xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯเปิดประเด็นใหม่ ประชามติหลังใช้รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (5 พ.ค.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเสนอญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ว่า กมธ.ยกร่างฯ พร้อมที่จะดูญัตติขอแก้ไข ช่วงนี้ที่มีคนพูดถึงข้อเสนอต่างๆ จำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร กมธ.ยกร่างฯ จะพิจารณาถึงเหตุและผลที่เหมาะสมที่สุด ว่าจะแก้ไขตามญัตติที่เสนอมาหรือไม่ เชื่อว่าสามารถพูดคุยกันได้ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับมติของที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ว่าจะไปในทิศทางไหน
ด้านนายไพบูย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ต้องรอดูว่าสปช. จะเสนอญัตติแก้ไขอะไรมาบ้าง กมธ.ยกร่างฯ พร้อมฟังเหตุผล เราเปิดกว้างในเรื่องนี้อยู่แล้ว และคงจะมีการปรับแก้ในหลายมาตราให้เกิดความเหมาะสมที่สุด เชื่อว่า สปช.ส่วนใหญ่จะเข้าใจ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะผ่านแน่นอน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวจะเสนอต่อที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ เกี่ยวกับการทำประชามติ ว่า ควรกำหนดไว้ในส่วนของบทเฉพาะกาล มาตรา 308 ให้มีการทำประชามติ หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ไปแล้วภายใน 90 วัน และอาจทำเป็นรายมาตรา ในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะที่มา ส.ส.-ส.ว. รวมทั้งให้ประชาชนกำหนดด้วยว่า จะให้ปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อน หรือจะเลือกตั้งก่อน ที่เสนอเช่นนี้ เพราะไม่อยากให้รัฐบาล และคสช.ต้องลำบากใจ ในการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ควรทำตามโรดแมปเดิมให้เสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วค่อยทำประชามติ หากทำแบบนี้ บ้านเมืองจะเดินหน้าต่อไปได้ ไม่หยุดชะงัก และประชาชนเองก็จะได้รู้สึกว่า ตัวเองได้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศด้วย

** แจง 3 รูปแบบการทำประชามติ

นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะคณะผู้ประสานงานในการประมวลคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากสมาชิก สปช. กล่าวว่า ในวันนี้ (6พ.ค.) ภายหลังที่คณะผู้ประสานงานฯได้รับแบบสอบถามจากสมาชิก สปช. ว่าจะขอยื่นแปรญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นใด ภายในเวลา 14.00 น.แล้ว คณะผู้ประสานงานฯ ก็จะรวบรวมคำขอดังกล่าวมาประมวลจัดหมวดหมู่ เพื่อดูว่ามีคำขอใดที่มีความเห็นสอดคล้องกัน ซึ่งคาดว่าในการจัดหมวดหมู่ น่าจะต้องให้เวลาพอสมควร เนื่องจากการยื่นแปรญัตติ เป็นสิทธิ์ของสมาชิกรายบุคคล ไม่ได้ยื่นในรูปแบบคณะกรรมาธิการ แม้อาจมีบางคณะที่มีความเห็นสอดคล้องกัน แต่ส่วนใหญ่ จะเป็นการใช้สิทธิ์เป็นรายบุคคลมากกว่า อีกทั้งเมื่อส่งคำขอแปรญัตติไปยังกมธ.ยกร่างฯ แล้ว ทางกมธ.ยกร่างฯ ได้ตกลงกับวิปสปช. แล้วว่า ในวันที่ 1-6 มิ.ย. กมธ.ยกร่างฯ จะเชิญสมาชิกสปช. ที่ยื่นแปรญัตติ ไปชี้แจงเหตุผล
นายอลงกรณ์ ยังกล่าวถึงข้อเสนอในการทำประชามติแบบรายประเด็น ว่า ถือว่าเป็นข้อเสนอที่ดี และเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะขณะนี้ รูปแบบการทำประชามติ มีอยู่ 3 วิธีการ คือ 1. การทำประชามติโดยให้ประชาชนให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนี้ทั้งฉบับ 2. การทำประชามติเฉพาะมาตรา โดยยกเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหา และ 3. การทำประชามติที่นำเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับเก่า อย่างปี 2540 และ 2550
ดังนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะให้มีการทำประชามติหรือไม่ ถ้าหากให้มี จะเลือกใช้วิธีใด ซึ่งน่าจะอยู่ในกรอบ 3 วิธี ดังกล่าวนี้
"ผมมีข้อสังเกตุว่า หากให้มีการทำประชามติ โดยใช้วิธีที่ 1. คือให้ประชาชนเลือกจะรับหรือไม่รับทั้งฉบับนั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ สปช.ให้ความเห็นชอบ หรือไม่ ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ เนื่องจากอาจเกิดความซ้ำซ้อนกัน เพราะถึงอย่างไร การให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ ก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยทางตรงอยู่แล้ว หากเลือกวิธีนี้ ตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ควรเขียนแก้ไขเสียทีเดียว คือ ไม่ต้องมอบอำนาจส่วนนี้ให้ สปช. อีกยกเว้นแต่จะใช้ วิธีที่ 2 หากจะทำประชามติแบบรายประเด็น ก็ควรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้ สปช.ให้ความเห็นชอบ หรือไม่ก่อน และหากเห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่าน ก็นำเฉพาะประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงไปทำประชามติต่อไป " นายอลงกรณ์ กล่าว

**แนะประชาพิจารณ์ก่อนให้สปช.โหวต

นายนิรันดร์ พันทรกิจ สปช. ด้านอื่นๆ เปิดเผยถึงกระแสเรียกร้องเพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติว่า ตนขอเรียกร้องให้ ครม. และ คสช. แก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วราว พ.ศ. 2557 มาตรา 46 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนเสียก่อน เพื่อให้กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างฯ นำความเห็นไปแก้ไขอีกครั้ง ก่อนที่สปช. จะลงลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ และหากเห็นชอบร่างรัฐรรมนูญแล้ว จึงให้ชาวบ้านได้ลงประชามติ
โดยขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ควรมอบมายให้คณะอนุกรรมธิการประจำจังหวัด รวมทั้งสิ้น 77 จังหวัด ที่มีนายประชา เตรัตน์ กมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน ไปทำหน้าที่ ซึ่งเชื่อว่าหากทำตามกระบวนการที่ตนแนะนำ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะได้การยอมรับจากประชาชนทั้งประเทศแน่นอน เพราะทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เปรียบดัง "ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก" ใครที่เข้ามาจะแก้ไข หรือต่อต้านก็คงเป็นไปด้วยความลำบาก แม้จะเสียเวลาไปบ้าง แต่หากกฎหมายออกมาเป็นประชาธิปไตย มั่นใจว่าทุกฝ่ายจะยอมรับได้
นายนิรันดร์ กล่าวต่อว่า ในการทำประชาพิจารณ์กับประชาชน ควรทำในประเด็นสำคัญ อาทิ ที่มานายกรัฐมนตรี ,ที่มาส.ส. ,ที่มา ส.ว. และเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นต้น แต่หากไม่ทำตามขั้นตอนดังกล่าวนี้ และยังเป็นร่างๆดิบเช่นนี้อยู่ เมื่อรวมกับท่าทีของกมธ.ยกร่างฯ ที่มีความแข็งกร้าว แม้การโหวตเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ในชั้นของสปช.ในช่วงไม่เกินวันที่ 6 ส.ค. จะผ่านเวทีสปช. แต่ไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญดังกล่าวดี แต่เป็นเพราะทุกคนกลัวตกงาน และตกตายไปตามกัน ซึ่งสปช.หลายคนรู้สึกอึดอัด และไม่เห็นด้วยในหลายมาตรา แต่ก็ไม่ทราบจะทำอะไรได้ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้ดุลพินิจแก่ กมธ.ยกร่างฯ เต็มที่ จะฟังความเห็นของสปช.หรือไม่ก็ได้
"แม้จะผ่านความเห็นชอบจาก สปช. แต่ไม่น่ารอดในการทำประชามติ เพราะมีกลิ่นไม่ดีในหลายเรื่อง พร้อมกับท่าทีของของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ก็ไม่พอใจ และไม่ยอมรับในหลายประเด็น โดยเฉพาะที่อ้างว่า ประชาชนเป็นใหญ่ แต่บางประเด็นก็เป็นการหลอกลวงชาวบ้าน อย่างเช่น ที่มา ส.ว.77 จังหวัด บอกว่าเป็นการเลือกตั้ง แต่ก็มีคณะกรรมการเข้ามากลั่นกรองก่อน ดังนั้นหากไม่มีการทำประชาพิจารณ์ก่อน รับรองว่าการประชามติไป ก็จะเปล่าประโยชน์ " นายนิรันดร์ กล่าว

**"วิรัตน์"ค้านทำประชามติรายมาตรา

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีตส.ส.สงขลา าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีที่ นายพีระศักดิ์ พอจิตร รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่สอง ได้เสนอแนะให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เฉพาะประเด็นรายมาตราที่มีปัญหามาก ว่า ตนคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีสิ่งที่ดีมาก แต่ก็มีสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ เมื่อส่วนใหญ่ทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ,สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), กรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นทราบดีว่าส่วนไหนมีปัญหา ซึ่งตนก็อยากให้มีการปรับแก้ในส่วนนี้ก่อน อาทิเช่นในเรื่องอำนาจของ ส.ว.ที่มีมาก กลุ่มการเมืองที่ไม่ควรมี, เรื่องมาตรา 181 มาตรา182 ที่ควรเอาออก,ที่มานายกรัฐมนตรีเป็นต้น เมื่อมีการปรับแก้ในส่วนที่เป็นปัญหาทั้งหมดแล้ว ตนคิดว่าจึงควรจะเปิดให้มีการทำประชามติทั้งฉบับน่าจะได้รับความชอบธรรมมากว่าประชามติเป็นรายมาตรา สำหรับกรณีที่มีการเสนอมีการทำประชามติโดยเทียบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ด้วยนั้น คิดว่าว่าการทำประชามตินั้นควรว่ากันด้วยเรื่องร่างฉบับปี 2558ฉบับเดียงจะดีกว่า เนื่องจาก 2 ฉบับที่ผ่านมานั้นก็ยกเลิกไปแล้ว อีกทั้งตนคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีสิ่งที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 อยู่หลายประเด็น
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็มีการทำประชามติ แต่ก็ถูกครหาว่าเป็นประชามติภายใต้บรรยากาศที่เป็นเผด็จการนั้น ดังนั้นหากต้องมีการทำประชามติ ทางคสช. ควรจะผ่อนปรนในส่วนนี้หรือไม่ นายวิรัตน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน เหตุผลที่ฝ่ายผู้มีอำนาจยังยืนยันให้มีการใช้คำสั่งพิเศษอยู่ ก็เพราะว่ายังมีขบวนการใต้ดินเคลื่อนไหวอยู่ซึ่งหากมีการทำประชามติขึ้นมาคนกลุ่มนี้อย่างไรก็คงไม่ยอมรับในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการจะทำให้ทุกคนยอมรับรัฐธรรมนูญนั้นก็คงยาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้สังคมโดยรวมและนานาชาติได้เข้าใจว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีและเป็นประชาธิปไตยที่สุดภายใต้สภาวะการณ์ของประเทศไทย

**ครม.ยังไม่ตัดสินใจเรื่องประชามติ

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญว่า จากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้รัฐมนตรีแต่ละคนกลับไปทำความเห็นร่างรัฐธรรมนูญ แล้วส่งกลับมาที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ภายในวันที่ 14 พ.ค.นี้ เพราะในวันที่ 19 พ.ค. คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช. จะมีการประชุมร่วมกัน ซึ่งจะมีเรื่องร่างรัฐธรรมนูญด้วย ก่อนสรุปส่งความเห็นกลับไปยัง กรรมาธิการยกร่างฯ
ส่วนเนื้อหาที่ตนจะมีข้อเสนอแนะกลับไป จะเป็นภาพรวมๆ ที่รัฐธรรมนูญควรมีบทบัญญัติที่จะทำให้บ้านเมืองขับเคลื่อนต่อไปได้ สามารถปฏิรูปได้ เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญ อย่างน้อย 3 - 5 ปีข้างหน้า การปฏิรูปน่าจะเกิดผลดีกับประเทศ ซึ่งรายละเอียดข้อเสนอแนะอยู่ระหว่างการจัดทำ
เมื่อถามว่า ภาคการเมืองเวลานี้ ต่างมีเสียงเดียวกันที่จะทำให้ทำประชามติ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ไม่ได้กำหนดให้มีการทำประชามติ ขณะที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพิ่งพิจารณาเสร็จ ขั้นตอนต่อไป สปช. ต้องมีการเสนอประเด็นแก้ไข รวมถึงครม.และ คสช. ก็อาจมีข้อเสนอแนะ ซึ่งต้องดูท่าทีของ กมธ.ยกร่างฯ ด้วย เมื่อตอนนั้นอาจจะทำให้เห็นชัดเจนว่าควรทำ หรือไม่ควรทำประชามติ ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดชัดเจน แต่เชื่อว่าอีกไม่นานก็จะรู้ ซึ่งผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ ต้องดูปัจจัยรอบด้าน แล้วถึงมาตกลงใจ
เมื่อถามว่า การกดดันจากกลุ่มการเมืองให้ทำประชามติ มีผลต่อการตัดสินใจ หรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า คิดว่าคสช.และ ครม.ดูผลประโยชน์สูงสุดประเทศชาติเป็นหลัก รวมถึงด้านการข่าว ก็ต้องมีการประเมินเพื่อให้เข้าใจแนวโน้มอนาคตประเทศไทย แต่ขณะนี้ยังไม่มีการประเมินว่าทำ หรือไม่ทำประชามติ จะมีผลอย่างไร

**คสช.เมินเลิกคำสั่งห้ามพรรคประชุม

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณี นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้ คสช. พิจารณายกเลิกคำสั่งในประเด็นที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกพรรคได้ประชุม และมีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงแนวทางการปฏิรูปอื่นๆ ว่า ทางคสช.โดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) มีเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นให้กับทุกฝ่ายอยู่แล้ว เช่น นักการเมือง นักวิชาการ และนักศึกษา สามารถแสดงความคิดเห็นต่างๆ ทั้งเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และเรื่องการปฏิรูปต่างๆ ได้
แต่กรณีที่จะให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ดังกล่าวนั้น ทางคสช. ถือว่าเป็นข้อเรียกร้อง ซึ่งอาจจะต้องมีการพิจารณาเหตุผล ข้อดี ข้อเสีย และความจำเป็นอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะเจตนารมณ์ของคสช. คือไม่ปิดกั้น แต่เราก็มีเวทีของศปป. ให้ ที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นเวทีที่เป็นประโยชน์ ทุกคนสามารถไปร่วมแสดงความคิดเห็น ได้อย่างอิสระและเสรี อย่างไรก็ตาม ยืนยันกับพรรคการเมืองว่า คสช. มีช่องทางให้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น