xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ร้อยละ 80 หนุนทำประชามติ - แจกหนังสือ “คำอธิบาย รธน.” แสนเล่มให้คนสนใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกันแถลงถึงการจัดทำเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญ
กมธ.ยกร่างฯ ทำเอกสารเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ 1 แสนเล่ม แจกทั่วประเทศ เปิด 12 เวที 4 ภาคทำความเข้าใจประชาชน พร้อมทำแบบสอบถาม 7 หมื่นตัวอย่างให้ปชช.ให้คะแนนรธน. คาดได้ผลสรุปเดือนหน้าประกอบการแก้ไขเพิ่มเติม “ประชา” เผย 36 กมธ. ยกร่างฯ ร้อยละ 80 ต้องการทำประชามติ แต่เป็นอำนาจ คสช. ตัดสินใจ ปัดเสนอ ครม.- คสช. ชี้ไม่ใช่กลัวผลแต่ไม่ใช่หน้าที่

วันนี้ (23 เม.ย.) นางสุภัทรา นาคะผิว โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นางถวิลวดี บุรีกุล และนายประชา เตรัตน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกันแถลงถึงการจัดทำเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญ โดย นางสุภัทรา กล่าวว่า การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก แต่การจะให้มีส่วนร่วมเพื่อความสมบูรณ์รอบด้าน จึงได้จัดทำเอกสารเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 1 แสนเล่ม ซึ่งมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะนำสันติสุขมาสู่สังคมไทย ไม่สร้างปัญหาจนเกิดวิกฤตชาติอย่างแน่นอน

นางถวิลวดี กล่าวว่า จะแจกหนังสือสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปให้กับ สปช. พรุ่งนี้ ก่อนจะนำไปแจกจ่ายในเวทีรับฟังความเห็น ซึ่งจะเป็นการอธิบายอย่างง่ายให้ประชาชนเข้าใจรายละเอียดทั้งหมด รวมถึงระบบเลือกตั้งใหม่ด้วย และหลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจาก สปช. แล้ว จะมีการปรับปรุงเพื่อเผยแพร่รัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์อีกครั้ง

นอกจากนี้ จะมีการจัดสัมมนา 3 ครั้ง เพื่อรับฟังสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญและมีกรรมาธิการถามความเห็นประชาชนในแต่ละกลุ่มย่อยด้วย เพื่อให้ได้บทสรุปว่าประชาชนต้องการอะไร ส่วนการทำแบบสอบถามความคิดเห็นประชาชน ทางกรรมาธิการกำลังทำอยู่โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และคนออกแบบคือตนกับสถาบันพระปกเกล้าซึ่งได้รับการอนุมัติจาก คณะกรรมาธิการยกร่างฯ แล้ว โดยจะสุ่มตัวอย่างทั้งหมด 77,000 ตัวอย่าง จากทั่วประเทศ คาดว่า ผลสรุปจะได้ในเดือนหน้าทันเวลาที่กรรมาธิการฯจะนำมาพิจารณาประกอบการแก้ไขเพิ่มเติมแต่จะไม่มีการสอบถามว่าประชาชนต้องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ เพราะไม่จำเป็นเนื่องจากคำถามเช่นนี้เป็นเรื่องที่ทราบคำตอบอยู่แล้ว

ส่วน 12 เวทีทั่วประเทศจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงและมีแบบสอบถาม 1 หน้า และให้คะแนนร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่าคะแนนเต็มสิบให้เท่าไหร่

“เราไม่ได้ปรับรูปแบบสอบถามตามความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกแต่เป็นการสอบถามความเห็นตามเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ และยืนยันว่า กรรมาธิการไม่กลัวการทำประชามติ” นางถวิลวดี กล่าว

นายประชา กล่าวว่า จะมีการชี้แจงสาระของร่างรัฐธรรมนูญและมีแบบสอบถามว่าประชาชนอยากให้ปรับ ปรุงอะไร เนื่องจากมีเวลาแค่หนึ่งเดือนจึงเลือกภาคละ 3 จังหวัด ภาคกลาง เพชรบุรี อยุธยา ชลบุรี ภาคใต้ สงขลา นราธิวาส ภูเก็ต ภาคอีสาน นครราชสีมา อุบลราชธานี อุดรธานี ภาคเหนือ เชียงราย เพชรบูรณ์ และ นครสวรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเชิญประชาชนจากหลากหลายอาชีพเข้าสู่เวทีประมาณ 1,500 - 3,000 คน รวมรับฟังความเห็นทั้งหมด 12 เวที

ทั้งนี้ จะถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยและวิทยุชุมชน จากนั้นให้ช่อง 11 บันทึกเทปนำไปออกอากาศตามพื้นที่ต่างๆ ด้วย เพื่อให้ประชาชนรับทราบมากที่สุด ซึ่งหากรัฐบาลตัดสินใจจะทำประชามติก็จะทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้น แต่ทั้งนี้ การตัดสินใจทำประชามติหรือไม่ อยู่ที่ ครม. และ คสช. แม้กรรมาธิการ 80% อยากให้ทำประชามติ แต่ก็จะไม่มีการทำหนังสืออย่างเป็นทางการเสนอไปยัง ครม. กับ คสช. ไม่ใช่เพราะว่าเกรงใจแต่เราคนละบทบาทและหน้าที่ เนื่องจากในการประชุมแม่น้ำห้าสายแต่ละครั้งก็มีการพูดคุยอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับการที่จะต้องเสนออย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

“ผมยอมรับว่า การรับฟังความเห็นที่ทำอยู่ในขณะนี้ไม่สามารถทดแทนประชามติได้แต่ก็ได้ฟังความเห็นจากหลาก หลายอาชีพ จากทุกกลุ่ม ส่วนการทำประชามติก็คิดว่า ครม.และคสช.ก็พิจารณาเรื่องนี้อยู่ ผมและคณะกรรมาธิการยกร่างฯเป็นหลักประกันว่าการจัดทำเวทีเหล่านี้ไม่ได้ทำเพียงแค่เป็นพิธีกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้นแต่ได้นำความเห็นประชาชนมาพิจารณาด้วย” นายประชา กล่าว

มีรายงานว่า หลังการแถลงข่าวมีตัวแทนสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทยยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการยกร่างฯ โดยมีข้อเสนอให้เพิ่ม “ผู้แทนองค์กรด้านปกครองท้องที่” ไว้ในการสรรหา ส.ว. ด้วย

ตัวแทนสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทยยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการยกร่างฯ โดยมีข้อเสนอให้เพิ่ม  “ผู้แทนองค์กรด้านปกครองท้องที่” ไว้ในการสรรหา ส.ว.









“รสนา” แนะอย่านำระบบ ขรก.มาใช้ใน รธน. - “ดิเรก” เหน็บนายกฯ คนนอกเปิดช่องอำนาจพิเศษ
“รสนา” แนะอย่านำระบบ ขรก.มาใช้ใน รธน. - “ดิเรก” เหน็บนายกฯ คนนอกเปิดช่องอำนาจพิเศษ
ต่อเนื่องอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ “รสนา” ชี้ไม่ควรนำระบบข้าราชการมาปรับใช้ ตั้งกรรมการคัดสรรข้าราชการระดับสูงสุดโต่งเกินไป ส่วนที่มา ส.ว.สรรหา คัดแล้วคัดอีกก็ยังมีซื้อเสียงในองค์กรวิชาชีพ แนะต้องมีอำนาจน้อย แยกเรื่องปิโตรเลียมสิทธิประชาชน ด้าน สปช. ลำพูน กังขาใช้คำหลายอย่างในกฎหมายเดียวกันทำสับสน ทำไมรากหญ้าสัดส่วน ส.ว. น้อยกว่าทหารและอดีตสีกากี เลือก ส.ส. แนะใช้ระบบปาร์ตีลิสต์ปี 50 ด้าน “ดิเรก” เหน็บนายกฯ คนนอกขัดมาตรา 3 เปิดช่องอำนาจพิเศษกดดัน แนะแบบขอไปทีให้รัฐบาลอยู่ครบวาระ ถ้าโกงให้เปิดแผลไปเรื่อยๆ ปล่อยประชาชนพิจารณาเอง”
กำลังโหลดความคิดเห็น