ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ส่อเค้าออกมาอีกแล้วว่าการเมืองไทยหลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่และมีการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2559 ก็คงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเท่าใดนัก ซ้ำจะมีปัญหาเก่าๆ วนเวียนกลับมาอีก
หากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นไปตามที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ในวันดังกล่าว ได้พิจารณารายมาตราว่าด้วยที่มา ส.ส.และรัฐสภา โดยมีบทบัญญัติที่เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วยการกำหนดให้การสิ้นสุดของสภาผู้แทนราษฎร นอกจากครบวาระ หรือนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาแล้ว ในกรณีที่มีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ หากผลการลงมติฝ่ายค้านชนะ ต้องยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่
กรรมาธิการยกร่างฯ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากประเมินแล้วว่าโครงสร้างวิธีการเลือกตั้งที่ออกแบบมาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีแนวโน้มจะทำให้เกิดรัฐบาลผสมสูง ดังนั้นเพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอจนเกินไป จนกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลโดยไม่จำเป็น จึงกำหนดว่าหากฝ่ายค้านชนะโหวตการลงมติไม่ไว้วางใจทั้งคณะ จะมีผลให้ต้องยุบสภาตามไปด้วย
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้กำหนดว่าหากฝ่ายค้านจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็ให้เสนอชื่อผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีแนบไปกับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย และหากฝ่ายค้านชนะการลงมติ ก็ให้ผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่ผลจากที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้ฝ่ายรัฐบาลเข้มแข็งจนการอภิปรายไม่ไว้วางใจแทบไม่เกิดผล จึงไม่มีปัญหาต่อเสถียรภาพรัฐบาล ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้คาดหมายกันว่าจะทำให้ได้รัฐบาลเป็นแบบรัฐบาลผสมมาจากหลายพรรคการเมือง จึงต้องหาวิธีป้องกันฝ่ายบริหารไม่ถูกสั่นคลอนเสถียรภาพง่ายจนเกินไป
กรรมาธิการยกร่างฯ ให้เหตุผลอีกว่า การกำหนดให้มีการยุบสภาหากฝ่ายค้านชนะการลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จะทำให้ฝ่ายค้านเลือกตัดสินใจอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นที่มีน้ำหนัก และมีความสำคัญจริงๆ
นอกจากนี้ หากมีประเด็นการทุจริตประพฤติมิชอบในรัฐบาล รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็มีช่องทางอื่นให้เลือก เช่น การยื่นญัตติถอดถอนนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลแทน นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการอื่นที่ป้องกันพรรคร่วมรัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการแยกตัวเพื่อต่อรองผลประโยชน์จากพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่จะสั่นสะเทือนเสถียรภาพรัฐบาล ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ คราวต่อไป
ส่วนมาตราที่ว่าด้วยคุณสมบัติข้อห้ามของผู้ลงสมัครเป็น ส.ส.ซึ่งเป็นที่จับตาของสังคมนั้น นอกจากคุณสมบัติข้อห้ามเดิมที่กำหนดว่าผู้ที่เคยถูกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติแล้ว ยังเพิ่มเติมผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม โดยรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ยึดโยงคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นคุณสมบัติของผู้เป็นรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีด้วย แต่โครงสร้างส่วนนี้ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องรอดูต่อไปเมื่อไปถึงหมวดคณะรัฐมนตรี
ส่วนจะมีผลไปถึงกลุ่มคนที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมืองอันเนื่องมาจากคดียุบพรรค ทั้งกรณีการยุบพรรคไทยรักไทยในปี 2550 จำนวน 111 คน และการยุบพรรคพลังประชาชน ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตยในปี 2551 จำนวน 109 คนหรือไม่นั้น บทบัญญัติได้ระบุว่าต้องเป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาทุจริตการเลือกตั้ง หมายถึงผู้ถูกใบแดงเท่านั้น ส่วนผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเพราะเป็นกรรมการบริหารพรรคนั้นน่าจะไม่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือ การกำหนดให้ต้องยุบสภาหากพรรคฝ่ายค้านชนะการลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นการทำลายการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติอันเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นอีกคนที่คัดค้านหลักการดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยบอกว่า เป็นแนวคิดของบางคนที่ต้องการให้อำนาจฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลมีความเข้มแข็ง ซึ่งเคยถูกคัดค้านว่าเป็นระบอบกึ่งประธานาธิบดี จนแนวคิดนี้ก็ตกไป แต่ก็ยังมีการสอดแทรกการสร้างรัฐบาลที่คงความเข้มแข็งเข้ามาอีก จึงเป็นเรื่องประหลาดกับความคิดที่สวนทางความเป็นจริง เพราะในการออกกฎหมายสำคัญของรัฐบาล เช่น กฎหมายการเงินหรือร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หากฝ่ายค้านอภิปรายและโหวตคว่ำร่างฯ ได้ รัฐบาลต้องลาออกและเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านเข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลแทน ตามหลักคิดของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเดิมที่ใช้กันมา
นายนิพิฏฐ์บอก อีกว่า ต่อไปหากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ฝ่ายค้านก็จะไม่กล้าที่จะโหวตล้มรัฐบาล เพราะรู้ว่าหากรัฐบาลแพ้โหวตก็ต้องมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ และอาจจะเป็นการเปิดช่องทางให้รัฐบาลลักไก่ออกกฎหมายสำคัญ เช่น หากพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งจนได้เป็นรัฐบาลแล้ว พยายามออกกฎหมายโดยอ้างว่าเป็นกฎหมายสำคัญแนบท้ายนโยบายของรัฐบาล ฝ่ายค้านก็ทำได้เพียงการอภิปรายฯ เท่านั้น แต่ไม่กล้าโหวตคว่ำร่างกฎหมายรัฐ เพราะรู้ว่าต้องไปเลือกตั้งใหม่อีก แนวคิดเช่นนี้เป็นการทำลายหลักการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจ จึงเป็นหลักคิดที่พิกลพิการในรัฐธรรมนูญ
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกคน กล่าวว่า หากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจและสมาชิกโหวตคว่ำแล้วต้องยุบสภา จะทำให้แม้แต่ฝ่ายค้านเองแทบไม่อยากจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเลย เพราะกลัวว่าจะถูกยุบสภาไปด้วย ทั้งที่ควรจะกำหนดให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งก็พอแล้ว ไม่ควรมีการยุบทั้งสภา เพราะยุบสภาไปฝ่ายบริหารหน้าเดิมๆ ก็อาจจะกลับเข้ามาใหม่ได้โดยผ่านการเลือกตั้ง
ส่วนการที่อ้างว่ายังมีช่องทางอื่นในการตรวจสอบรัฐบาลอีกเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)นั้น เท่ากับว่าต้องการลดบทบาทอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลในสภาหรือไม่ ทั้งที่การตรวจสอบโดยระบบสภาคือความโปร่งใสที่ประชาชนทั้งประเทศจะสามารถรับรู้ได้
การยกเอาการยุบสภามาขู่เพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจบ่อยเกินไปเพราะเกรงว่าจะกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาลนั้น สะท้อนว่า หลักคิดของเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยังให้ความสำคัญกับเสถียภาพของรัฐบาล มากกว่าการเปิดให้มีการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสในการบริหารงานของรัฐบาล
การให้ความสำคัญกับเถียรภาพของรัฐบาลมากเกินไป เคยสร้างปัญหามาแล้วจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่กำหนดให้การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีทำได้ยากมาก ซึ่งก็มีความพยายามแก้ไขในรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยการกำหนดให้ฝ่ายค้านใช้เสียง 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส.ในสภา ก็ขอเปิดอภิปรายได้
ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะกำหนดให้ฝ่ายค้านใช้จำนวน ส.ส.เท่าใดจึงจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แต่การกำหนดให้ยุบสภาหากฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวต ก็เท่ากับว่า เป็นการขู่ทางอ้อมไม่ให้ฝ่ายค้านเปิดอภิปราย นี่จึงเป็นการปิดช่องทางการตรวจสอบโดยสภาแบบกรายๆ
คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ควรจะตรึกตรองให้ดีว่า ระหว่างเสถียรภาพรัฐบาลกับความโปร่งใสในการใช้อำนาจรัฐนั้น ประชาชนต้องการอย่างไหนกันแน่