xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปฏิรูปปราบโกงเล็งร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง “สังศิต” แนะประชาชนร่วมกลุ่มฟ้องทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สังศิต พิริยะรังสรรค์ (ภาพจากแฟ้ม)
กมธ.ปฏิรูปปรามทุจริตฯ แจง สนช. จ่อยกร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ดึงประชาชนมีส่วนร่วม - ผูกพันทั้งรัฐ - ท้องถิ่น - รัฐวิสาหกิจ ชี้ ผู้นำประเทศไม่จริงใจแก้คอร์รัปชัน ด้าน “สังศิต” เสนอประชาชนรวมกลุ่มฟ้องคดีทุจริต เพื่อปกป้องผลประโยชน์ประเทศ

วันนี้ (23 มี.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เป็นประธานการประชุม มีวาระที่น่าสนใจ คือ รายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ ในหัวข้อ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและ ประพฤติมิชอบ โดย นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธาน กมธ. ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รายงานว่า การแก้ไขปัญหาทุจริตเราต้องมีผู้นำที่มีความเด็ดดี่ยว แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือเราไม่เคยมีผู้นำที่จริงใจจริงจังในการแก้ไขปัญหา ฉะนั้น ในรัฐบาลนี้ประกาศชัดเจนว่าการปราบปรามการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ ตนจึงคิดว่าสิ่งนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน หากมีการปฏิรูปความเป็นอยู่และการเข้ารับบริการหน่วยงานรัฐของประชาชนจะมีประสิทธิภาพประสิทธิผล ที่สำคัญ ถ้าปฏิรูปในวงการใหญ่ๆ ได้ งบประมาณที่ใช้พัฒนาประเทศเป็นแสนล้านบาทที่สูญเสียไปจะได้กลับคืนมา

นายประมนต์ กล่าวว่า กรอบระยะเวลาดำเนินการ 3 ระยะ แบ่งเป็น 1. ระยะสั้น (3 - 6 เดือน) โดยใช้อำนาจการบริหารทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 2. ระยะปานกลาง (1 ปี) ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลยังมีอายุอยู่ และ 3. ระยะยาว เป็นเรื่องที่ต้องฝากไว้กับผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ กมธ. ปฏิรูปป้องกันและปราบปรามการทุจริตทำแล้วสำเร็จพอสมควร คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ 3 โครงการนำร่อง คือ 1. โครงการขยายสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ เฟส 2 2. โครงการจัดซื้อจัดจ้างรถเมล์เอ็นจีวี และ 3. โครงการขยายรฟม. สายสีม่วง ทั้งนี้ กมธ. เสนอว่าในการก่อสร้างใหญ่ๆของภาครัฐ ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมโดยจะต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการนั้นๆ โดยเข้าไปดูตั้งแต่กระบวนการเขียนทีโออาร์ ราคากลาง ผู้ประมูล และการตรวจรับ

“ส่วนในระยะปานกลาง มี 2 เรื่อง คือ ผลักดันร่าง พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ซึ่งขณะนี้ สนช. ได้ผ่านกฎหมายฉบับนี้แล้ว ผลจากกฎหมายนี้จะทำให้ในอนาคตหน่วยงานราชการที่ให้บริการประชาชน จะต้องมีประกาศชัดเจนถึงขั้นตอนการให้บริการเป็นอย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่ ใช้เอกสารอะไรบ้าง กฎหมายดังกล่าวจะช่วยทำให้ลดดุลยพินิจช่วยเหลือประชาชนน้อยลง และการใช้บริการภาครัฐจะดีขึ้น” นายประมนต์ กล่าว และว่า ขณะนี้ กมธ. กำลังคิดว่าจะยกร่าง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งบังคับใช้กับทุกหน่วยงาน ครอบคุลมถึงท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจด้วย โดย กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้คิดว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเงิน

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กล่าวว่า ตนคิดว่าบทบาทของภาคประชาสังคมควรเป็นภาคที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่ทำให้ภาคดังกล่าวมีอำนาจในการทำงานมากขึ้น หรือไม่ทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของภาครัฐมากขึ้น ก็เป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะเอาชนะการคอร์รัปชันในประเทศไทย ตนคิดว่าผู้ที่กำลังเตรียมทำร่างรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่ง ยังมองปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยความคิดแบบเดิม ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหา ซึ่งตนคิดว่าสังคมไทยต้องกล้าหาญที่กล้าเอาความคิดใหม่ๆ เข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์

นายสังศิต กล่าวต่อว่า ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้คนมีความกล้าหาญจะส่งเสียงร้องแจ้งเตือนการทุจริตขึ้นมาให้ได้ และเมื่อเขาส่งเสียงแล้วกฎหมายจะเข้าไปให้ความคุ้มครองคนเหล่านี้ในฐานะพยานได้อย่างไร ต่อมาส่งเสริมให้ภาคประชาชนรวมตัวเป็นกลุ่มที่คอยจะจับตาเฝ้ามองการทุจริตด้วยความเอาใจใส่จริงๆ อีกทั้งในส่วนที่ตนเห็นว่าสำคัญที่ท้าทายกับสังคมไทยมากในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ยอมรับข้อนี้ ตนมีความเห็นว่าจะแก้ปัญหาทุจริตไม่ได้ คือ ต้องให้ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมมีสิทธิ์ในการฟ้องคดีทุจริตแบบกลุ่มในคดีที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หรือทรัพย์สินสาธารณะ ซึ่งถ้าไม่ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญ การแก้ทุจริตจะฟาล์วได้ ซึ่งตนทราบว่าคณะ กมธ. ยกร่างฯ ไม่ยอมรับในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น

การบัญญัติให้ภาคประชาสังคม หรือภาคประชาชนรวมตัวกันเป็นองค์กรนิติบุคคลฟ้องในนามประชาชนเพื่อฟ้องต่อศาลในคดีทุจริตได้ ตนคิดว่า หากหวังแต่การทำงานของภาครัฐ ป.ป.ช. สตง. เพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ดังนั้น ควรให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศได้


กำลังโหลดความคิดเห็น