xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ อ้าง รธน.90% สปช.คิด ขจัดเผด็จการรัฐสภา มีมาตรการกันรัฐไร้เสถียรภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บวรศักดิ์” รายงานพิจารณาร่าง รธน. ยันร่างนี้เป็นความเห็น สปช.90% ไร้พิมพ์เขียว ชี้เลือกตั้งแบบฝรั่งก่อเผด็จการรัฐสภา ต้องตัดอำนาจนิยม ดันพลเมืองเป็นใหญ่ ตามรอย รบ.ผสมเยอรมันหลังยุค “ฮิตเลอร์” แต่เป็นแบบไทยแท้ ชี้มีมาตราการคุ้มกันตามปรัชญา ศก.พอเพียง กัน รบ.ไร้เสถียรภาพ รับยังไม่ 100% รอรับฟังเสียง แนะปรองดองต้องทำอย่างมีระบบ อย่าหวังแต่ล้างผิด

วันนี้ (20 เม.ย.) การประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญคือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ ตามมาตรา 34 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเสร็จแล้ว

ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รายงานต่อที่ประชุมว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความคิดเห็นของ สปช.ถึง 90% แม้ถ้อยคำอาจต่างกันบ้าง แต่หลักการและสาระสำคัญยังอยู่ ส่วนถ้อยคำที่แตกต่างกันเป็นเรื่องเทคนิคทางกฎหมายเท่านั้น ยืนยันว่าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่มีการปกปิด ไม่มีพิมพ์เขียว พิมพ์ชมพู ตามที่มีการกล่าวอ้างเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 4 เจตนารมณ์ 4 ข้อ คือ 1. สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ 2. การเมืองใสสะอาดและสมดุล 3. หนุนสังคมให้เป็นธรรม 4. นำชาติสู่สันติสุข ที่ผ่านมาการเลือกตั้งทุกรูปแบบของไทยเอาแบบมาจากฝรั่งทั้งสิ้น ทั้งแบบเขตเดียวคนเดียว ระบบบัญชีรายชื่อ ที่เรานำมาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้รัฐบาล และสร้างภาวะผู้นำให้นายกรัฐมนตรี จนเกิดเผด็จการเสียงข้างมากเด็ดขาดของรัฐบาลที่สยายปีกไปแทรกแซงองค์กรตรวจสอบ ตลอดจนสื่อมวลชนอันเป็นที่มาของความขัดแย้งร้าวลึกทุกวันนี้เพราะวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ทำให้วิธีการเลือกตั้งแบบฝรั่งกลายเป็นความชอบธรรมของรัฐบาลอำนาจนิยมแบบไทย มีการใช้อำนาจเด็ดขาด เพราะมีเสียงข้างมาก เข้าทำนองอำนาจเป็นของข้าคนเดียว

“การออกแบบระบบการเมืองใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ ต้องหันมาใช้มาตรการ 2 ทาง คือ 1. ทำให้รัฐบาลไม่ใช่เสียงข้างมากเด็ดขาดเป็นเผด็จการเพราะอำนาจนิยมอีกต่อไป 2. ทำให้พลเมืองเป็นใหญ่เพื่อคานกับการเมืองภาคนักการเมือง ไม่ให้รัฐบาลได้เสียงข้างมากเกินจริงเหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมของเยอรมัน ที่เยอรมันเคยใช้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อไม่ให้เกิดเผด็จการแบบฮิตเลอร์ขึ้นมาอีก โดยให้มี ส.ส.ในระดับพอดีต่อความนิยมของประชาชน ไม่ใช่ได้เสียงมากเกินพอดี”

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า แม้ระบบนี้จะทำให้ได้รัฐบาลผสม นำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล แต่ กมธ.ยกร่างฯ มีมาตรการคุ้มกันมาลดความเสี่ยงด้วยการกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น 1. ห้ามการควบรวมพรรคการเมืองหลังเลือกตั้ง เพื่อเลี่ยงระบบนอมินี 2. ห้าม ส.ส.ลาออกไปอยู่พรรคอื่นแลกเงิน 3. ห้าม ส.ส.เป็นรัฐสนตรีในเวลาเดียวกันเพื่อลดความอหังการ์ของรัฐมนตรีไม่ให้ต่อรองกับรัฐบาล เพราะหากถูกปลดก็ไม่สามารถเป็น ส.ส.เพื่อมาสั่นคลอนรัฐบาลได้อีก 4. กำหนดให้นายกฯ ขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรได้ เพื่อส่งสัญญาณถึง ส.ส.ว่าถ้าก่อความวุ่นวายเพื่อต่อรองกับรัฐบาลก็จะยุบสภาจริงๆ ไม่ใช่แค่ขู่ 5. กำหนดให้รัฐบาลแถลงว่า ร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณานั้นเป็นการไว้วางใจรัฐบาล ถ้า ส.ส.ต้องการต่อรองและบีบรัฐบาลในการพิจารณากฎหมายสำคัญไม่ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง กฎหมายดังกล่าวก็จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภา หรือถ้ามีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจใน 48 ชั่วโมงและรัฐบาลชนะโหวต ร่างกฎหมายนั้นก็ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวการณ์ที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจะร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลอย่างที่เคยเกิดในรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อปี 2511-2514 ขณะเดียวกันก็ห้ามรัฐบาลใช้มาตรการเกิน 1 ครั้งในสมัยประชุม เพื่อไม่ให้มาตรการนี้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ไม่สุจริตและต้องการทำ ตัวเป็นเผด็จการ 6. กำหนดให้การลงมติไม่ไว้วางใจให้นับเฉพาะคะแนนไม่ไว้วางใจ ไม่ให้ประธานถามอีกว่าใครไว้วางใจ หรือใครงดออกเสียง เพื่อป้องกันพรรคร่วมรัฐบาลหักหลังกันเอง เหมือนที่ผ่านมา คือไม่ยกมือสนับสนุน

“มาตรการเหล่านี้เป็นไปตามหลักความคุ้มกันของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นมาตรการของประเทศไทยแท้ ไม่มีในเยอรมัน เพราะนักการเมืองเยอรมันไม่มีวัฒนธรรมการเมืองเหมือนนักการเมืองไทย ดังนั้นการเรียกระบบเลือกตั้งนี้ว่าระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันจึงไม่ถูกต้อง”

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังยกภาคพลเมืองให้มีความเข้มแข็งเพื่อถ่วงดุลภาคการเมืองของนักการเมืองในหลายทาง เช่น การเพิ่มสิทธิ เสรีภาพให้ประชาชน เพิ่มการมีส่วนร่วมการเป็นพลเมืองในระดับชาติ ท้องถิ่น โดยเฉพาะการมีสมัชชาพลเมืองจังหวัด สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบนักการเมือง การให้ประชาชนเป็นผู้จัดลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อแทนที่ให้พรรคการเมืองเป็นผู้จัด

“ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะเหลียวหลังไปแก้ปัญหาในอดีต แล้วจึงแลหน้าไปสร้างอนาคตให้ลูกหลาน ความขัดแย้งวุ่นวายกว่า 10 ปี จึงต้องจบลงด้วยการสร้างความปรองดองอย่างมีระบบ ไม่ใช่มุ่งแต่การนิรโทษกรรม ต้องมีการหาสาเหตุข้อเท็จจริงของความขัดแย้ง เจรจากับคู่ขัดแย้งอย่างมีระบบ หาคนผิดมาดำเนินคดีและกันผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ไม่ใช่ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและสำนึกผิดแล้วออกไป โดยการอภัยโทษ เยียวยาผู้เสียหาย เมื่อเกิดความเป็นธรรมขึ้น ความขัดแย้งก็จะยุติลง อะไรที่ดีในรัฐธรรมนูญปี 40 และ ปี 50 คณะกรรมาธิการยกร่างฯเก็บไว้หมด กล่าวได้ว่า บทบัญญัติที่ดี 70% ในรัฐธรรมนูญปี 50 ยังมีอยู่ในร่างฉบับนี้ มาตรฐานของรัฐธรรมนูญนี้ต้องไม่ต่ำกว่าปี 40และ ปี50 ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างฯต้องการให้ประชาชนเป็นใหญ่ในอนาคต ขณะเดียวกันต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แม้คณะกรรมาธิการยกร่างฯจะพยายามอย่างสุดความสามารถในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่า ร่างนี้ยังไม่สมบูรณ์ 100% ดังนั้นการรับฟังความเห็นของ สปช.และประชาชนทั่วประเทศ จึงเป็นความปรารถนาที่แท้จริงของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ หวังว่า การรับฟังความเห็น 7 วันนี้จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด”

นายปกรณ์ ปรียากรณ์ กรรมาธิการยกร่างฯ ได้ชี้แจงถึงภาคสิทธิพลเมืองที่จะเสริมสร้างให้ประชาชนเป็นใหญ่ ในหมวดที่ 2 ประชาชน ส่วนที่หนึ่งความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของพลเมืองที่กำหนดให้ประชาชนชาวไทยมีฐานะเป็นพลเมืองและมีหน้าที่ในการปกป้องรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พลเมืองมีหน้าท้าไปทำหน้าที่ในสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติโดยคุ้มครองสิทธิ์ของทารกและแม่รวมถึงประชาชนให้เข้าถึงการบริหารสาธารณสุขจากรัฐโดยทัดเทียมทั่วถึงและมีมาตรฐาน ในกรณีทีได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุขของรัฐจะได้รับการชดเชยความเสียหายนั้นด้วย รวมถึงการวางมาตรฐานด้านการศึกษาที่ให้เด็ก เยาวชน เข้าถึงอย่างเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำ และขยายการศึกษาโดยการสนับสนุนของรัฐทั้งสายสามัญและสายอาชีพ จาก 12 ปีเป็น 15 ปี พร้อมยังคุ้มครองเสรีภาพในการประกอบอาชีพของพลเมืองให้รับค่าจ้างเป็นธรรม มีสวัสดิการและหลักประกันตามที่กฎหมายกำหนด ที่สำคัญห้ามไม่ให้รัฐเนรเทศบุคคลที่มีสัญชาติไทย

ในส่วนของสิทธิชุมชนซึ่งถือเป็นรากฐานของประชาธิปไตย ให้สิทธิพลเมืองในชุมชนปกป้อง ฟื้นฟู อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาและสิ่งแวดล้อมของชุมชนทั้งยังสามารถตรวจสอบและรับทราบการดำเนินการของรัฐที่มีผลกระทบต่อพลเมืองและชุมชนนั้นด้วย
















กำลังโหลดความคิดเห็น