงสร้างของ ก.ต. ศาลยุติธรรมนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หมวด ๑๐ ศาล ส่วนที่ ๓ ศาลยุติธรรม ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและองค์ประกอบของ ก.ต. ศาลยุติธรรมเกี่ยวกับ ก.ต. ศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละชั้นศาลไว้ในมาตรา ๒๒๑ (๒) กล่าวคือ ศาลฎีกา จำนวน ๖ ท่าน ศาลอุทธรณ์ จำนวน ๔ ท่าน และศาลชั้นต้น จำนวน ๒ คน ซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล และได้รับเลือกจากข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล แต่เดิมในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๗๔ (๒) ได้กำหนดอัตราส่วนของ ก.ต. ศาลยุติธรรมที่มาจากทุกชั้นศาลเท่ากัน คือ ชั้นศาลละ ๔ ท่าน ซึ่งเมื่อรวมจำนวนตัวแทนผู้พิพากษาจากศาลล่าง คือ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แล้ว (๘ ท่าน) มีจำนวนมากกว่าตัวแทนผู้พิพากษาจากศาลฎีกา (๔ ท่าน) รวมกับประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นประธาน ก.ต. ศาลยุติธรรมเสียอีก จึงเท่ากับเป็นการให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสน้อยกว่ามีอำนาจกำหนดนโยบายและปกครองผู้พิพากษาในทุกชั้นศาลมากกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งมีอาวุโสและประสบการณ์มากกว่า อันเป็นเรื่องที่ขัดต่อสามัญสำนึกเป็นอย่างยิ่ง เปรียบได้กับการ “เอาเด็กมาปกครองผู้ใหญ่” ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อ “หลักอาวุโส” อันเป็นวัฒนธรรมทางการศาลที่สถาบันศาลยุติธรรมให้ความสำคัญมาเป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปี ดังนั้น จึงมีการปรับอัตราสัดส่วน ก.ต. ศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละชั้นศาลใหม่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้

สำหรับมาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ “คณะกรรมการซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลใดต้องประกอบด้วยประธานของศาลนั้นเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนซึ่งได้รับเลือกตั้งจากผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลนั้นในแต่ละชั้นศาลในสัดส่วนที่เหมาะสม และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการและไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการซึ่งเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการของศาลนั้น เป็นกรรมการ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” เมื่อทุกท่านได้อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้แล้ว จากประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อระบบคณะกรรมการตุลาการตั้งแต่เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ฝ่ายการเมืองทำอะไรบ้างกับโครงสร้าง ก.ต. ซึ่งหมายถึง การแทรกแซงก้าวก่ายอำนาจตุลาการ ผู้พิพากษามีจิตสำนึกที่จะหวงแหนความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีที่จะไม่ยอมให้อำนาจหรืออิทธิพลใด ๆ มาแทรกแซงก้าวก่ายการตัดสินคดีตามกฎหมายด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมและซื่อสัตย์สุจริต “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา” โดยเนื้อแท้คือหลักประกันของการพิทักษ์ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในทางคดีความจากอำนาจหรืออิทธิพลใด ๆ และขณะเดียวกันคณะกรรมการตุลาการหรือ ก.ต. คือองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองความเป็นอิสระของผู้พิพากษา รวมทั้งทำหน้าที่ควบคุมดูแลให้ผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องและเที่ยงธรรม นับแต่มีการแยกศาลยุติธรรมออกมาจากกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานของฝ่ายบริหาร ทำให้มี ก.ต. คนนอก จำนวน ๒ ท่าน ซึ่งฝ่ายการเมืองเป็นผู้เลือกมาเป็น ก.ต. ศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากบทบัญญัติในมาตรา ๒๗๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และต่อมาตามมาตรา ๒๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ก็บัญญัติให้มี ก.ต. คนนอก จำนวน ๒ คน เป็น ก.ต. ศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งก็เป็นการถูกต้องที่จะมีการยึดโยงกับประชาชนของฝ่ายการเมือง แต่การที่กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันกำหนดให้มีการเพิ่มสัดส่วน ก.ต. คนนอกไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของ ก.ต. ซึ่งเป็นผู้พิพากษานั้น น่าจะเป็นการร่างขึ้นด้วยเจตนารมณ์ที่จะตรวจสอบและควบคุมศาลยุติธรรมอย่างหนักแน่นและเข้มขึ้น แต่จะกลับกลายเป็นช่องทางให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมได้โดยง่ายมากกว่า และอาจจะมาจากหลักคิดหรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการสร้างให้ประชาชนเป็นใหญ่ก็ได้ เมื่อความเป็นอิสระของผู้พิพากษาเป็นหลักประกันที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในคดีความจากอำนาจหรืออิทธิพลใด ๆ และคณะกรรมการตุลาการหรือ ก.ต. เป็นองค์กรบริหารงานบุคคลสูงสุดของผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิทักษ์ความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ดังนั้น ประชาชนเป็นใหญ่อยู่แล้วในจิตสำนึกของการทำงานให้ความยุติธรรมของผู้พิพากษาโดยไม่ต้องใช้หลักคิดหรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาสร้างให้เพิ่มขึ้น การที่ประชาชนจะเป็นใหญ่ไม่น่าจะพิจารณาเพียงปริมาณ แต่ควรจะมีความเข้าใจให้ลึกซึ้งและถ่องแท้เสียก่อนว่าคตินิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่อยู่ในจิตสำนึกของการทำงานในแต่ละองค์กรคืออะไร ขอตั้งคำถามให้ใคร่ครวญและไตร่ตรองอย่างรอบคอบว่า ก่อน คสช. จะเข้ามา อำนาจอธิปไตยทั้งสอง คือ อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร มีอาการสิ้นสภาพอย่างไร? ทำไม คสช. ถึงเข้ามา? เหลือเพียงอำนาจตุลาการใช่ไหมที่ใช้ความยุติธรรม กฎหมาย และเหตุผลประคับประคองชาติเอาไว้ เหตุไฉนจึงร่างรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงก้าวก่ายอำนาจตุลาการอย่างง่ายดายเช่นนี้? ไม่เกรงกลัวการรวบอำนาจอธิปไตยทั้งสามจากทรราชเลยหรือ? อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะได้แนวคิดหรือทฤษฎีมาจากประเทศใดหรือไม่ ผู้เขียนขออัญเชิญพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระมงกุฎเกล้าในพระราชพิธีเปิดรัฐมนตรีสภามาเป็นเครื่องเตือนใจ ดังนี้

“เราไม่ควรจะเปลี่ยนแปลงฤๅจะจัดการแก้ไขธรรมเนียมที่มีอยู่ทุกวันนี้ให้ใหม่ไปหมดสิ้นทีเดียว แลไม่ควรที่จะหลับตาเอาอย่างธรรมเนียมที่มีในที่อื่น หากว่าเราจะต้องค่อย ๆ ทำการให้ดีขึ้นโดยลำดับ ในการที่เปนสิ่งต้องการจะจัดให้ดีแล้ว แลเลิกถอนแต่สิ่งที่เหนเปนแน่แท้ว่าไม่ดีฤๅเปนของใช้ไม่ได้แล้วเท่านั้น ทุก ๆ เมืองอื่น ๆ แลในเมืองนี้เปนสำคัญทั้งสิ้น ย่อมมีธรรมเนียมหลายอย่างซึ่งเปนที่จะต้องนับถือกัน ไม่ใช่เพราะว่าเปนธรรมเนียมเก่าแก่มาแต่โบราณเสมอเหมือนกับอายุของประเทศนี้อย่างเดียว หากเพราะว่าเปนธรรมเนียมที่สนิทแน่นแฟ้นแก่น้ำใจแลความเชื่อมั่นของอาณาประชาชน แลเพราะว่าถ้าจะเลิกถอนธรรมเนียมเช่นนี้เสียก็จะไม่เปนแต่เพียงที่จะเปนภัยเกิดขึ้นแก่เมืองที่ตั้งอยู่ได้อย่างเดียว หากจะกระทำให้อาณาประชาราษฎร์ไม่เป็นผาสุกด้วย”

ดุษฎี ห๎ลีละเมียร
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑
กำลังโหลดความคิดเห็น