xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ชี้เลิกอัยการศึกบางคดียังขึ้นศาลทหาร - เตือนเสนอประชามติเอามันคนจะไม่ปรองดอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ชี้แม้จะยกเลิกกฎอัยการศึก ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ยังมีประกาศ คสช. อีก 3 ฉบับที่ต้องขึ้นศาลทหาร แจงถ้าเป็นสุจริตชนจริงไม่เดือดร้อนแม้แต่นิดเดียว แจงเรื่องประชามติมีข้อดีคือล้มไม่ได้ แต่เตือนคนเสนอเอามันต้องคิดให้รอบคอบ หวั่นช่วงรณรงค์จะไม่ปรองดอง

วันนี้ (30 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวถึงการยกเลิกกฎอัยการศึก และใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 แทน ว่า กฎอัยการศึกเป็นการประกาศที่อาจจะรุนแรง 2 ประการ คือ 1. รุนแรงในความรู้สึก โดยเฉพาะต่างประเทศ 2. ก่อให้ความเกิดความเสี่ยงบางอย่างในแง่สิทธิเสรีภาพ และ 3. ลำพังกฎอัยการศึกไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหากับประชาชน แต่เกิดปัญหากับทหาร

ทั้งนี้ ตามกฎหมายเมื่อยังไม่ประกาศกฎอัยการศึก ศาลทหารในเวลาปกติจะพิจารณาเฉพาะเรื่องทหาร แต่ทันทีที่ประกาศกฎอัยการศึก ศาลทหารในเวลาปกติจะแปรสภาพเป็นศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ซึ่งศาลทหารในเวลาไม่ปกติไม่มีอุทธรณ์และฎีกา แต่อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้บังเอิญกฎอัยการศึกไปประกาศพร้อมกับตอนยึดอำนาจ ซึ่งตอนนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศมาว่าพลเรือนที่กระทำความผิดตามประกาศฉบับที่ 37, 38 และ 50 ให้ขึ้นศาลทหารในเวลาไม่ปกติด้วย คนเลยกลัวตรงนี้ และจริงๆ ไม่ได้กลัวกฎอัยการศึกเพราะไม่เกี่ยวกัน แต่เป็นประกาศ คสช. เรื่องขึ้นศาลทหาร หลายคนไปนึกว่ายกเลิกกฎอัยการศึกจะได้ไม่ต้องขึ้นศาลทหาร ตอบเลยว่าไม่ใช่ เป็นคนละส่วนกัน กฎอัยการศึกเป็นฉบับหนึ่ง ประกาศ คสช. เป็นอีกฉบับหนึ่ง ดังนั้น ต้องถามสังคมว่า จริงๆ อยากให้ยกเลิกกฎอัยการศึก หรืออยากให้เลิกประกาศ คสช. ฉบับดังกล่าว

“ถ้าให้ยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก แต่ไม่ได้ยกเลิกประกาศ คสช. เลิกก็เลิกไป แต่ยังต้องขึ้นศาลทหารอยู่ นี่คือสิ่งที่ต้องเอามาคิดกันในแง่ของคนที่จะต้องทำกฎหมายว่าเลิกอันใดอันหนึ่ง หรือเลิกทั้งสองอัน ลำพังแค่เลิกกฎอัยการศึกมันไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะยังมีประกาศ คสช. ที่ให้นำคนไปขึ้นศาลทหารในเวลาไม่ปกติคาอยู่อีก 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 37, 38 และ 50 ถ้าจะพูดให้ยกเลิกประกาศ คสช. 3 ฉบับนี้ ยังจะดูเข้าท่ากว่าเลิกกฎอัยการศึกเยอะเลย เพราะกฎอัยการศึกมีผลกับทหาร ส่วนประกาศ คสช. ฉบับดังกล่าวมีผลกับพลเรือน จึงต้องดูให้รอบคอบว่าเลิกอะไร และจะเยียวยาผลกระทบอย่างไร ดังนั้น ไม่ต้องกลัวหรอกว่าใช้มาตรา 44 แล้วจะทำให้อันตรายรุนแรงหรือประหารชีวิต เขาอุตส่าห์เลิกสิ่งที่แรงลงมาสู่สิ่งที่เบาก็ยังอุตส่าห์จินตนาการจะกลับไปหาว่ามันจะแรงกว่ากฎอัยการศึก” นายวิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ร่างที่จะใช้แทนกฎอัยการศึกที่ส่งมาให้ดูจะเป็นรูปเป็นร่าง และจะประกาศใช้ได้เมื่อไร นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องถามนายกฯ แต่ในชั้นของตนคงใช้เวลาไม่นาน ถ้านานเขาจะโทษตนได้ เมื่อถามว่า ภาพที่ออกมาจะอ่อนกว่ากฎอัยการศึกใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ฟังคำพูดตนไว้ เมื่อเรารู้สึกว่ากฎอัยการศึกแรง ไม่มีใครจะหนีไปหาสิ่งที่มันแรงกว่าหรอก เมื่อถามว่า หลายฝ่ายมองมาตรา 44 เป็นมุมลบ นายวิษณุ กล่าวว่า ชอบมองกันแบบนั้นอยู่แล้วไม่ว่ากัน แต่เชื่อตนเถอะว่าสุจริตชนจะไม่ได้รับความเดือดร้อนอะไรสักนิดเดียว ส่วนที่กังวลกันว่าจะซ้ำรอยมาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้น เขาจะใช้อย่างนั้นก็ได้ แต่ครั้งนี้มันไม่ใช่เรื่องอย่างนั้น

นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระหว่างวันที่ 20 - 26 เม.ย. นี้ ว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะบอกว่าจะสามารถคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะในวันที่ สปช. จะพิจารณานั้นไม่มีการลงมติ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุให้นำร่างมาให้ทาง สปช. เสนอแนะ ส่วนกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญจะแก้ไขหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญ คือ หลังจากนั้นจะเป็นช่วงเวลาของการแปรญัติ ไม่ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สปช. จะขอแก้ไขต้องไปบอกกับทาง กมธ. ยกร่างฯ ภายใน 30 วัน จากนั้น กมธ. ยกร่างฯ จะมีเวลาทำงานอีก 60 วัน และเมื่อ กมธ. ยกร่างฯ แก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะส่งร่างรัฐธรรมนูญกลับมายัง สปช. พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ สปช. จะมีการโหวตว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น ประเด็นเรื่องจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงอยู่ในขั้นตอนนี้

“อยู่ในช่วง ก.ค. - ส.ค. แล้วจะมาพูดอะไรตอนนี้ เพราะต้องผ่านด่านที่เขาจะต้องไปแก้กันอีกหลายหน แต่หากมีการคว่ำในตอนนั้นตามกฎหมาย สปช. และ กมธ. ยกร่างฯ จะพ้นจากตำแหน่ง นอกนั้นทุกคนอยู่หมด พวกที่พ้นไปแล้วจะกลับมาใหม่ไม่ได้” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามถึงเรื่องการทำประชามติ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนพูดเสมอว่าการทำประชามติเป็นเรื่องดี แต่มีจุดอ่อนคือ ยืดระยะเวลาในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญออกไป ซึ่งอาจจะนานและใช้งบประมาณ แต่เมื่อเห็นว่าประชาชนมีส่วนร่วมสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการทำประชามติมีจุดแข็ง เช่น กรณี ส.ส. - ส.ว.จะถูกถอดถอนนั้นเพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้มีการทำประชามติเอาไว้ ใครจะมาล้มจึงไม่ได้ การทำประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ก็ดีเช่นกัน เพราะจะยิ่งทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้อีกเลย

“คนที่เสนอเอามันเข้าว่า ต้องคิดให้รอบคอบ แต่ผมมองเห็นจุดแข็งของการทำประชามติ และไม่ได้ว่าอะไร แม้จะกังวลผลของการทำประชามติ แต่ต้องชั่งน้ำหนัก ถ้าไม่กังวลจะดูพิลึกเกินไป เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รู้ทั้งรู้ว่ามีปัญหาและมีความกังวลต่อไปอีกว่าในช่วงของการรณรงค์ประชามติจะมีความเห็นแตกต่างและขัดแย้ง แต่ผมเดาไม่ถูกว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมหรือไม่ ดังนั้น ที่ว่าจะปรองดองอาจกลายเป็นความไม่ปรองดองก็ได้ เป็นจุดอ่อนอีกจุด ซึ่งอาจไม่มีอะไรก็ได้ แต่ประสบการณ์มันบอกเราว่าอาจจะมี” นายวิษณุ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น