xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ซ้อม กมธ.ยกร่างฯ เน้นอภิปราย “ไมตรีวิวาทะ” - จ่อเคลียร์ประเด็นที่มา ส.ส.-ส.ว. แก้ได้จริงหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. (ภาพจากแฟ้ม)
สปช. หารือซักซ้อม กมธ. ยกร่างฯ ก่อนอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ “เทียนฉาย” กำหนดนโยบายขอให้เป็นสภาเชิงเหตุผลและวิชาการ แบบ “ไมตรีวิวาทะ” เผยหลังอภิปรายจับกลุ่มยื่นญัตติได้กลุ่มละ 26 คนได้ไม่เกิน 8 ญัตติ สมาชิกรุมซักที่มา ส.ส.- ส.ว. แก้ปัญหาการเมืองได้จริงหรือไม่

วันนี้ (9 เม.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวันชัย สอนสิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงผลการหารือระหว่างกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กับ สปช. ว่า เป็นการดำเนินการเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในประเด็นหลักๆ ของรัฐธรรมนูญ ระหว่างกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กับ สปช. ในระหว่างวันที่ 20 - 26 เม.ย. ตามดำริของประธาน สปช. ทั้งนี้ เพื่อให้การอภิปรายในวันจริงเป็นไปด้วยความราบรื่น ให้ข้อมูลตามหลักวิชาการ ไม่ใช่การเอาชนะคะคานกัน นอกจากนี้ ยังมีการปรับเกลี่ยเวลารอภิปราย ตลอดจนกำหนดข้อตกลงการยื่นญัตติขอแก้ไขภายหลังการอภิปราย ซึ่งจะมีได้ไม่เกิน 8 ญัตติ แต่เปิดกว้างให้แต่ละญัตติมีได้หลายมาตรา

นายวันชัย กล่าวว่า ที่ประชุมระหว่าง สปช. กับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาในสามประเด็น ประเด็นแรก ด้านเนื้อหา โดย สปช. ได้ซักถามในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เคยรายงานต่อที่ประชุม สปช. ก่อนหน้านี้ แต่ไม่ได้เปิดให้ซักถามทำความเข้าใจ บัดนี้กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแจ้งว่า การยกร่างใกล้เรียบร้อย และจะส่งประธาน 17 เม.ย. นี้ จึงได้มาตอบคำถามสมาชิกให้หายข้องใจแต่ละประเด็นเบื้องต้นก่อน ประเด็นถัดมา วิธีการอภิปรายระหว่าง 20 - 26 เม.ย. นั้น จะมีการกำหนดเวลาการอภิปรายใหม่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากเดินที่ตกลงเบื้องต้นให้กรรมาธิการ 18 คณะอภิปรายคณะละ 2 ชั่วโมง และสมาชิก สปช. ไม่เกินคนละ 12 - 15 นาที แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือต้องแจ้งประเด็นการอภิปราย เพื่อจัดหมวดหมู่ลำดับเรื่องตามภาคและหมวดไม่ให้ประชาชนผู้รับฟังเกิดความสับสน ซึ่งเชื่อกันว่าส่วนใหญ่จะอภิปรายในภาคผู้นำการเมืองระบบการเมืองที่ดี

ประเด็นที่สาม การแปรญัตติภายใน 30 วันหลังการอภิปรายนั้น วันนี้จะได้ตกลงกันเพราะเงื่อนไขที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ทำให้สามารถรวมกลุ่มยื่นญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้กลุ่มละ 26 คน จึงเป็นที่แน่นอนแล้วจะยื่นได้ไม่เกิน 8 ญัตติเท่านั้น จึงต้องไปหารือกันใน สปช. ว่าจะมีใครอยู่กลุ่มไหนยังไง และขอแก้ไขประเด็นอะไร

“เราตกลงกันแล้วว่าในแต่ละญัตตินั้นสามารถเปิดกว้าง ให้ขอแก้ไขได้หลายประเด็น หลายมาตรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีหาก กมธ. ยกร่าง ฯ พบว่าประเด็นไหนที่มีหลายญัตติเห็นตรงกัน ก็จะเห็นน้ำหนักที่อาจจะต้องนำไปปรับแก้” โฆษกวิป สปช. กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงร่างกันว่า การทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง จะมีการยกร่างร่วมกันระหว่างกรรมาธิการยกร่างฯ กับ สปช. แทนที่จะเป็นการยกร่างโดย กมธ. ยกร่างฯ ฝ่ายเดียว รวมทั้งหลังจากพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะร่วมมือกันในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนและการรับฟังความคิดเห็น เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

นายวันชัย กล่าวอีกว่า ทั้งหมดนี้นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ต้องการให้การทำงานของ สปช. เป็นอันหนึ่งอันเดียว ราบรื่น เรียบร้อย วันอภิปรายจริงจะได้เป็นไปด้วยเหตุผล ด้วยเนื้อหาสาระ เป็นไปแบบ “ไมตรีวิวาทะ” ไม่ใช่การเอาชนะกัน เสียดสีหันทางการเมือง ให้สภานี้เป็นสภาแห่งเนื้อหาและวิชาการ เพื่อให้รัฐธรรมนูญออกมาดีที่สุด ไม่ต้องเสียเวลาโต้เถียงเรื่องกติกาการอภิปราย และนายเทียนฉาย ยังได้กล่าวเปิดการประชุมช่วงหนึ่งว่า อยากให้การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นความรับผิดชอบของ สปช. โดยตรง รัฐธรรมนูญจะออกมาดีหรือไม่อยู่ที่พวกเรา ขอให้ทำหน้าที่ด้วยมั่นคง เข้มแข็ง ยืนยันว่า ไม่มีโผ ไม่มีการล๊อบบี้ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน และอยากให้ฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย จึงขอให้ช่วยกันพิจารณาด้วยความรอบคอบเต็มกำลังด้วยความรู้ความสามารถจริงๆ ยืนยันว่าไม่มีใครมาสั่งการกำหนดการร่าง รธน. ครั้งนี้โดยเด็ดขาด

นายวันชัย กล่าวอีกว่า จากนั้นที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำความเข้าใจ โดย สปช. ส่วนใหญ่ซักถามภาคที่สอง ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง โดยเฉพาะที่มา ส.ส. ส.ว. ระบบการเลือกตั้งแบบ MMP มากที่สุด และซักถามแสดงความคิดเห็นว่าวิธีการที่ กมธ. ยกร่างฯ เสนอมาแก้ปัญหาการเมืองได้จริงหรือไม่ ระบบการเลือกตั้งป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงได้จริงมากน้อยแค่ไหน และทำให้รัฐบาลมั่นคง เข้มแข็งหรือไม่ การใช้อำนาจและตรวจสอบอำนาจรัฐเป็นอย่างไร ถัดมามีการซักถามเกี่ยวกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ว่าเพียงสักแต่ให้มีไว้ หรือทำงานปฏิรูปต่อเนื่องได้จริงหรือไม่ และความสนใจในลำดับต่อมาเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม และการปรองดอง


กำลังโหลดความคิดเห็น