xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ พร้อมฟังความเห็นแก้ร่างรัฐธรรมนูญ “อลงกรณ์” เผย 3 รูปแบบประชามติ ขึ้นอยู่กับ คสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ภาพจากแฟ้ม)
กมธ. ยกร่างฯ เผยพร้อมปรับร่างรัฐธรรมนูญตามที่ สปช. ขอแก้ไข เชื่อพูดคุยกันได้ “ไพบูลย์” ยันพร้อมรับฟังเหตุผล เชื่อผ่านแน่นอน อีกด้านเตรียมเสนอเพิ่มบทเฉพาะกาล ให้ทำประชามติหลังประกาศใช้ไปแล้ว 90 วัน “อลงกรณ์” แจงประชามติมี 3 รูปแบบอยู่ที่ คสช. ทำหรือไม่ แนะให้ประชาชนเลือกทั้งฉบับ ควรตัดสิทธิ์ สปช. ให้ความเห็น

วันนี้ (5 พ.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเสนอญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า กมธ. ยกร่างฯ พร้อมที่จะดูญัตติขอแก้ไข ช่วงนี้ที่มีคนพูดถึงข้อเสนอต่างๆ จำนวนมากไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร กมธ. ยกร่างฯ จะพิจารณาถึงเหตุและผลที่เหมาะสมที่สุดว่าจะแก้ไขตามญัตติที่เสนอมาหรือไม่ เชื่อว่าสามารถพูดคุยกันได้ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม กมธ. ยกร่างฯ ว่าจะไปในทิศทางไหน

ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ต้องรอดูว่า สปช. จะเสนอญัตติแก้ไขอะไรมาบ้าง กมธ. ยกร่างฯ พร้อมฟังเหตุผล เราเปิดกว้างในเรื่องนี้อยู่แล้ว และคงจะมีการปรับแก้ในหลายมาตราให้เกิดความเหมาะสมที่สุด เชื่อว่า สปช. ส่วนใหญ่จะเข้าใจ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านแน่นอน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนตัวจะเสนอต่อที่ประชุม กมธ. ยกร่างฯ เกี่ยวกับการทำประชามติ ว่า ควรกำหนดไว้ในส่วนของบทเฉพาะกาล มาตรา 308 ให้มีการทำประชามติหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ไปแล้วภายใน 90 วัน และอาจทำเป็นรายมาตราในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะที่มา ส.ส. ส.ว. รวมทั้งให้ประชาชนกำหนดด้วยว่าจะให้ปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนหรือจะเลือกตั้งก่อน ที่เสนอเช่นนี้เพราะไม่อยากให้รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องลำบากใจในการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ควรทำตามโรดแมปเดิมให้เสร็จเรียบร้อยก่อนแล้วค่อยทำประชามติ หากทำแบบนี้บ้านเมืองจะเดินหน้าต่อไปได้ไม่หยุดชะงัก และประชาชนเองก็จะได้รู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศด้วย

ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช. ในฐานะคณะผู้ประสานงานในการประมวลคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจากสมาชิก สปช. กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (6 พ.ค.) ภายหลังที่คณะผู้ประสานงานฯ ได้รับแบบสอบถามจากสมาชิก สปช. ว่าจะขอยื่นแปรญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นใดภายในเวลา 14.00 น. แล้ว คณะผู้ประสานงานฯ ก็จะรวบรวมคำขอดังกล่าวมาประมวลจัดหมวดหมู่เพื่อดูว่ามีคำขอใดที่มีความเห็นสอดคล้องกัน ซึ่งคาดว่าในการจัดหมวดหมู่น่าจะต้องให้เวลาพอสมควร เนื่องจากการยื่นแปรญัตติเป็นสิทธิ์ของสมาชิกรายบุคคล ไม่ได้ยื่นในรูปแบบคณะกรรมาธิการ แม้อาจมีบางคณะที่มีความเห็นสอดคล้องกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้สิทธิ์เป็นรายบุคคลมากกว่า อีกทั้งเมื่อส่งคำขอแปรญัตติไปยัง กมธ. ยกร่างฯ แล้ว ทาง กมธ. ยกร่างฯ ได้ตกลงกับวิป สปช. แล้วว่าในวันที่ 1 - 6 มิ.ย. กมธ. ยกร่างฯ จะเชิญสมาชิก สปช. ที่ยื่นแปรญัตติไปชี้แจงเหตุผล

นายอลงกรณ์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอในการทำประชามติแบบรายประเด็น ว่า ถือว่าเป็นข้อเสนอที่ดีและเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะขณะนี้รูปแบบการทำประชามติมีอยู่ 3 วิธีการ คือ 1. การทำประชามติโดยให้ประชาชนให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้ทั้งฉบับ 2. การทำประชามติเฉพาะมาตรา โดยยกเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหา และ 3. การทำประชามติที่นำเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับเก่าอย่างปี 2540 และ 2550 ดังนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะให้มีการทำประชามติหรือไม่ ถ้าหากให้มีจะเลือกใช้วิธีใด ซึ่งน่าจะอยู่ในกรอบ 3 วิธีดังกล่าวนี้

“ผมมีข้อสังเกตว่า หากให้มีการทำประชามติโดยใช้วิธีที่ 1 คือ ให้ประชาชนเลือกจะรับหรือไม่ทั้งฉบับนั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ สปช. ให้ความเห็นชอบหรือไม่ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ เนื่องจากอาจเกิดความซ้ำซ้อนกัน เพราะถึงอย่างไร การให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยทางตรงอยู่แล้ว หากเลือกวิธีนี้ ตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ควรเขียนแก้ไขเสียทีเดียวคือไม่ต้องมอบอำนาจส่วนนี้ให้ สปช. อีก ยกเว้นแต่จะใช้วิธีที่ 2 หากจะทำประชามติแบบรายประเด็น ก็ควรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้ สปช. ให้ความเห็นชอบหรือไม่ก่อน และหากเห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่าน ก็นำเฉพาะประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงไปทำประชามติต่อไป” นายอลงกรณ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น