xs
xsm
sm
md
lg

“อ๋อย” สับ “บวรศักดิ์” เขียน รธน.ทำชาติล้าหลัง 40 ปี ศก.โงหัวไม่ขึ้น หวั่น ม.44 แย่กว่าอัยการศึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (แฟ้มภาพ)
“จาตุรนต์” โวย “บวรศักดิ์” ไม่ฟังโพลคนอยากเห็นนายกฯ - ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง สับรัฐธรรมนูญใหม่อธิปไตยไม่เป็นของประชาชน จวกเพิ่มอำนาจพลเมืองแค่ข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง ให้อำนาจพวกที่ไม่ได้มาจากประชาชน ทำชาติล้าหลังไปอีก 40 ปี ไม่มีเสถียรภาพ เศรษฐกิจไม่มีวันโงหัวขึ้น สับสภาขับเคลื่อนปฏิรูปแนวคิดเผด็จการ ไม่มีความชอบธรรม ฉะหลอกลวงจะแก้ไขได้อีก แขวะเอาใจแต่ผู้มีอำนาจ บี้ทำประชามติ หวั่น ม.44 แย่กว่าอัยการศึก ทำสังคมโลกไม่ยอมรับ แนะเปิดร่างให้คนจ้อก่อนใช้

วันนี้ (29 มี.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุนักการเมืองวิจารณ์การร่างรัฐธรรมนูญ เฉพาะอำนาจนักการเมืองพรรคการเมืองเท่านั้น ว่า ความจริงคนที่วิจารณ์รัฐธรรมนูญมีหลากหลาย มีการทำโพลมาจะเห็นว่าประชาชน ผู้ที่ออกเสียงในโพลส่วนใหญ่เห็นว่านายกรัฐมนตรี และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ควรมาจากการเลือกตั้ง แต่ นายบวรศักดิ์ ไม่ยอมฟังให้ไปทำโพลใหม่ สิ่งที่นักการเมืองและพรรคการเมืองวิจารณ์อยู่นั้น ไม่ใช่เรื่องของอำนาจนักการเมืองเท่านั้น ประเด็นสำคัญร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นี้ อธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชน ไม่ได้มีอำนาจโดยเฉพาะกำหนดการปกครองและบริหารประเทศ ที่นายบวรศักดิ์ คุยนักคุยหนาจะเพิ่มอำนาจพลเมืองในรูปแบบใหม่ๆ ความจริงเป็นเพียงการทำให้ข้างนอกสุกสดใส ข้างในเป็นโพรง กำลังจะให้อำนาจที่สำคัญๆ กลับเป็นขององค์กรต่างๆ ที่ไม่ได้มาจากประชาชน ทั้งองค์กรอิสระเดิม องค์กรอิสระใหม่ๆ และ ส.ว. ลากตั้ง

นายจาตุรนต์ ​กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้จะทำให้ประเทศชาติล้าหลัง ไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการประชาชนได้ และไม่มีเสถียรภาพ ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและการแข่งขัน เรื่องที่เขียนให้คนนอกเป็นนายกฯ จริงๆ แล้ว กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญเขียน เพื่อเปิดทางให้คนนอกเป็นนายกฯได้ นายบวรศักดิ์ รู้ดีอยู่แล้วว่า จะทำให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซง จนในที่สุดคนนอกได้เป็นนายกฯ นายบวรศักดิ์ อาจจะหงุดหงิดที่มีเสียงไม่เห็นด้วยมากกว่า เพราะเห็นว่า นายบวรศักดิ์ กำลังทำให้ประเทศล้าหลังไปอีก 30 - 40 ปี เศรษฐกิจเสียหายไม่มีวันโงหัวขึ้นได้ ในขณะนี้ประชาชนเปลี่ยนไปมาก ประเทศพัฒนามากขึ้น ประชาชนเข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้น แต่นายบวรศักดิ์ กำลังสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญล้าหลัง จึงไม่แปลกเลยที่ประชาชนจำนวนมากและหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนี้

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนที่ นายบวรศักดิ์ ระบุว่า สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปไม่ได้เป็นการสืบทอดอำนาจ ทั้งที่เป็นแนวคิดแบบเผด็จการ เป็นการปฏิรูปที่ออกแบบโดยผู้ยึดอำนาจ จึงไม่มีความชอบธรรมในการปฏิรูป โดยเฉพาะกำหนดให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการต่อไป ในอนาคตหลังการเลือกตั้งเป็นอย่างไร ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ให้พวกของนายบวรศักดิ์ มาเป็นคนกำหนด เพราะเป็นแนวคิดล้าหลังและไม่เป็นประชาธิปไตย ส่วนที่บอกว่าถ้าผ่านไปไม่ดีก็แก้ ความจริงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนไว้ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียง 2 ใน 3 ของรัฐสภา โดยที่เกือบ 1 ใน 3 ของ ส.ว. มาจากการลากตั้ง หรือการที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือให้ลงประชามติ ฉะนั้น เป็นการหลอกประชาชน ทางที่ดีควรเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยก่อนบังคับใช้ มิฉะนั้น จะนำไปสู่ความล้าหลัง ขัดแย้ง วิกฤตกว่าเดิม ความจริงสถาบันพระปกเกล้ามีการศึกษาความขัดแย้ง วิกฤตประเทศไม่น้อย แต่น่าเสียดายนายบวรศักดิ์ ไม่เอาความรู้เหล่านั้นมาใช้ มุ่งเอาใจแต่ผู้มีอำนาจ และคงหวังสร้างทางให้ตัวเองในอนาคต

“ถ้านายบวรศักดิ์ จะได้ประโยชน์จากผู้มีอำนาจในขณะนี้ แต่กลายเป็นโทษ เป็นความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน นายบวรศักดิ์ เป็นคนชอบทำตามกระแส เมื่อปี 40 ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยก็ตามกระแส และได้ดีจากรัฐธรรมนูญนั้น แต่มาตอนนี้นายบวรศักดิ์ อาจหลงกระแสคิดว่าประชาชนอยากได้รัฐธรรมนูญอย่างที่กำลังร่างอยู่ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และไม่ได้ฟังความเห็นประชาชน ถ้าจะให้ดีว่าประชาชนเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นี้ สิ่งที่นายบวรศักดิ์ ควรทำคือผลักดันให้มีการทำประชามติ จะได้เป็นการพิสูจน์กันใครคือเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อยกันแน่” นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ ยังกล่าวถึงแนวคิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า เตรียมยกเลิกประกาศใช้กฎอัยการศึก มาใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ว่า การใช้มาตรา 44 ส่วนหนึ่งขึ้นกับว่าจะใช้มาสั่งว่าอย่างไร กฎหมายและคำสั่งที่ออกมามีเนื้อหาอย่างไร ถ้ามีเนื้อหาเบากว่ากฎอัยการศึกอาจเป็นเรื่องที่สามารถใช้กฎหมายอื่นได้อยู่แล้ว แต่ถ้ามีเนื้อหาเข้มข้นเหมือนกฎอัยการศึกก็จะไม่ต่างไปจากเดิมหรือแย่กว่าเดิม ที่ว่าแย่กว่าเดิมเนื่องจากตัวมาตรา 44 เป็นอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ร้ายแรงยิ่งกว่าธรรมนูญการปกครองสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะหัวหน้า คสช. และ คณะ คสช. มีอำนาจเหนือฝ่ายตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ และถ้าเนื้อหาใกล้เคียงกฎอัยการศึก จะมีผลเสีย คือ สร้างความยอมรับล้มเหลวในสังคมโลก

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้นทางที่ดีต้องมาตั้งหลักว่า สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่ในปัจจุบัน การคงกฎอัยการศึกไว้มีแต่จะมีผลเสีย แต่ขณะเดียวกัน การร่างรัฐธรรมนูญต้องการรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น การคงกฎอัยการศึกไว้อย่างเข้มงวดจะเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่เป็นผลดี ถ้าจะมีการยกเลิกกฎอัยการศึก นั้นหมายความต้องช่วยลดความเสียหายเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้แสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เปลี่ยนแค่ชื่อกฎหมายที่ใช้ แต่ถ้าเนื้อหาของกฎหมายยังเป็นอยู่อย่างเดิม ความจริงถ้าจะทำควรให้เปิดให้หลายๆ ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ก่อน ดีกว่าออกมาเลย เพราะไม่อย่างนั้นอาจเกิดปัญหาได้ว่ามีเนติบริกรช่วยทำพังอีกแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น