xs
xsm
sm
md
lg

“จาตุรนต์” ปัดข้อเสนอฝ่ายการเมืองพร้อมให้เลื่อนเลือกตั้งออกไป แต่อ้างร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จาตุรนต์ ฉายแสง (ภาพจากแฟ้ม)
แกนนำพรรคเพื่อไทย อ้างข้อสรุปเวที ศปป. ฝ่ายการเมืองพร้อมให้เลื่อนเลือกตั้งออกไปไม่ตรงกัน แต่ซัดร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย แนะต้องแก้ไขสาระสำคัญ ควรลงประชามติ แต่มั่นใจว่าไม่ผ่าน ระบุควรเปิดเวทีแบบนี้มานานแล้ว ไม่ควรปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชน แนะถ้าจะหารือกันเรื่องปรองดอง ต้องพูดกันถึงขบวนการ และผู้ที่จะมาหารือให้ชัดเจน

วันนี้ (25 เม.ย.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีข่าวเวทีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ฝ่ายการเมืองพร้อมให้เลื่อนเลือกตั้งออกไป เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์ว่า ข้อสรุปไม่ตรงกับที่พูดกัน ความเห็นที่เห็นตรงกัน ก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าบังคับใช้ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างมาก และไม่สิ้นสุด อาจจะนำไปสู่การจบลงด้วยการรัฐประหารอีก ดังนั้น จึงเสนอว่าควรจะมีการแก้ไขในเนื้อหาสำคัญเสียก่อน แต่ถ้าจะดีควรให้มีการลงประชามติ ซึ่งต้องใช้เวลา และถ้าให้มีการลงประชามติจริง หลายคนในเวทีวันนั้นก็คาดว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะไม่ผ่าน ประชาชนจะไม่เห็นด้วย ก็จะทำให้ต้องร่างใหม่ และถ้าเป็นอย่างนี้ ผู้ที่เข้าร่วมการหารือส่วนใหญ่เห็นว่า ยังดีกว่าปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และจะสร้างปัญหาต่อไปนำมาใช้เลย

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นเป็นอันดับแรกเลย คือ ให้มีการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่ต้องการอธิบายคือ ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการแก้ไขสาระสำคัญ แต่ก็เชื่อว่าการแก้ไขสาระสำคัญคงไม่เกิดขึ้น แนวโน้มสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คงจะเห็นด้วยกับร่างนี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีการแก้ไขเนื้อหาสาระ ที่เป็นอย่างนี้ เพราะการไปผูก สปช. กับกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญไว้ว่า ถ้าร่างนี้ถูกคว่ำโดย สปช. ทั้ง 2 องค์กรก็ต้องถูกยกเลิก และเริ่มต้นกันใหม่ ทำให้ สปช. ไม่ทางคิดคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ฟังจากการอภิปรายก็จะเห็นแล้วว่า สปช. ปูทางสำหรับการผ่านร่างรัฐธรรมนูญนี้ไว้ด้วยการในลักษณะที่เออออ หรือชื่นชมกันเป็นส่วนใหญ่

เพราะฉะนั้นทางที่จะระงับยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอันตรายนี้ได้ ที่บางคนเรียกว่าเป็นระเบิดเวลา คือการให้ทำประชามติ แต่อาจมีบางคนตั้งคำถามว่าถ้าต้องทำประชามติแล้วไม่ผ่านก็จะเสียเวลาอีกนาน อันนี้ก็ต้องมาทำความเข้าใจกันว่า ถ้าจะมีการลงประชามติต้องหมายความว่า ผ่านก็ได้ ไม่ผ่านก็ได้แล้วแต่ประชาชน ถ้าไม่ผ่านก็เสียเวลาถือเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าคิดว่าทำประชามติแล้วต้องผ่านอย่างเดียวก็ไม่รู้จะลงประชามติไปทำไม

เมื่อถามว่า มองว่ามีโอกาสไปปรับแก้ในชั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ให้อำนาจไว้ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า คนแก้ไขจริงๆ สุดท้ายเป็น กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง คสช. และ ครม. เสนอความคิดเห็นได้ ถ้าจะใช้กำลังภายในจริงๆก็จะทำได้ เห็น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยุให้ คสช. และ ครม. เสนอความเห็น แต่ยังคิดว่าถึงอย่างไร กมธ. ยกร่างฯ คงไม่เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ และยังเป็นปัญหาอยู่ดี สิ่งสำคัญถ้าตัดสินใจให้ลงประชามติทุกฝ่ายก็จะปรับตัว กมธ. ยกร่างฯ ยอมแก้มากขึ้น เพราะเกรงว่าทำประชามติแล้วจะไม่ผ่าน ซึ่งการให้ลงประชามติสามารถทำได้โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 หรือจะแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร อยู่ที่ว่าเห็นความสำคัญความเห็นประชาชนหรือไม่ และจะคำนึงถึงผลเสียในการใช้รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าหากผ่านกันไปอย่างที่ทำกันอยู่ จะเดินเข้าสู่ความขัดแย้งและวิกฤตที่ใหญ่กว่าเดิม และเมื่อถึงเวลานั้น ใครคิดแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้แล้ว เพราะเขียนไว้ไม่ให้มีการแก้ไข

เมื่อถามว่า นายกฯ ต้องการให้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นลักษณะเช่นนี้ต่อเนื่องไปอีก นายจาตุรนต์ กล่าวว่าการเปิดเวทีให้ฝ่ายต่างๆ มาแสดงความเห็นเป็นประโยชน์แน่ และความจริงควรทำมานานแล้ว รวมทั้งไม่ควรปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะชน ถ้าจะให้เป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญและการปรองดอง ควรมีการทำความเข้าใจวัตถุประสงค์และองค์ประกอบให้ผู้มาหารือให้ชัดเจน เพราะที่เชิญมาเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ที่มักแสดงความคิดเห็นแตกต่างจาก คสช. รัฐบาล และ กมธ. ยกร่างฯ วัตถุประสงค์ที่เชิญมาบอกว่าอยากฟังความเห็นเรื่องปรองดอง และขอไม่ให้แสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชน ซึ่งก็ทำให้การหารือยังไม่ตรงประเด็นมากนัก แต่โชคดีมีการพูดให้เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้มีผลเสียต่อการปรองดอง ทำให้ที่ประชุมได้ข้อสรุปที่สำคัญนี้ไป ส่วนใหญ่ที่ประชุมเห็นว่า ควรให้มีการแสดงความเห็นในวงกว้างด้วย ไม่ใช่ลดการแสดงความเห็นลง

ทั้งนี้ ในส่วนของการปรองดองยังไม่ค่อยมีการพูดวิเคราะห์ต้นเหตุความขัดแย้งที่ผ่านมา รวมทั้งยังไม่ได้มีการเชิญชวนผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ ขัดแย้งและไม่ขัดแย้งก็ตามมาช่วยกันเสนอแนะ เพราะฉะนั้นถ้าจะหารือกันเรื่องปรองดอง คงจะต้องพูดกันถึงขบวนการ และผู้ที่จะมาหารือให้ชัดเจน ส่วนการจะส่งเสริมฟังความเห็นร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นประโยชน์ เพราะมีผู้ที่สนใจและสามารถให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์อีกมาก คนเหล่านี้ควรได้รับเชิญมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น