xs
xsm
sm
md
lg

โพลสพม.ชี้ เลือกตั้งตรง นายกฯ-ส.ว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (16เม.ย.) นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) แถลงผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยว่า สพม.โดยคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,478 คน จาก 55 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1-25 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70 เห็นชอบให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน ส่วนการดำรงตำแหน่งนั้นเสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.2 เห็นว่า นายกฯ ควรดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน และดำรงตำแหน่งไม่ได้อีก ไม่ว่ากรณีใดๆ
ส่วนกรณี ส.ว.นั้น เสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 55.2 เห็นว่า ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ส่วนการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง และยั่งยืนนั้น ร้อยละ 92.8 เห็นว่า ควรให้การศึกษากับประชาชนทั้งในโรงเรียน นอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย และร้อยละ 90 เห็นควรให้จัดตั้งสถาบันพัฒนาประชาธิปไตย ทำหน้าที่กำกับดูแลและให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน และ ร้อยละ 56.5 เห็นว่า ควรมีสภาพลเมืองที่เป็นองค์กร หรือเวทีที่เป็นทางการมีกฎหมายรองรับ และให้มีสภาพลเมืองทุกจังหวัด
นายธีรภัทร์ ยังกล่าวถึงกรณีการดำเนินการของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้ กมธ.ยกร่างฯ ไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสังคมไทย ซึ่งตนก็เคยตั้งคำถามแล้วว่า ใครจะเป็นคนที่ให้คำตอบว่า ร่างรัฐธรรมนูญเหมาะสมสอดคล้องกับสังคมไทยหรือไม่ จะเป็น กมธ.ยกร่างฯ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หรือเรียกว่าแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งรวมๆ แล้วก็มีประมาณ 500 คน แต่ตนไปถามประชาชนทั่วประเทศ เขาบอกมาอย่างนี้ ก็ควรรับฟังประชาชน อย่างเช่นเรื่องเลือกนายกฯ โดยตรง หรือ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ส่วนปัญหาที่กลัวว่าหากนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง หรือ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจะทำอย่างไร เห็นว่าควรออกแบบกฎเกณฑ์ในการควบคุม ตรวจสอบดีกว่า โดยมีผลในการบังคับใช้ชัดเจน ลงโทษแรง นักการเมืองที่เลว ต้องไม่ได้เข้ามาบริหารบ้านเมือง นักการเมืองที่ฉ้อฉล ต้องถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต ดีกว่าไปมโนเอาเองว่า ส.ว.ต้องสรรหาจากกลุ่มอาชีพต่างๆถึงจะดี
อย่างไรก็ตาม หากกมธ.ยกร่างฯไม่แน่ใจผลการสำรวจของ สพม. ก็สามารถไปทำการสอบถามประชาชนเองเลยก็ได้ ทั้งนี้ยังเห็นว่ากมธ.ยกร่างฯ ควรเน้นแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ ต้นเหตุ โดยเน้นให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อพัฒนาพลเมืองตั้งแต่ต้น สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ ทำให้ประชาชนเป็นนักประชาธิปไตย ดีกว่าจะแก้ไขปัญหาที่ปลายน้ำ โดยการตั้งองค์กรต่างๆ ขึ้นมาควบคุมตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม สพม. จะทำข้อเสนอจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไปยังแม่น้ำ 5 สาย ให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันและอาจทำให้เขารับฟัง และปรับเปลี่ยน
"การยกร่างรัฐธรรมนูญ ควรร่างตามความเห็นของประชาชน หากเอาความเห็นส่วนตัวเป็นใหญ่ ก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นที่ยอมรับของประชาชน หรือสามารถแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลหรือไม่ ไปๆ มาๆ ก็จะมีปัญหาแบบเดิม เพราะไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญจากความเห็นของประชาชน ซึ่งจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้ เพราะหากรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชน ใช้ไปก็จะมีการรัฐประหารอีก และการจะทำประชามติ หรือไม่ทำประชามติ จะไม่มีประโยชน์อะไร เพราะท่านไม่ได้ฟังเสียงประชาชนตั้งแต่ต้น ทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นฉบับกำมะลอ และสุดท้ายก็ไม่ได้ทำให้เกิดการปฏิรูปประเทศอะไรเลยจากการรัฐประหารครั้งนี้ " นายธีรภัทร์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น