ประธาน กมธ. ยกร่างฯ ยืนยันร่างรัฐธรรมนูญพร้อมเผยแพร่สาธารณะแน่นอน แต่ยังไม่นิ่ง รอ 17 เม.ย. ร่างสุดท้ายส่งให้ สปช. เดิมพันถ้าโหวตคว่ำร่างก็ต้องตายไปด้วยกัน แต่ถ้าไฟเขียวก็ประกาศใช้ภายใน 4 ก.ย. พร้อมจัดทำกฎหมายลูก ไม่นับประชามติ อย่างช้าได้เลือกตี้ง มิ.ย. 2559 เปรียบเรือกำลังพายแข่งกับนักการเมือง ปูด “เพื่อไทย - ปชป.” ปรองดองกันถล่มร่าง ขอทุกฝ่ายร่วมมือให้สำเร็จ
วันนี้ (29 มี.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเปิดงานสัมมนา “สานพลังเครือข่าย ภาคประชาสังคมในการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ” ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะอนุกรรมาธิการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตอนหนึ่งว่า ทุกมาตราที่ทางคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ดำเนินการยกร่างฯ ไปนั้น ได้มีการนำความเห็นจากส่วนต่างๆ มาประกอบการพิจารณา โดยเบื้องต้นร่างแรกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้พิจารณาเสร็จแล้ว มีจำนวน 315 มาตรา แต่ยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะจะต้องมีการปรับแก้ไขอีก ดังนั้น ใครที่บอกว่ามีร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในมือขณะนี้แล้วต้องระวัง เพราะอาจเป็นร่างเทียมได้ เพราะร่างที่มีอยู่ในมือตนยังไม่นิ่งเลย เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกจะสมบูรณ์และนิ่งจริงๆ คือ วันที่ 17 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่กรรมาธิการยกร่างฯ ต้องเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้พิจารณา ถ้าหากเสนอไม่ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้กรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องถูกยุบไป
“ขอยืนยันว่า หากรัฐธรรมนูญเสร็จเราพร้อมที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะแน่นอน ไม่ได้หวง เพราะกรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช. จะทำอะไรตามใจไม่ได้ มีคนจับตามองดูอยู่เราก็ต้องทำให้ดี เพราะถ้าพลาดอาจตายหมู่ได้ ดังนั้นจึงต้องระวัง” นายบวรศักดิ์ กล่าว
นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทราบข่าวว่าเกิดปัญหาขึ้นภายในคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กรณีกำหนดให้ สปช. ที่จะยื่นคำแปรญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 1 คำขอต่อ 25 คน เนื่องจากมี สปช. บางคนมีข้อสงสัยว่า สรุปแล้ว 1 คำขอได้จำนวน 25 คน หรือ 26 คนกันแน่ ดังนั้น ทางวิป สปช. จึงมีมติให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทำหนังสือไปถามสำนักเลขาธิการกฤษฎีกา ว่า ตกลงกฎหมายกำหนดให้มีจำนวนเท่าใด ทั้งนี้ หลังจาก สปช. ได้มีการอภิปรายและเสนอความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในช่วงระหว่างวันที่ 20 - 26 เม.ย. แล้ว ทาง สปช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ยังสามารถเสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมได้อีกจนถึงวันที่ 25 พ.ค. จากนั้นช่วงระหว่างวันที่ 26 พ.ค. - 23 ก.ค. รวม 60 วัน กมธ. ยกร่างฯ ก็จะเข้าสู่กระบวนการทบทวนเนื้อหาตั้งแต่มาตรา 1 จนถึงมาตรา 315 โดยนำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากทุกฝ่ายมาประกอบการพิจารณา ซึ่งกระบวนการนี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 23 ก.ค. ก่อนที่จะส่งให้ สปช. ลงมติภายในวันที่ 6 ส.ค.
“ถ้า สปช. ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแฝดอินจัน คือ กรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช. ก็ต้องตายไปด้วยกัน ถูกจับใส่หม้อถ่วงน้ำ เสียชื่อวงศ์ตระกูล แต่ถ้า สปช. เห็นชอบ ทางประธาน สปช. ก็มีเวลาระหว่างวันที่ 7 ส.ค. ถึง 4 ก.ค. สามารถส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ ครม. ดำเนินการตามขั้นตอนและประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้ในวันที่ 4 ก.ย. จากนั้นขั้นตอนไปภายใน 60 วัน ต้องดำเนินการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว., พ.ร.ป. ว่าด้วยการพรรคการเมือง และ พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จ และอีก 90 วัน ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้ง หากกระบวนการเป็นไปตามนี้โดยไม่มีประชามติ การเลือกตั้งก็น่าจะเกิดขึ้นประมาณปลายเดือน ก.พ. หรือต้นเดือน มี.ค. 2559 แต่ถ้า คสช. และ ครม. ตัดสินใจทำประชามติ ก็บวกเวลาเพิ่มอีก 3 เดือน ดังนั้นการเลือกตั้งก็คงเป็นช่วงเดือน มิ.ย. 2559
“กรรมาธิการยกร่างฯ เปรียบเสมือนเป็นคนพายเรือ สปช. เป็นลูกเรือ เรือลำนี้กำลังแข่งกับนักการเมือง ซึ่งเตรียมทีมแจวไว้อย่างดี เป็นการปรองดองครั้งแรกระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ในการถล่มร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นความร่วมมือของ สปช. และทุกหน่วยงานมีความสำคัญมากในการช่วยกันจัดทำรัฐธรรมนูญ การทำกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น จึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายเพื่อทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเกิดความสำเร็จ” นายบวรศักดิ์ กล่าว