xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ วางเกณฑ์ใหม่ ฝ่ายค้านชนะโหวตซักฟอกต้องยุบสภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน (แฟ้มภาพ)
คณะกรรมาธิการยกร่าง รธน.วางเกณฑ์ใหม่ ฝ่ายค้านชนะโหวตญัตติซักฟอกต้องยุบสภาทันที หากใครถูกพิพากษาผิดคอร์รัปชันโดนใบแดงห้ามลงสมัคร ขณะที่สมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 รอด ส่วนผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง แสดงสำเนาการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี ผู้ที่ชนะเลือกตั้งต้องได้คะแนนมากกว่าโนโหวต

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณารายมาตราว่าด้วยที่มา ส.ส.และรัฐสภา โดยมีบทบัญญัติที่เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วยการกำหนดให้การสิ้นสุดของสภาผู้แทนฯ นอกจากครบวาระ หรือนายกรัฐมนตรีให้ยุบสภาแล้ว ในกรณีที่มีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ หากผลโหวดฝ่ายค้านชนะ ต้องยุบสภาไปด้วย เนื่องจากประเมินแล้วว่าโครงสร้างวิธีการเลือกตั้งที่ออกแบบมาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีแนวโน้มจะทำให้เกิดรัฐบาลผสมสูง เพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอจนเกินไป จนกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลโดยไม่จำเป็น จึงกำหนดว่าหากฝ่ายค้านชนะโหวตการลงมติไม่ไว้วางใจทั้งคณะ จะมีผลให้ต้องยุบสภาตามไปด้วย

“เดิมรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดว่าหากฝ่ายค้านชนะโหวตก็จะให้ผู้ถูกเสนอชื่อแนบไปกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจขึ้นทำหน้าที่นายกฯ แทน แต่ผลจากที่รัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้ฝ่ายรัฐบาลเข้มแข็งจนเกินไป การอภิปรายไม่ไว้วางใจแทบไม่เกิดผล แต่เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ทำให้โครงสร้างรัฐบาลเป็นแบบผสม จึงต้องหาวิธีป้องกันฝ่ายบริหารไม่ถูกสั่นคลอนเสถียรภาพง่ายจนเกินไป”

โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวด้วยว่า การที่ฝ่ายค้านชนะโหวตจะต้องยุบเลิกสภานั้นจะทำให้ฝ่ายค้านต้องตัดสินใจอภิปรายไม่ไว้วางใจในประเด็นที่มีน้ำหนัก และมีความสำคัญจริงๆ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ก็มีช่องทางอื่นให้เลือก คือ หันไปใช้การยื่นญัตติถอดถอนนายกฯ หรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลแทน นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการอื่นที่ป้องกันพรรคร่วมรัฐบาลที่ใช้ข้ออ้างแยกตัวเพื่อต่อรองผลประโยชน์จากพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จะสั่นเทือนเสถียรภาพรัฐบาลง่ายเกินไปตามมาในการพิจารณาต่อไป

ส่วนมาตราที่ว่าด้วยคุณสมบัติข้อห้ามของผู้ลงสมัครเป็น ส.ส.ซึ่งเป็นที่จับตาของสังคม และอาจโยงไปถึงกลุ่มอดีตนักการเมืองที่ถูกคำสั่งยุบพรรค ทั้งบ้านเลขที่ 109 หรือ 111 นั้น นายคำนูณชี้แจงว่า นอกจากคุณสมบัติข้อห้ามเดิมที่กำหนดว่าผู้ที่เคยถูกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติแล้ว ยังเพิ่มเติมส่วนที่ล้อตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาตรา 35 (4) โดยระบุว่าผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม โดยรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ยึดโยงคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นคุณสมบัติของผู้เป็นรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีด้วย แต่โครงสร้างส่วนนี้ในการพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯ จะต้องรอดูต่อไปเมื่อไปถึงหมวด ครม. ส่วนกรณีที่มองว่าจะมีผลไปถึงอดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 109 หรือ 111 นั้น บทบัญญัติได้ระบุว่าต้องเป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาทุจริตการเลือกตั้ง หมายถึงผู้ถูกใบแดงเท่านั้น ส่วนผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเพราะเป็นกรรมการบริหารด้วยนั้นน่าจะไม่เกี่ยวข้อง

สำหรับมาตราอื่นๆ ในหมวดนี้ที่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ห้ามเป็นผู้สมัครอิสระ ต้องสังกัดพรรคหรือกลุ่มการเมือง ผู้สมัครจะต้องแสดงสำเนารายการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปีต่อ กกต. ส่วนในกรณีผู้ไม่มีรายได้ก็เพียงแจ้งตามข้อเท็จจริงเท่านั้น สำหรับประเด็นใหม่อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น กำหนดให้ผู้ที่ชนะการเลือกตั้ง จะต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าคะแนนของผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน การกำหนดให้การเลือกตั้งนอกเขต หรือนอกราชอาณาจักร จะต้องลงทะเบียนแสดงความจำนงล่วงหน้าก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น