xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เล่นการเมือง! "บิ๊กตู่"ชิ่งประชามติ โยนกมธ.ยกร่างฯ-สปช.ตัดสินใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ร่างแรก ของสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ผ่านไปแล้ว มีการตั้งข้อสังเกตมากมาย ขณะนี้อยู่ในช่วงที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรับฟังความเห็นเพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุง

ข้อเสนอที่ค่อนข้างมีน้ำหนักคือ ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองสปช. ที่ได้หารือกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แล้วได้ขอสรุปที่จะใช้ในการยื่นแปรญัตติขอแก้ไข 10 ข้อ ดังนี้

1. เรื่องกลุ่มการเมืองที่จะมีผลทำให้สถาบันพรรคการเมืองอ่อนแอ และจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าเกิดประโยชน์ ตามที่กรรมาธิการฯให้เหตุผลไว้

2. การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดรัฐบาลผสมอ่อนแอไม่มีเอกภาพในการบริหารประเทศ

3. ที่มาวุฒิสภา แม้จะมีการปรับให้มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด แต่ก็ต้องผ่านการสรรหาก่อน ไม่ใช่ให้ประชาชนเลือกผู้เสนอตัวโดยตรง

4. ที่มานายกรัฐมนตรี กรณีนายกฯคนนอก เป็นเรื่องหลักการระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนเลือกตัวแทนมาใช้อำนาจ กลับ กำหนดไม่ให้ฝ่ายบริหารมาจากส.ส. เท่ากับประชาชน ไม่มีอำนาจบริหาร

5. การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นกลไกตรวจสอบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะจะเกิดระบบฮั้ว และยังมีประเด็นที่จะทำให้เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ได้เลย

6. กลไกลขับเคลื่อนการปฏิรูป ควรจะเป็นอย่างไร ยังไม่มีความชัดเจน

7. คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ ที่มีหน้าที่แค่ประเมินโครงการฯ แล้วแจ้งให้ทราบ เท่ากับสูญเปล่า ถ้าจะทำต้องให้คุ้มค่า และไม่เห็นประโยชน์ในการประเมินพรรคการเมือง กับกลุ่มการเมือง มีแต่จะเป็นภาระมากกว่า

8. คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาคัดเลือกข้าราชการระดับปลัดกระทรวง

9. น่าจะเสนอเรื่องการทำประชามติ ซึ่งหากเห็นว่าจำเป็น ก็จะมีการยื่นญัตติต่อ สปช. เพื่อให้พิจารณาลงมติ หากที่ประชุมเห็นด้วยก็จะส่งข้อเสนอดังกล่าวไปยัง ครม. และ คสช. เพราะขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ตัดสินใจ

10. ประเด็นที่ให้อำนาจคณะกรรมการปรองดองฯ ออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษได้ เพียงแค่ให้ข้อมูลและสำนึกผิดกับคณะกรรมการ เป็นการให้อำนาจที่อาจขัดต่อหลักการของกฎหมายและจารีตที่เคยปฏิบัติกันมาเพราะ การอภัยโทษเป็นเรื่องที่ต้องถูกศาลตัดสินความผิด มีการจองจำก่อน แต่ในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดประเด็นเหล่านี้

นอกจาก 10 ประเด็นดังกล่าวแล้ว ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงคัดค้านกันมากทั้งจากนักการเมือง นักวิชาการ คือ มาตรา 181 และ 182 ซึ่งให้นายกรัฐมนตรี ยื่นญัตติไว้วางใจตัวเอง ถ้าไม่ได้รับความไว้วางใจ ก็มีอำนาจยุบสภาได้ เท่ากับเป็นการกีดกันไม่ให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมทั้งการให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในการเสนอกฎหมายพิเศษ ถ้าฝ่ายค้านไม่อภิปรายไม่ไว้วางใจใน 48 ชั่วโมง ก็ถือว่ากฎหมายนั้นผ่าน หรือถ้าฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่แพ้โหวต ก็ถือว่ากฎหมายนั้นผ่านเช่นกัน

จึงถูกมองว่า การให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเช่นนี้ เท่ากับเป็นเผด็จการรัฐสภาเต็มขั้น !!

สิ่งที่กลัวกันก็คือ ถ้านายกรัฐมนตรี เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมตามช่องทางนี้ แล้วฝ่ายค้านไม่สามารถยับยั้งได้ ก็เท่ากับกฎหมายได้รับความเห็นชอบจากสภา แต่ถ้าประชาชนที่อยู่นอกสภาไม่เห็นด้วย ย่อมจะมีการรวมตัวคัดค้าน ปัญหาก็อาจจะบานปลายได้

เรื่องนี้ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯได้ออกมาชี้แจงว่า การที่ให้นายกฯยื่นอภิปรายรัฐบาลตัวเองได้ ก็เพื่อดัดหลังพรรคร่วมรัฐบาลที่จะยื่นเงื่อนไข หรือเอาใจออกห่าง เพราะถ้ารัฐบาลแพ้ศึกอภิปราย นายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจยุบสภาทันที ซึ่งเชื่อว่าส.ส.จะกลัวการยุบสภา

ส่วนเรื่องการเสนอกฎหมายพิเศษ ถ้ากฎหมายผ่านสภาแล้ว ใช่ว่าจะมีผลทันที เพราะยังต้องไปผ่านการกลั่นกรองของวุฒิสภาอีก และอย่าได้มโนว่า สภาผู้แทนฯ กับวุฒิสภา จะเป็นพวกเดียวกัน เพราะได้ออกแบบที่มาของส.ส. กับ ส.ว. ให้มีที่มาที่ต่างกันอยู่แล้ว

ดังนั้นถ้าจะให้เดาใจ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ต่อประเด็นนี้ เชื่อว่าคงจะไม่มีการแก้ไข

ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ก็ยอมรับว่า มาตรา 181,182 เป็นเรื่องใหม่ ยังไม่เคยใช้ อาจจะเกิดปัญหาตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันก็ได้ ซึ่งรัฐบาลกำลังดูอยู่ว่ามีข้อดี ข้อเสีย อย่างไรและจะตั้งเป็นข้อสังเกต บอกไปยังกรรมาธิการยกร่างฯ แต่จะได้รับการแก้ไขหรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้

แต่ถ้าสองมาตรานี้ผ่านไปได้ และเมื่อใช้แล้วเกิดปัญหา จะแก้ไขก็แก้ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนล็อกไว้แล้วว่าไม่ให้แก้ไข จนกว่าจะครบ 5 ปี เรื่องนี้กรรมาธิการยกร่างฯ ต้องมีคำอธิบาย

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงที่ยังสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ เพราะตามไทม์ไลน์ได้กำหนดเวลาให้กรรมาธิการยกร่างฯ สำหรับการแก้ไขไว้ 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.- 23 ก.ค. 58

ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ได้ออกมาหลังจากวันที่ 23 ก.ค.58 จะเป็นร่างจริง ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว ยกเว้นกรณีเขียนคำผิด ที่แก้แล้วไม่กระทบเนื้อหา หลักการ จากนั้นก็จะส่งไปขอมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่จะมีการโหวตกันในวันที่ 6 ส.ค. 58

หากถูกสปช.คว่ำ ก็กลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ คือคณะรักษาความสงแห่งชาติ(คสช.) ต้องตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติชุดใหม่ ตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯชุดใหม่ แล้วลงมือร่างรัฐธรรมนูญอีกรอบ

หากสปช.ให้ผ่าน ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ก็จะนำร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน กำหนดของวันสุดท้ายคือ วันที่ 4 ก.ย.58 หากมีการโปรดเกล้าฯ พระราชทานกลับคืนมาในวันที่ 5 ก.ย. 58 คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ให้เสร็จภายใน 60 วัน เพื่อส่งให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นก็จะจัดการเลือกตั้งภายใน 90 วัน

นั่นคือ หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว การเลือกตั้งจะเกิดภายใน 5 เดือน หรือประมาณปลายเดือนก.พ.59 เป็นอย่างเร็ว ซึ่งกรณีนี้ไม่ต้องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

แต่ถ้ามีการประชามติ ก็จะทำในช่วงหลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจาก สปช.แล้ว ก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งขั้นตอนการทำประชามติ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน ก็จะมีการเลือกตั้งเดือนพ.ค. 59

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ไม่ได้ระบุให้ทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนการประกาศใช้ ดังนั้นหากจะตัดสินใจทำประชามติ ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งจะว่าไปแล้ว คนที่จะตัดสินใจก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.นั่นเอง

ล่าสุดก็มีความเห็นจากพล.อ.ประยุทธ์ ออกมาแล้วว่า จะขอลอยตัว ด้วยข้ออ้างในทำนองว่า ถ้าไม่ทำประชามติก็จะถูกครหาว่า เป็นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยกร่างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ แต่ถ้าทำประชามติ ก็จะหาว่าอยากอยู่ในอำนาจยาวออกไปอีกสักระยะ

"รัฐธรรมนูญ เขาไม่ได้เขียนให้ทำประชามติ ถ้าจะทำก็ไปแก้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งคนตัดสินใจไม่ใช่ผม แต่อยู่ที่กรรมาธิการยกร่างฯ หรือ สปช. เราไม่ได้มีอำนาจสั่งเขาตรงนั้น รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนั้น วันนี้เหมือนมี 2 สภา ถ้ามีความเห็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ต้องขอมาที่ผม ซึ่งผมจะส่งไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไปทำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ผมจะไม่ตัดสินใจ พวกเขาต้องตัดสินใจมา เพราะเป็นหน้าที่ของเขา ถ้าเขาคิดว่า ถ้าปล่อยให้ผ่านตอนนี้ ก็ตีกัน ผมจะไปสั่งให้ผ่านได้หรือไม่ ถ้ามันจะตีกัน มันก็ตี ทำอย่างไรให้ผ่านโดยไม่ต้องตี หรือถ้าไม่ผ่าน ก็ร่างกันใหม่ ก็แค่นั้น"

เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ มีท่าทีออกมาอย่างนี้ โอกาสที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนก.พ.59 จึงริบหรี่เต็มที !!



กำลังโหลดความคิดเห็น