“ดิเรก” แจง กมธ. ปฏิรูปการเมือง ใช้เวลาอภิปรายร่าง รธน. 2 ชม. 4 เรื่อง ยัน ไม่เอานายกฯคนนอก - ส.ส. สัดส่วนผสม ชี้ ออกแบบ รบ. ไม่เข้มแข็ง ไม่ตอบโจทย์แก้โกง เผย ตนเล็งเสนอโครงสร้างการเมืองควบอำนาจแบบเดิม รับ แปรญัตติยาก เหตุต้องใช้สมาชิก 25 คน ต้องวางแผนให้ดี ไม่ทราบซักฟอกแค่วิธีกรรม ยันทำเต็มที่ สปช. สงขลา พอใจ “เลิศรัตน์” แจง ไม่ต้องสรรหาก่อนเลือก หากผู้สมัครไม่ถึง 10 คน
วันนี้ (12 เม.ย.) นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สชช.) จ.นนทบุรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึง แนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแรก ระหว่างวันที่ 20 - 26 เม.ย. นี้ ว่า กมธ. ปฏิรูปการเมือง จะใช้เวลาที่มี 2 ชั่วโมง อภิปรายไปตามมติที่พวกเราเห็นร่วมกันในประเด็นการเมือง 4 เรื่อง คือ นายกรัฐมนตรีคนนอก ที่มา ส.ส. ที่มา ส.ว. และองค์กรอิสระ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง เป็นหลัก โดย กมธ. ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีคนนอก และที่มา ส.ส. แบบสัดส่วนผสม หรือ เอ็มเอ็มพี ส่วนจะเสนอแนวทางใดมาใช้แทนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของสมาชิกแต่ละคน
นายดิเรก กล่าวว่า การแก้ปัญหาทุจริตทางการเมืองการเลือกตั้ง ด้วยการออกแบบให้รัฐบาลไม่เข้มแข็ง จะไม่ตอบโจทย์ตามที่ กมธ. ยกร่างฯ หวังไว้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็งเพื่อผลักดันนโยบายให้ประเทศชาติเดินหน้า ส่วนการป้องกันการทุจริตคือ การทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็งควบคู่กันไป ด้วยการปฏิรูปองค์กรอิสระที่เรามีอยู่หลายองค์กรให้สามารถถ่วงดุลตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนจะมีการเสนอให้กลับไปใช้แนวทางเลือกตรงนายกรัฐมนตรี ที่ กมธ. ยกกร่างฯ เคยตีตกไปอีกหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความเห็นของ กมธ. แต่ละคน
นายดิเรก กล่าวอีกว่า ตนจะเสนอแปรญญัตติภายหลังการอภิปรายในวันที่ 26 เม.ย. โดยจะเสนอให้ปรับแก้กลับไปใช้โครงสร้างทางการเมืองแบบเดิม คือ แบบควบอำนาจ ใช้ระบอบบรัฐสภาเป็นสำคัญ ให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีความเกี่ยวพันกัน และที่สำคัญประชาชนได้เรียนรู้และมีความเข้าใจรูปแบบทางการเมืองนี้เป็นอย่างดีแล้ว ส่วนที่มาของ ส.ว. ก็ยังยืนยันเหมือนเดิมว่า หากกำหนดให้มีอำนาจมาก ก็ต้องให้ประชาชนเลือกตั้งทั้งหมด
“ขั้นตอนการแปรญญัตินั้น ถือว่ายากกว่าที่เคยทำมาในระบบรัฐสภาตามปกติ เนื่องจากมีข้อกำหนดว่าต้องใช้สมาชิกอย่างน้อย 25 คน ในการเสนอ ขณะเดียวกันก็ก็มีสมาชิกสปช.กว่า 20 คน ไปเป็น กมธ. ยกร่างฯ ดังนั้น กมธ. ของ สปช. ที่แต่ละคณะ มีจำนวนไม่ถึง 25 คน จึงต้องวางแนวทางไว้อย่างดี และก็ต้องขอให้สมาชิก กมธ. ชุดอื่นมาร่วมเข้าชื่อ ซึ่งก็จะทำให้มีเพียงแค่ 9 คำแปรญญัติ ที่ สปช. จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้” นายดิเรก กล่าว
ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองใหญ่มองว่าการอภิปรายจะเป็นเพียงพิธีกรรม และเชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะไม่ได้รับการเห็นชอบในที่สุดนั้น นายดิเรก กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร แต่ขอยืนยันว่า จะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลายเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่สร้างความขัดแย้งให้สังคมอีก จึงอยากให้ประชาชนร่วมกันรับฟังการอภิปรายเพื่อรับรู้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญนี้จะได้รับความเห็นชอบหรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของสมาชิกแต่ละคน
ด้าน นายประเสริฐ ชิตพงษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จ.สงขลา กล่าวถึงแนวทางการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแรก ระหว่างวันที่ 20 - 26 เม.ย. นี้ ว่า สมาชิก สปช. คงเน้นไปที่ประเด็นการเมืองเป็นส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรีคนนอก ที่มา ส.ส. และที่มา ส.ว. แต่จากการหารือเบื้องต้นระหว่าง สปช. และ กมธ. ยกร่างฯ ที่สภาการพยาบาล เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา ก็ทำให้สมาชิก สปช. มีความเข้าใจเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่มาของ ส.ว. ที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ. ยกร่างฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในส่วนที่มาของ ส.ว. 77 คน จาก 77 จังหวัด นั้น หากจังหวัดใดมีผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 คน ก็ไม่ต้องมีการกรั่นกรอง ปล่อยให้ประชาชนได้เลือกตั้งเลย เว้นแต่จังหวัดใดจะมีผู้สมัครฯเกิน 10 คน จึงจะให้คณะกรรมการทำการกรั่นกรองให้เหลือ 10 คน ก่อนให้ประชาชนเลือก
นายประเสริฐ กล่าวว่า การชี้แจงดังกล่าว ตนในฐานะอดีต ส.ว. สงขลา และ สปช. ที่เป็นอดีต ส.ว. เลือกตั้ง ก็รู้สึกว่ารับได้ เพราะต่างไปจากเดิมที่กำหนดให้ ส.ว. มาจากการสรรหาทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนเลือกตั้ง 77 และสรรหา 123 นั้น ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร นอกจากนี้ คาดว่าประเด็นการอภิปรายร่างแรกรัฐธรรมนูญคงเน้นไปที่ หลักการบริหารราชการแผ่นดิน และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอีกด้วย