ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่ผ่านการปรับแก้ไปให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) แล้ว เมื่อวันที่ 17 เม.ย. และในวันที่ 19 เม.ย. ทาง สปช.ก็จะประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการอภิปรายที่จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 20-26 เม.ย.
ทั้งนี้ เนื้อหาเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป ได้จัดวางบทบัญญัติในภาค หมวด และ ส่วนต่างๆ ให้เชื่อมโยง และหนุนเสริมต่อกันเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายร่วมใน 4 มิติ คือ
1. สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ สาระสำคัญเพื่อขยาย และยกระดับสิทธิ เสรีภาพ โดยด้านสิทธิพลเมืองได้ให้เสรีภาพในการตั้งกลุ่มการเมือง เสรีภาพในการวิเคราะห์ วิจารณ์คำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือคำสั่งศาลโดยสุจริต ตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมทางการเมือง การขยายพื้นที่ทางการเมือง และการสร้างกลไกใหม่สำหรับภาคพลเมือง
2. การเมืองใสสะอาด และสมดุล สาระสำคัญ เพื่อขจัดและป้องกันการซื้อสิทธิ - ขายเสียง ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน การคอร์รัปชันในทุกระดับ และการใช้อำนาจโดยมิชอบ ในขณะเดียวกันมุ่งสร้างเสริมระบอบการเมือง ที่มีธรรมาภิบาล ให้กลุ่มพลังทางสังคมและการเมืองทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม ถ่วงดุลและตรวจสอบ
3. หนุนสังคมให้เป็นธรรมสาระสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ในมิติต่างๆ
และ 4. นำชาติสู่สันติสุข สาระสำคัญ เพื่อคลี่คลายปมปัญหาในอดีต สร้างความเข้าใจสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน และมีมาตรการป้องกันมิให้ความขัดแย้งรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต สร้างรากฐานของสังคมประชาธิปไตยที่อยู่บนฐานการยอมรับในความหลากหลายและการใช้สันติวิธี
ทั้งนี้ ในการอภิปรายของ สปช.ระหว่างวันที่ 20-26 เม.ย.นี้ คาดหมายว่าจะเป็นไปด้วยความเข้มข้น มีเหตุ มีผล ด้วยสปช. หวังผลว่าจะต้องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในประเด็นที่ สปช.มีความเห็นไม่ตรงกับกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้ง เรื่องที่มาของนายกฯคนนอก ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งองค์กรตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมานี้ สภาพัฒนาการเมือง โดยนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.)ได้ทำการสำรวจ ความคิดเห็นของประชาชน เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอ เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย พบว่า ประชาชนอยากได้ นายกรัฐมนตรี และสมาชิกวุฒิสภา ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง
โดยกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 70 เห็นชอบให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงจากประชาชน ส่วนการดำรงตำแหน่งนั้น เสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.2 เห็นว่า นายกรัฐมนตรี ควรดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน และดำรงตำแหน่งไม่ได้อีก ไม่ว่ากรณีใดๆ
ส่วนกรณี ส.ว.นั้น เสียงส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.2 เห็นว่า ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ส่วนการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง และยั่งยืนนั้น ร้อยละ 92.8 เห็นว่า ควรให้การศึกษากับประชาชนทั้งในโรงเรียน นอกโรงเรียน และ การศึกษาตามอัธยาศัย และร้อยละ 90 เห็นควรให้จัดตั้งสถาบันพัฒนาประชาธิปไตย ทำหน้าที่กำกับดูแลและให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน และ ร้อยละ 56.5 เห็นว่า ควรมีสภาพลเมืองที่เป็นองค์กร หรือเวทีที่เป็นทางการมีกฎหมายรองรับ และให้มีสภาพลเมืองทุกจังหวัด
นับเป็นความเห็นของประชาชนอีกส่วนหนึ่งที่ กรรมาธิการยกร่าง จะต้องนำไปพิจารณา แต่จะปรับแก้ให้เป็นไปตามนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการสรุปในขั้นสุดท้ายของกรรมาธิการยกร่างฯ
อีกประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากคือ การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ เพื่อให้เกิดการยอมรับจากทุกภาคส่วน
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เห็นว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องจัดทำประชามติจากประชาชน ก็ต้องใช้เวลา 3 เดือน หลังจากรัฐธรรมนูญใหม่นั้นได้รับความเห็นชอบจากสปช.แล้ว ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ เมื่อเสียงประชามติให้รัฐธรรมนูญผ่านได้ ก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ จากนั้น กกต.ก็จะเสนอร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งขบวนการดังกล่าวอาจจะใช้เวลา 2 เดือน
ดังนั้นการจัดการเลือกตั้งส.ส. น่าจะจัดได้ประมาณปลายเดือนเมษายน 2559 จากนั้นอีก 2-3 เดือน ก็จะเป็นการเลือกตั้งส.ว. สาเหตุที่ต้องทิ้งช่วงห่างกัน เพราะการเลือกตั้ง ส.ว. จะมีความซับซ้อนกว่า ส.ส. จึงจัดพร้อมกันไม่ได้
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำประชามติ การเลือกตั้งส.ส. และการเลือกตั้งส.ว. ล้วนต้องใช้เวลา เพราะมีความเปลี่ยนแปลงกติกากันใหม่ อย่างการจัดทำประชามติ ก็จะต้อมาคิดกันว่า จะทำอย่างไรให้คนที่เห็นแตกต่างกัน สามารถแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ และทำอย่างไรให้ประชาชนทราบรายละเอียดของรัฐธรรมนูญทั้งหมด
ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส.โจทย์คือ ระบบการลงคะแนน และนับคะแนน จะเป็นอย่างไร เพราะว่าภายใต้การออกแบบของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ประชาชนต้องลงคะแนน 3 อย่าง กกต. ต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในการเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้ง ส.ว. หากเป็นไปตามที่กรรมาธิการยกร่างฯ ได้วางกรอบไว้ในเบื้องต้นนี้ กระบวนการยิ่งซับซ้อนมากขึ้น
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ให้ข้อคิดถึงเรื่องการทำประชามติว่า อยากให้นักการเมือง รวมทั้งประชาชน ได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการปรับแก้อย่างเป็นทางการก่อน อีกทั้งเรื่องนี้ยังมีผลเป็นสองด้าน คือ การสร้างความชอบธรรมด้วยการทำประชามติ หรือ อาจเป็นการสร้างความไม่ชอบธรรม จากการทำประชามติ เ พราะขณะนี้ยังไม่ทราบว่า จะทำประชามติทั้งฉบับแบบปี 2550 หรือจะทำประชามติ เป็นรายมาตรา
หากทำเป็นรายมาตรา แล้วไม่ผ่านบางมาตรา จะแก้ปัญหากันอย่างไร หรืออีกปัญหาหนึ่งคือ หาก สปช. เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนไม่เห็นด้วย จะทำอย่างไร หรือถ้าประชาชนเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ แต่ สปช.ไม่เห็นชอบด้วย จะทำอย่างไร ประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีการหาทางออกกันไว้ จึงเห็นว่า ไม่ใช่เวลาที่จะมาพูดถึงเรื่องประชามติกันในตอนนี้
ขณะที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้อ้างถึงคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ต้องดูเหตุการณ์ และสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา แล้ว คสช. จะเป็นผู้ตกลงใจ
แต่ในชั้นนี้ อยากเตือนสติสังคมว่า ที่ผ่านมาเวลาจะขอความเห็นชอบจากประชาชนในเรื่องใหญ่ๆ จะหลีกเลี่ยงปัญหาการเผชิญหน้าได้ยาก อย่างเช่นก่อนหน้านี้ ก็มีการเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการปฏิรูป ว่าควรจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง หรือปฏิรูปภายหลังการเลือกตั้ง จนกลายเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และลุกลามบานปลาย จนในที่สุด คสช.ต้องเข้ามายุติความขัดแย้งนี้
ดังนั้น ไม่อยากให้เหตุการณ์ซ้ำรอยเกิดขึ้นอีก จึงอยากให้สติสังคมว่า การให้ความคิดเห็นเรื่องต่างๆ รวมทั้งการทำประชามติ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ต้องมองผลดี ผลเสีย ให้รอบด้าน
บทสรุปในมุมมองของรัฐบาลคือ หากมีการทำประชามติ ก็จะเกิดการเผชิญหน้า เกิดความวุ่นวายขึ้นอีก ดังนั้นคำตอบมันชัดเจนอยู่แล้วว่า สุดท้ายแล้ว รัฐบาลและ คสช. จะให้มีการทำประชามติหรือไม่