xs
xsm
sm
md
lg

ลงประชามติเกราะกำบัง รธน. “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” แพแตก!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

จากการแถลงของโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ระบุว่า คณะกรรมาธิการฯ จะหยุดพักการประชุมเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ส่งคำแก้ไขรัฐธรรมนูญมาให้ภายในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ และระหว่างนี้คณะกรรมาธิการฯก็จะเดินสายรับฟังความเห็นจากประชาชนรวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็น และอธิบายทำความเข้าใจประเด็นต่างๆในรัฐธรรมนูญทั่วประเทศ โดยจะมีการตั้งเวทีทั้งหมดประมาณ 15 เวที

เป็นอันว่าระหว่างนี้อยู่ในช่วงรอฟังความเห็นที่เป็นแบบลายลักษณ์อักษรขึ้นมา รวมไปถึงความเห็นและข้อเสนอแนะมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขึ้นมา ทั้งสองหน่วยงานหลังนี่แหละถือว่าน่าจะมีน้ำหนักมากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง ที่ผ่านมารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และเป็นทั้งที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายใน คสช.อย่าง วิษณุ เครืองาม ก็ออกมาส่งสัญญาณให้เห็นล่วงหน้าแล้ว ว่า “มีน้ำหนัก”

อย่างไรก็ตาม สรุปว่ายังอยู่ในช่วงของการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ดังนั้นทุกอย่างยังไม่นิ่ง ยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกันได้อีก แต่หากพิจารณาตามความรู้สึก รวมทั้งพิจารณาจากท่าทีของบรรดากรรมาธิการยกร่างฯ คนสำคัญ เช่น ตัวประธานกรรมาธิการยกร่างฯ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่แสดงทัศนะออกมาหลายครั้งยังมีท่าทีเช่นเดิมว่า “ยังคงหลักการหลักๆ” เอาไว้ครบถ้วน

ดังนั้น หากมีการปรับปรุงแก้ไขก็คงมีแค่ประเด็นปลีกย่อย หรือตัดทิ้งเพิ่มเติมเข้ามาบ้างเท่านั้นเอง เหมือนกับการ “บอกผ่าน” และเมื่อมีการต่อรองก็ “ลดราคา” ลงมาบ้าง ภาพจะออกมาประมาณนั้นมากกว่า

สำหรับหลักการสำคัญที่มักถูกเน้นย้ำบ่อยๆ และยังยืนยันเดินหน้าต่อไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็คือ

ระบบการเลือกตั้งแบบ “โอเพ่นลิสต์” กับประเด็นที่เปิดทางให้ “กลุ่มการเมือง” ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ รวมไปถึงประเด็น “นายกฯ คนนอก” รวมไปถึงการลดจำนวน สส.เขตลงเหลือ 250 คน เป็นต้น นี่ว่ากันด้วยเรื่องหลักๆ และชี้อนาคตของพรรคการเมือง และกลุ่มทุนในพรรคการเมืองว่าจะมีชะตากรรมเช่นไร เพราะจนถึงวันนี้ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ยังยืนยันเดินหน้าต่อไปโดยจะเดินสายทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วประเทศด้วย โดยเขาให้เหตุผลว่าเป็นการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนเข้มแข็งแทนที่พรรคการเมืองและนายทุนพรรคเหมือนในอดีต

“ปี 2540 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2550 มีรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และฉบับนี้เป็นฉบับปฏิรูป จึงไม่แปลกใจที่จะมีการวิจารณ์ โดยเฉพาะนักการเมืองที่ออกมาวิจารณ์ระบบเลือกตั้ง เพราะเขากลัวประเด็นกลุ่มการเมืองว่าคนของเขาจะแยกไปตั้งกลุ่มมาแข่งกับเขา และกลัวระบบบัญชีรายชื่อ ที่เป็นแบบโอเพ่นลิสต์ให้ประชาชนจัดลำดับได้เอง ส่วนที่บอกว่าทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ที่จริงต้องพูดต่อว่าทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น สิ่งที่นักการเมืองกลัวจริงๆ คือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง รวมถึงหมวดปฏิรูปทั้งหมด เพราะเขาต้องปฏิบัติตาม ซึ่งสิ่งที่เรากำลังปฏิรูปสวนทางกลับที่เขาอยากทำ”

นั่นคือท่าทีที่ชัดเจนของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในประเด็นหลักๆในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ย้อนกลับไปสู่พรรคการเมืองโดยเฉพาะสองพรรคใหญทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ที่กำลังกอดคอกันคัดค้านในประเด็นดังกล่าว โดยกล่าวหาว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนา ทำลายพรรคการเมืองให้อ่อนแอ และไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งแน่นอนว่าหากมีการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ ที่แบ่งเขตเลือกตั้งเป็นกลุ่มจังหวัดให้ประชาชนในเขตนั้นตัดสินใจเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคเอง เป็นการจัดลำดับ ส.ส.ประเภทนี้เอง (แยกจาก ส.ส.ระบบเขตทั่วประเทศ 250 คน)

หรือการให้ กลุ่มการเมืองลงสมัคร ส.ส.ได้ นั่นก็หมายความว่าต่อไป กลุ่มคนเสื้อแดงในเครือพรรคเพื่อไทย กลุ่ม กปปส.ที่มีจำนวนมากเคยหนุนประชาธิปัตย์ต่อไปก็ลงสมัครแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ได้ แน่นอนว่าสามารถหลับตามองเห็นภาพได้ทันทีว่าพรรคการเมืองเหล่านี้จะป่วนแค่ไหน

สำหรับในส่วนของประเด็นนายกฯ คนนอก ก็ยังเชื่อว่าจะ “แก้ไข” แต่ไม่ตัดทิ้งแน่นอน เช่นอาจแก้เป็นต้องใช้เสียง ส.ส.โหวตหนุน 2 ใน 3 รวมไปถึงอาจให้เหลือวาระดำรงตำแหน่งแค่ 1-2 ปี เชื่อว่าประเด็นค้านก็ลดลง เพราะถึงอย่างไรก็ให้อำนาจ ส.ส.เป็นคนโหวตในสภาอย่างเปิดเผย

ขณะเดียวกัน นาทีนี้น่าจะมีบทสรุปแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีการลงประชามติมติแน่นอน ซึ่ง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็ยืนยันชัดแล้วว่า “ต้องทำ” และเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ต้องสนับสนุนด้วย โดยตามขั้นตอนจะมีการเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ให้มีการทำประชามติ ซึ่งใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 3 เดือน ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปในเดือนพฤษภาคม 2559 แลเเชื่อว่าอีกไม่นาน พล.อ.ประยุทธ์จะเผยท่าทีเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน

นี่ว่ากันเฉพาะประเด็นหลักและเรื่องอ่อนไหวเท่านั้น ซึ่งในที่สุดก็ต้องใช้การลงประชามติ เพื่อใช้เป็นเกราะกำบังรักษารัฐธรรมนูญ และมั่นใจว่าต้องผ่านฉลุย และที่สำคัญให้ระวังในบทเฉพาะกาลที่อาจกำหนดเอาไว้ว่าในอนาคตหากมีการแก้ไขต้องลงประชามติถามประชาชนก่อนหรือไม่ อย่างน้อยก็อาจกำหนดเอาไว้ว่าต้องใช้ไปก่อนไม่น้อยกว่า 5 ปี ถึงค่อยมาแตะต้อง แต่แน่ๆ ก็คือพรคการเมืองป่วนแน่ และนี่คือเหตุผลว่าทำไมทั้งสองพรรคใหญ่ออกมากอดคอค้านแหลก!!
กำลังโหลดความคิดเห็น