กมธ.ปฏิรูปการเมืองถกร่าง รธน.ร่วมกับ กมธ.ทั้ง 18 คณะ 26-27 มี.ค. เล็งถกหนักใน 3 เรื่องใหญ่ควรแก้ไขหรือไม่ ทั้งที่มา ส.ส. และนายกรัฐมนตรี รวมถึงองค์กรอิสระ ขู่แม้ รธน.ชั่วคราวให้อำนาจ กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขหรือไม่แก้ไข ตามที่ สปช.แปรญัตติก็ได้ แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยร่าง รธน.ก็จะตกไป แต่เชื่อประนีประนอมได้ “บุญเลิศ” อ้างระบบเยอรมันนับคะแนนเข้าใจยาก แม้แต่คนเยอรมันยังมึน หวั่นไม่เหมาะสมสังคมไทย
นายวันชัย สอนศิริ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช และ นายทรงชัย พงษ์สวัสดิ์ ทีมโฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการประชุมเกี่ยวกับแนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติในวันที่ 17 เม.ย.นี้ หลังจากได้รับมอบหมายจาก นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ให้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาให้ครบถ้วนรอบด้าน เป็นเจ้าภาพประชุมร่วมกับกรรมาธิการทั้ง 18 คณะในวันที่ 26-27 มีนาคมโดยจะประชุมที่โรงแรมลองบีชการ์เด้น พัทยา
นายวันชัยกล่าวถึงประเด็นที่จะมีการพิจารณาว่า มี 3 เรื่องใหญ่ คือ 1. ระบบรัฐสภา ที่มาของ ส.ส. โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้มาจากสัดส่วนผสมว่ามีความเห็นอย่างไร รวมถึงกรณีวุฒิสภาด้วย ซึ่งต้องพิจารณาว่าเห็นด้วยกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่เห็นด้วยจะแก้ไขอย่างไร
2. ที่มาของนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.หรือไม่ ความสัมพันธ์ระหว่าง ครม. , ขรก.และประชาชนควรเป็นอย่างไร เพราะเป็นการถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และข้าราชการ อีกทั้งการใช้อำนาจของคนเหล่านี้จะมีสิทธิหรือมีอำนาจในการถ่วงดุลตรวจสอบทั้งรัฐสภาและนายกรัฐมนตรีให้การเมืองมั่นคง โปร่งใสอย่างไร โดยจะพิจารณาจากร่างรัฐธรรมนูญว่าแก้ปัญหาให้ประเทศชาติได้จริงหรือไม่ ตรงกับทีรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 กำหนดไว้หรือไม่
3. ประเด็นการสรรหาและวาระการดำรงตำแหน่ง การถูกตรวจสอบ การประเมินผล องค์กรอิสระ จะพิจารณาอย่างรอบด้าน และรูปแบบพรรคการเมือง การเลือกตั้งจะจัดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือให้มีคณะดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ซึ่ง กกต. จะขอเข้าฟังการพิจารณาด้วย เพื่อแก้ไขการเลือกตั้งให้ได้คนดี แก้เรื่องทุจริตซื้อเสียง รวมทั้งบทเฉพาะกาล ซึ่งจะพิจารณาอย่างรอบคอบรอบด้านในวันที่ 26-27 มีนาคมนี้จะได้บทสรุปทั้งหมดรวมถึงประเด็นที่ว่าจำเป็นต้องมีการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญนี้ด้วยหรือไม่
นายวันชัยกล่าวว่า แม้ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 จะให้สิทธิคณะกรรมาธิการยกร่างฯตัดสินใจว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงตามที่มีการแปรญัตติหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นอำนาจเด็ดขาดเพราะต้องมีการรับฟังเหตุผลจากที่ประชุม สปช.ซึ่งเป็นผู้ลงมติด้วย ดังนั้นทางกรรมาธิการฯจึงต้องวางแผนเตรียมการมียุทธศาสตร์ในการทำงาน เพื่อโน้มน้าวให้ที่ประชุม สปช. และกรรมาธิการยกร่างฯเห็นด้วยและรับไปพิจารณาเพื่อปรับปรุง แต่ถ้ากรรมาธิการยกร่างฯยังยืนยันร่างเดิมถ้าเสียงส่วนใหญ่ของ สปช.เห็นด้วยก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่ของ สปช.ไม่เห็นด้วยก็อาจทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านการพิจารณาของ สปช.ได้ เพราะการแปรญัตติครั้งนี้เป็นการแปรญัตติแบบหวังผล แต่ไม่ใช่เรื่องการเอาแพ้เอาชนะ เชื่อว่าสามารถประนีประนอมเพื่อประโยชน์ประเทศชาติได้
ส่วนกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านมติ สปช.จะต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่จะเกิดปัญหาต่อประเทศหรือไม่นั้น นายวันชัยกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 และคงบอกไม่ได้ว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ เพราะยังไม่เกิดขึ้น
ด้านบุญเลิศ คชายุทธเดช กล่าวว่า นายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯได้รายงานผลศึกษาการเลือกตั้งประเทศเยอรมันว่า ระบบแบบสัดส่วนผสม แม้จะมีส่วนดีที่กำหนดหลักการ เติมเต็มที่จะเปิดโอกาสให้พรรคเล็กมีโอกาสเป็น ส.ส.และไม่ทำให้คะแนนเสียงของประชาชนสูญเปล่า อย่างไรก็ดีระบบดังกล่าวมีความเหมาะสมกับคนเยอรมันที่มีพัฒนาการการเมืองการเลือกตั้งแล้ว แต่มีจุดอ่อนที่การคำนวณคะแนนเสียงของประชาชนเป็นเรื่องที่เข้าใจยากแม้แต่คนเยอรมันเอง ดังนั้นระบบที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ออกแบบมาจะเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่
นอกจากนี้กรรมาธิการฯตั้งคณะทำงานหนึ่งชุด ประมวลประเด็นจากร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการพิจารณาที่พัทยา รวมถึงร่างรัฐธรรมนูญ 315 มาตราเกี่ยวข้องการเมืองเกือบ 100 มาตรา นายสมบัติเห็นว่า กรรมาธิการฯต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด จึงต้องศึกษาทำการบ้านและวางแผนให้รอบคอบว่าจะกำหนดให้ใครอภิปราย และอภิปรายในประเด็นใด จะประสานงานกันอย่างไร โดยหวังว่าเสียงสะท้อนจากกรรมาธิการฯ และประชาชนจะส่งผ่านไปยังกรรมาธิการยกร่างฯได้อย่างครบถ้วน