ข่าวปนคน คนปนข่าว
“หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด” ยังคงเลือกที่จะเก็บตัวเงียบ ไม่ออกมาชี้แจงใดๆ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) มีมติให้พักราชการ จากผลพวงเหตุ จดหมายน้อย ฝากตำรวจ
คาดว่าเจ้าตัวคงทำใจไว้ล่วงหน้าแล้วว่า มติ ก.ศป. จะออกมาแบบนี้ และเลือกที่จะปล่อยให้เรื่องดำเนินไป แล้วไปต่อสู้กันในชั้นคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่มีการตั้งขึ้น หลังมีการร้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับตัวนายหัสวุฒิ ในหลายกรณีแต่หากการสอบสวนออกมาแล้ว ตัวนายหัสวุฒิ เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเพียงพอ ทั้งจากกรรมการสอบสวน และ ก.ศป.
มั่นใจได้เลยว่า นายหัสวุฒิ คงไม่ยอมง่ายๆ คงต่อสู้ตามกฎหมายแน่นอน เรื่องคงไม่จบง่ายๆ อาจได้เห็นระดับประธานศาลปกครองสูงสุด ยื่นเรื่องไปยังศาลปกครองแผนกคดีบริหารงานบุคคล ให้ฮือฮากันเล่น สรุปศึกนี้รับรองยาว และน่าจะกินเวลาหลายเดือนอยู่
ข่าวว่าที่ผ่านมา นายหัสวุฒิ ค่อนข้างมั่นใจมากจะชี้แจงข้อกล่าวหาได้ทุกประเด็น ไม่เว้นแม้แต่เรื่องจดหมายน้อย ที่น่าจะเป็นปมใหญ่สุด ส่วนประเด็นอื่นๆ เช่น เรื่องที่สื่อเสนอกันแล้วโยงไปถึงบุตรสาวตัวเองว่าเป็นทนายความให้กับคู่ความในคดีหนึ่ง ที่ตัวนายหัสวุฒิ เป็นองค์คณะนั้น เรื่องนี้มีข่าวว่านายหัสวุฒิ มั่นใจมากว่าชี้แจงได้ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้น บุตรสาวไม่ได้เป็นทนายให้กับคดีดังกล่าว
แต่ข้อเท็จจริงคือ บุตรสาวตอนนั้นเพิ่งเรียนจบกฎหมายจากต่างประเทศมา แล้วไปทำงานให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง โดยเหตุที่เข้าไปเกี่ยวข้องนั้น เป็นเพราะได้รับมอบอำนาจจากทนายความของบริษัท ที่ปรึกษากฎหมายต่างชาติให้มายื่นเอกสารบางอย่างกับศาลปกครองเท่านั้น ส่วนประเด็นอื่นๆ ก็มีข่าวว่า นายหัสวุฒิค่อนข้างมั่นใจ จะแจงได้ทุกข้อสงสัย
ชะตาชีวิตของนายหัสวุฒิ ที่ตอนนี้แม้จะอยู่ระหว่างการพักราชการ ยังถือว่าเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดตัวจริงอยู่ ว่าสุดท้ายจะได้กลับมาทำหน้าที่ประธานศาลปกครองสูงสุดต่อไปหรือไม่ และผลการสอบสวน จะออกมาอย่างไร
อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นกับ ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของศาลปกครอง ที่เพิ่งครบรอบการก่อตั้งศาลปกครองครบ 14 ปีไปเมื่อ 9 มีนาคมที่ผ่านมา พอสมควร
จุดนี้คงทำให้กรรมการ ก.ศป. คิดหนักไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม เส้นทางการกลับสู่ตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดของนายหัสวุฒิ คนในแวดวงศาลปกครองวิเคราะห์ออกมาว่า แม้สุดท้าย นายหัสวุฒิ รอดพ้นข้อกล่าวหาทั้งหมด แต่ประเมินดูแล้วคงยากแล้วที่จะกลับมาเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดได้อีกต่อไป ?
เหตุเพราะเวลานี้ เบื้องต้นคณะกรรมาธิการยกร่าง รธน. ได้วางกติกาเรื่องการดำรงตำแหน่ง ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และประธานศาลปกครองสูงสุดออกมาแล้วว่า ในรธน.ฉบับใหม่ จะให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินอายุ 65 ปี แล้วหลังอายุ 65 ปี ให้เป็นตุลาการศาลปกครองอาวุโส แบบเดียวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรม จากปัจจุบันที่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด สามารถอยู่ได้ถึง 70 ปี ขณะเดียวกัน ก็จะให้ประธานศาลปกครองสูงสุด มีวาระการดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 4 ปี ซึ่งในปัจจุบัน ที่ไม่มีเรื่องนี้กำกับไว้
ดังนั้น ถ้ากรรมาธิการยกร่าง รธน. ไม่ยอมทบทวนเรื่องนี้แล้วไม่มีการเขียนบทเฉพาะกาลใดกำกับไว้ว่า ไม่ให้ใช้บังคับกับตุลาการศาลปกครองสูงสุดในเวลานี้ นั่นย่อมหมายถึงว่า จะมีผลกระทบกับตัวนายหัสวุฒิ แน่นอน
เพราะปัจจุบันนายหัสวุฒิ อายุ 67 ปี และเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดมาตั้งแต่ปี 53 เท่ากับว่า ตอนนี้เป็นประธานศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว 5 ปี ถ้าเป็นไปตามขั้นตอนปกติ หากนายหัสวุฒิ รอดพ้นข้อกล่าวหา ก็จะเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดและประธานศาลปกครองสูงสุดได้อีก 3 ปี คือ อยู่จนถึง 70 ปี แต่หาก รธน. ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ แล้วไม่มีบทเฉพาะกาล เขียนไว้ ก็จะมีผลกระทบกับนายหัสวุฒิแน่นอน เพราะจะทำให้นายหัสวุฒิไม่สามารถเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดได้อีกต่อไป
**เมื่อเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ ก็ย่อมเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดไม่ได้เช่นกัน แต่ในส่วนที่บอกว่าห้ามเป็นประธานเกิน 4 ปี คงไม่มีผลอะไร เพราะตามหลักกฎหมายคงไม่มีผลย้อนหลัง แต่ตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด และประธานศาลปกครองสูงสุดของนายหัสวุฒิ จะสะดุดเพราะเงื่อนไขเรื่องอายุไม่เกิน 65 ปีนั่นเอง
เรื่องการให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดอยู่ได้ไม่เกิน 65 ปี พบว่า แม้ฝ่ายศาลปกครองจะไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านเรื่องนี้ เหตุเพราะคงมองว่าหากเคลื่อนไหวเรื่องนี้ อาจไม่เป็นผลดีกับศาลปกครอง เพราะจะถูกมองว่าค้านเพราะกระทบสิทธิส่วนตัว เลยค้านแต่เรื่องการไม่เห็นด้วยที่จะให้การบังคับคดีของคดีปกครองต้องโอนไปอยู่กับศาลยุติธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็คงทำให้ กมธ. ยกร่าง รธน. อาจไม่ทบทวนเรื่องให้ตุลาการศาลปกครองอยู่ไม่เกิน 65 ปี และให้ประธานศาลปกครองอยู่ในตำแหน่งได้แค่ไม่เกิน 4 ปี
หาก รธน. ฉบับใหม่ออกมาแบบนี้ ในช่วงปลายปีนี้แล้วนายหัสวุฒิ ต้องพ้นจากตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด นั่นย่อมทำให้อาจต้องมีการหาตัวประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่
ซึ่่งชื่อที่หลายคนเก็งกันไว้ ก็คือ ปิยะ ปะตังทา รองประธานศาลปกครองสูงสุด คนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุดเวลานี้นั่นเอง
ส่วนที่ใครต่อใครสงสัยกันว่า ทำไมไม่ค่อยคุ้นชื่อ ปิยะ คนนี้เลย ทั้งที่อยู่ศาลปกครองสูงสุดมาหลายปี จนเป็นรองอาวุโสอันดับหนึ่ง คำตอบก็คือนายปิยะ นั้นคือชื่อเดิมของนายเกษม คมสัตย์ธรรม รองประธานศาลปกครองสูงสุดนั่นเอง โดยเจ้าตัวเพิ่งไปเปลี่ยนชื่อ - นามสกุล มาเมื่อช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
หาก นายปิยะ ขึ้นเป็นประธานศาลปกครองสูงสุด ก็จะอยู่ในตำแหน่งได้ประมาณ 2 ปี ถ้า รธน. ใช้เกณฑ์อายุ 65 ปี ต้องพ้นตุลาการศาลปกครองสูงสุด ท่ามกลางกระแสข่าวว่านายชาญชัย แสวงศักดิ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด คนที่สองที่อายุไล่เลี่ยกัน ก็อาจได้ลุ้นเช่นกัน
อาจเพราะรู้แล้วว่า ร่างรธน.ฉบับใหม่คงออกมาแนวนี้ ผสมกับเรื่องที่โดนตั้งกรรมการสอบหลายปม เลยทำให้ มีข่าวว่า นายหัสวุฒิ เลยเปรยๆ ออกมาเมื่อเร็วนี้ “ถ้าต้องไป ผมก็ไป” นั่นเอง