xs
xsm
sm
md
lg

บทพิสูจน์จุดยืน “ศาลปกครอง” ในยุค “ปิยะ” ประธานขัดตาทัพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 ปิยะ ปะตังทา
รายงานการเมือง

เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) มีมติ 8 ต่อ 3 เสียง ให้สั่งพักราชการ “หัสวุฒิ วิทิตวิริยกุล” ประธานศาลปกครองสูงสุด จากปม “จดหมายน้อย” ฝากตำรวจ เปิดทางให้ “ปิยะ ปะตังทา” รองประธานศาลปกครองสูงสุด คนที่ 1 มีโอกาสเข้าปฏิบัติหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุด ในระหว่างการสอบสวนพิจารณาดำเนินการทางวินัย “หัสวุฒิ” ของคณะกรรมการสอบสวน และ ก.ศป.

ประเด็นที่ต้องติดตามต่อก็เป็นเรื่องการสอบสวนพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อ “หัสวุฒิ” ที่ยังคงมีตำแหน่งเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด จึงมีคำถามว่า “ปิยะ ปะตังทา” ในฐานะ “ประธานขัดตาทัพ” ควรมีจุดยืนและหลักการทำงานอย่างไรเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และสามารถประคับประคองให้ “องค์กรศาลปกครอง” ยังเป็นที่ศรัทธาเชื่อมั่นของประชาชนในการทำหน้าที่ต่อไป

ภายหลังที่ “ปิยะ” ขยับขึ้นมารักษาการประธานศาลปกครองสูงสุดไม่ทันไร ก็มีกระแสข่าวสะพัดตามหน้าสื่อว่า จะมีการปลด “ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม” เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง พร้อมกับมีชื่อตัวตายตัวแทนอย่าง “กาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์” ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครองที่จะมาเสียบเก้าอี้ของ “ดิเรกฤทธิ์

ถือว่าเป็นข่าวที่ก่อให้เกิดความสับสน และความกังวลของบุคคลากรศาลปกครองเป็นอย่างยิ่ง ถึงการอำนวยความเป็นธรรมของศาลปกครองในยุคของ “ปิยะ” เพราะข่าวการปลด “ดิเรกฤทธิ์” ถูกมองว่าเป็นกระบวนการยึดอำนาจโดยไม่ชอบธรรม และกดดันให้คนบางกลุ่มในศาลปกครอง ยอมเข้าร่วมกระบวนการไปด้วย

เหตุเพราะ “ปิยะ” ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุดเพียง “ชั่วคราว” เท่านั้น คาดว่าจะไม่เกิน 60 วัน ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด ให้คณะกรรมการสอบสวนต้องรายงานผลการสอบสวนทางวินัย “หัสวุฒิ” เสนอต่อ ก.ศป. เมื่อเข้ามาทำหน้าที่เพียง “ชั่วคราว” จึงไม่ควรมีคำสั่งเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล หรือกระทั่งการริเริ่มงานในเชิงนโยบายใหม่

ซึ่งต้องถามต่อว่า “ปิยะ” มีความมั่นใจได้อย่างไรว่า “หัสวุฒิ” จะไม่ได้กลับมาเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดอีก หากที่สุด ก.ศป. มีมติให้ “หัสวุฒิ” กลับเข้าทำงานต่อ แล้วมีการเปลี่ยนแปลงเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองไปแล้ว ก็ย่อมมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน

อย่างน้อยๆ “หัสวุฒิ” ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ “ดิเรกฤทธิ์” ก็จะยิ่งทำให้ปัญหายุ่งเหยิงไปกันใหญ่

ขณะที่กระบวนการการสอบสวนทางวินัย “หัสวุฒิ” ก็มีปรากฏการณ์ประหลาด เมื่อมีการเสนอเรื่องคัดค้านคณะกรรมการสอบสวนด้วยกันเองต่อ กศ.ป. โดยเป็นการคัดค้านกรรมการที่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ส่งมาร่วมสอบสวน ด้วยข้อหาสภาพร้ายแรงที่จะไม่เป็นกลาง เมื่อ กศ.ป. ส่งเรื่องไปยัง ก.พ. ก็ถูกแทงเรื่องกลับทันที เนื่องจากก.พ.เห็นว่า ทั้งกรรมการสอบสวน หรือ ก.ศป. ล้วนไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์ที่จะร้องคัดค้านกรรมการด้วยกันได้

กลายเป็นเรื่องที่สร้างความเสื่อม-เสียหายต่อความน่าเชื่อถือของ ก.ศป. ตลอดจนความเป็นกลางของกรรมการสอบสวน ที่จนบัดนี้ก็ยังไม่เรียกประชุมพิจารณาใดๆ เลย ทั้งที่มีมติพักราชการ “หัสวุฒิ” ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา

ผนวกกับเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า กรรมการสอบสวนที่เป็น ก.ศป.อยู่ ล้วนมีสภาพร้ายแรงที่จะไม่เป็นกลางมากกว่าเสียอีก

และไม่ว่าผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะเป็นอย่างไร ก็ต้องส่งเรื่องให้ ก.ศป. ลงมติในขั้นตอนสุดท้ายอยู่ดี หาก “ปิยะ” เลือกที่เปลี่ยนตัวเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองจริง ก็จะสะท้อนว่า “ปิยะ” ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธาน ก.ศป. พิพากษาไปแล้วว่า “หัสวุฒิ” อาจมีความผิดทางวินัย และต้องลงโทษไล่ออกจากราชการ จึงถือโอกาสนี้ “ยึดอำนาจ” โดยการเปลี่ยนตัวเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และไม่สนว่า “หัสวุฒิ” จะได้กลับนั่งเก้าอี้เดิมอีกหรือไม่

หากเป็นเช่นนั้น “ปิยะ” ก็ถือว่ามีส่วนได้ส่วนเสียเต็มๆ การจะไปร่วมลงโทษทางวินัย“หัสวุฒิ”ย่อมไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน การข่าวที่ว่า “กาญจนารัตน์” จ่อที่จะเสียบเก้าอี้ของ “ดิเรกฤทธิ์” เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของบุคลากรในศาลปกครองว่า งานนี้มี “ใบสั่ง” เพื่อตอบแทน “กาญจนารัตน์” ที่มีผลงานโดดเด่นในหลายเรื่อง ที่สวนทางกับแนวทางของ “หัสวุฒิ” ทั้งเรื่องการแก้ไขกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง การเลือกผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเข้ามาเป็น ก.ศป. และการปฏิรูปศาลปกครองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ

การผลักดัน “กาญจนารัตน์” ให้เป็นเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่สูงที่สุดในช่วงก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย. 58 หรือเหลือเวลาทำงานเพียง 4-5 เดือนเท่านั้น ก็ถูกมองว่าเป็นเพียง “ทางผ่าน” เพื่อที่จะสนับสนุนให้ “กาญจนารัตน์” แต่งตัวก่อนเข้ารับตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ภายหลังจากเกษียณอายุราชการเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น “ปิยะ” ต้องไม่ลืมว่า การแต่งตั้งใครขึ้นมาทำงานในตำแหน่งสำคัญ ต้องพิจารณาไปถึง “ปูมหลัง” ว่าเคยมีเรื่องเสียหายในการรับราชการมาก่อนหรือไม่ด้วย

บทบาทของ “ปิยะ” ในช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุดชั่วคราว ถือเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญถึงจุดยืน หลักการ และภาวะผู้นำของ “ปิยะ” ที่ย่อมถูกคนใน-คนนอก จับตามองอย่างแน่นอน และเป็นโอกาสที่จะได้แสดงความกล้าหาญ และยืนอยู่บนความถูกต้อง ผ่านการทำหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธาน ก.ศป. ที่ตรงไปตรงมา โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตน และต้องไม่กลัวเกรงอิทธิพลกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ

และหากท้ายที่สุด “หัสวุฒิ” ถูกสอบสวนจนเสร็จสิ้นกระบวนความแล้ว มีเหตุให้ต้องพ้นตำแหน่งไป “ปิยะ” ที่มีอาวุโสสูงสุด ก็น่าจะได้รับเลือกจาก ก.ศป. ให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ถึงวันนั้นจะใช้อำนาจไปในทิศทางใดเพื่อสนองต่อนโยบายของตัวเอง เพื่อประโยชน์ขององค์กร ก็คงเป็นที่ยอมรับได้ และไม่มีผู้ใดคัดค้าน

อย่างไรก็ตาม หากยังยืนยันที่จะเปลี่ยนแปลงหรือแต่งตั้งเลขาธิการศาลปกครองคนใหม่นั้น ก็ควรเปิดให้มีการประบวนการสรรหาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ไม่ควรล็อกเก้าอี้ให้คนใดคนหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงผลประโบยชน์ที่ส่วนร่วมจะได้รับ

บทบาทของชายชื่อ “ปิยะ ปะตังทา” ต่อจากนี้ไป ไม่เพียงจะเป็นบทพิสูจน์ตัวตนแท้จริงของตัวเองเท่านั้น ยังถือเป็นบทพิสูจน์จุดยืนของ “ศาลปกครอง” ต่อการอำนวยความยุติธรรมให้แก่สาธารณชนอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น