xs
xsm
sm
md
lg

"บวรศักดิ์"โวยสื่อตัดตอนพาดหัว ขอโทษ"เรียนสูง ชั่วมาก"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (7 เม.ย.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงชี้แจงกรณีสื่อมวลชนบางสำนัก มีการตัดตอนคำพูดในการเสนอข่าวจนทำให้ตนได้รับความเสียหาย ในกรณีพาดหัวของสื่อมวลชนบางแห่งว่า "บวรศักดิ์"ซัดพวกเรียนสูงมักชั่วมาก และ "บวรศักดิ์"รับฟัง"บิ๊กตู่" ติงรธน.ชงส.ส.ไม่จบป.ตรี ชี้เรียนสูงชั่วมาก ว่าเป็นการตัดตอนคำกล่าวของตน จนทำให้เกิดผลกระทบในทางลบจำนวนมาก โดยได้นำเทปคำพูดในวันดังกล่าวมาเปิดให้สื่อมวลชนฟัง และเรียกร้องให้ช่วยแก้ไขข่าวให้ถูกต้อง ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนระมัดระวัง และตรวจสอบกันเองใน การนำเสนอข่าวที่ทันเหตุการณ์ แต่ข้อมูลผิดพลาด เพราะมีการก็อปปี้ข่าวในบางครั้ง แต่สำหรับสื่อที่ผิดพลาดครั้งแรก ตนไม่ถือสา แต่ถ้าบางฉบับอย่าให้ผิดซ้ำเป็นครั้งที่สาม ทั้งนี้อยากให้สมาคมวิชาชีพเข้าไปดูแลด้วย เพราะในรัฐธรรมนูญก็ร่างเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ แต่ในส่วนของตนไม่คิดว่าจะต้องระมัดระวังอะไร เพราะที่ผ่านมา ก็พยายามที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนน้อยที่สุด เพราะรู้ว่าบางครั้งอาจหลุดไปบ้าง
" เป็นเรื่องธรรมดา ผมรับตำแหน่งนี้จะไม่ค่อยได้ดอกไม้ ได้แต่ก้อนหิน โดยเฉพาะจากคนที่ไม่เห็นด้วย คำชมไม่ค่อยมี แต่ผมไม่น้อยใจเป็นสัจธรรม การมียศก็เสื่อมยศ การมีลาภก็มีการเสื่อมลาภ การนินทา มีสุขก็มีทุกข์ คู่กับโลกมาตั้งแต่ก่อนผมเกิด จะอยู่ต่อไปอย่างนี้จะไปเดือดเนื้อร้อนใจอะไร แต่ขอความเป็นธรรมในเวลาที่เกิดความเสียหาย และบิดเบือน" นายบวรศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายบวรศักดิ์ ให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน เหตุใดในจุลสาร ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จึงไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอำนาจของ คณะกรรมการปรองดองฯ เรื่องการยกร่างพระราชกฤษฎีกา นายบวรศักดิ์ กล่าวเลี่ยงว่า ตนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เขียนบทความในจุลสาร แต่ก็รับฟังข้อเสนอแนะไปเขียนอธิบายเพิ่มเติมได้ สำหรับในส่วนที่มีการเผยแพร่ไปแล้วนั้น ก็คงไม่สามารถทำอะไรได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าว นายบวรศักดิ์ ยังได้ยกมือไหว้ขอโทษคนที่เรียนสูงทุกคน โดยยืนยันว่า ไม่ได้มีความหมายอย่างที่สื่อมวลชนนำเสนอ เพราะตนเองก็จบด็อกเตอร์ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะด่าตัวเอง หากฟังข้อความทั้งหมดย่อมเข้าใจดีว่า คำพูดของตนมีความหมายอย่างไร
ต่อข้อถามถึงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่ออกมาเกือบสมบูรณ์ แต่มีประเด็นใดที่ถูกคัดค้านมาก นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ไม่อยากให้นักข่าวถามแต่นายกฯ แต่ให้ไปถามประชาชนที่ไม่มีเสียงบ้าง แล้วจะได้คำตอบ เพราะประชาชนที่เขารู้ว่า เนื้อหารัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร จะตอบแบบหนึ่ง แต่ ถ้าถามนักการเมือง ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคน บางคนที่ได้ประโยชน์ ก็ไม่พูด แต่นักการเมืองที่ไม่เห็นด้วย ก็เข้าใจ เช่น การจัดระบบบัญชีรายชื่อแบบโอเพ่นลิสต์ ก็เห็นใจบางพรรคที่รู้สึกว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากเดิมอยู่ในบัญชี ไม่ต้องหาประชาชนก็ได้รับเลือก แต่ต่อไปนี้ต้องไปเดินทุกคน จึงเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะมีการวิจารณ์ แต่อย่าเอาข้อยกเว้นมาเป็นหลัก เช่น กรณีนายกรัฐมนตรีคนนอก แก้ไขให้ใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อในยามวิกฤตไม่ต้องรบกวนเบื้องพระยุคลบาท หรือ ฉีกรัฐธรรมนูญ จึงขอให้เข้าใจว่า เป็นข้อยกเว้นอย่างมาก แต่กลับเอาไปพูดเสียจนกลายเป็นหลัก ส่วนที่มีนักการเมืองออกมาทักท้วงในหลายประเด็น ก็ไม่กังวลเพราะเป็นสัจจะ พิสูจน์ได้ทุกที่ ขอให้ได้อธิบายให้ประชาชนทุกคนเข้าใจก่อน ตนจึงไม่เคยกลัวประชามติ
เมื่อถามว่า การสำรวจของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เองก็พบว่า ประชาชนไม่เห็นด้วยกับนายกฯคนนอก รับฟังมากน้อยแค่ไหน นายบวรศักดิ์ ตอบอย่างมีอารมณ์ว่า คำถามอย่างนี้ไง ถึงยั่วอารมณ์นายกฯ และทุกคน มีประเด็นที่คนเห็นด้วย 75 % แต่ก็ไม่ถาม มาถามแต่สิ่งที่เขาไม่เห็นด้วย
ผู้สื่อข่าวแย้งว่า ที่ถามเพราะท่านบอกว่าให้ไปถามประชาชน จึงอยากทราบว่าในประเด็นที่ประชาชนไม่เห็นด้วยดังกล่าวไ ด้พิจารณาหรือไม่ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ก็นำมาพิจารณา ลองถามผู้สื่อข่าวที่ไปนั่งฟังก็จะทราบว่า นำความเห็นประชาชนมาพิจารณาทุกครั้ง จึงอยากให้ผู้ถามไปนั่งฟังด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบวรศักดิ์ พยายามตัดบท และยุติการแถลงข่าว ด้วยการเดินหนีออกจากโพเดียม แต่ผู้สื่อพยายามถามต่อว่า กรณีภาค 4 ของรัฐธรรมนูญ เรื่องการปฏิรูปและการปรองดอง ที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1 ว่า " บทบัญญัติในภาคนี้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูป และการสร้างความปรองดองตามหลักการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ" ทำให้คณะกรรมการปรองดอง มีอำนาจเสมือนรัฏฐาธิปัตย์ จะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือไม่ นายบวรศักดิ์ หันกลับมาตอบว่า ไม่มีเรื่องรัฏฐาธิปตย์เพราะอำนาจตาม ภาค 4 มีเฉพาะการปฏิรูป
แต่เมื่อผู้สื่อข่าวแย้งว่า ในบททั่วไปกำหนดว่า ก่อให้เกิดหน้าที่ต่อฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ หน่วยงานรัฐ และพลเมืองต้องปฏิบัติตามแนวทางการปฏิรูป และปรองดองตามบทบัญญัติในภาคนี้ นายบวรศักด์ ก็ยังคงยืนยันว่า มีเฉพาะเรื่องปฏิรูป และไม่มีการให้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ที่อยู่เหนือกฎหมาย อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ แต่คณะกรรมการตามภาคนี้ จะปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า แสดงว่ามีการเปลี่ยนเนื้อหาในบททั่วไป มาตรา 1 ภาค 4 แล้วใช่หรือไม่ นายบวรศักดิ์ ไม่ตอบคำถามนี้ พร้อมกับเดินหนีไป
สำหรับในภาค 4 การปฏิรูปและการปรองดองนั้น ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีการบัญญัติในบททั่วไป มาตรา 1 ว่า "บทบัญญัติในภาคนี้ ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และ พลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูป และการสร้างความปรองดองตามหลักการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ"
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า นายบวรศักดิ์ อ้างว่ามาตราดังกล่าวเกี่ยวข้องเฉพาะการปฏิรูปเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการปรองดอง แต่เนื้อหาที่บัญญัติ ไว้ชัดเจนว่า รวมถึงการปรองดองด้วย
**ตัด”ศาล”ออกจากความผูกพันในภาค 4
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ วันเดียวกันนี้ นายบวรศักดิ์ ได้นำประเด็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ ที่มีอยู่ในบททั่วไป ภาค4 ของร่างรัฐธรรมนูญ ไปหารือในที่ประชุม จนที่สุดได้ข้อยุติให้มีการปรับแก้ถ้อยคำใน มาตรา 277 บททั่วไป ภาค 4 การปฏิรูปและการปรองดอง โดยตัดศาลออกจากหน่วยงานที่ต้องผูกพันตามบทบัญญัติ ในภาค 4 และให้แก้คำว่า"หน้าที่" เป็น "ความรับผิดชอบ"
ทั้งนี้นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เห็นชอบให้มีการปรับแก้ข้อความในมาตรา 277 โดยตัดคำว่า “ศาล”ออก จากเดิมที่บัญญัติว่า " ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูป และการสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และปรับถ้อยคำจาก"หน้าที่" เป็น "บทบัญญัติในภาคนี้ก่อให้เกิด"ความรับผิดชอบ" แก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และ พลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการ และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ"
"บทบัญญัติดังกล่าว มีขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันของการปฏิรูปและการปรองดองให้สามารถเดินหน้าได้ แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม จะได้ไม่ต้องไปพูดอีกว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่รัฏฐาธิปัตย์อีก ทั้งที่มันไม่เกี่ยวกับรัฏฐาธิปัตย์เลย เพราะไม่ได้ให้มีอำนาจเหนือกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ หรือเป็นการยึดอำนาจ และไปห่วงเกินไปว่าจะไปถึงการนิรโทษกรรม ทั้งที่ในร่างรัฐธรรมนูญ เขียนไว้แค่การอภัยโทษเท่านั้น" นายบวรศักดิ์กล่าว
นายจรัส สุวรรณมาลา กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า หลักการในมาตราดังกล่าวนี้ เพื่อให้ทุกหน่วยงานต้องสนับสนุนการปฏิรูปและการปรองดอง เพราะที่ผ่านมามีปัญหาเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วรัฐบาลที่มาภายหลังไม่ยอมออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จึงต้องเขียนไว้ให้เกิดหลักประกัน ซึ่งการเขียนว่า หน้าที่ หรือ ความรับผิดชอบ นั้นในทางกฎหมายความจริงก็ไม่แตกต่างกันนัก เพียงแต่ยอมรับว่าที่เขียนไว้เดิม มันดูแข็งเกินไป
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวด้วยว่า แม้จะตัดศาลออกจากบททั่วไปดังกล่าว ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะเดิมก็ทราบอยู่แล้วว่า แม้จะระบุองค์กรศาล ก็เพียงให้มีผลต่อการบังคับคดี หรือการสนับสนุนด้านงานธุรกรรมของสำนักงานศาลเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาคดีอยู่แล้ว แต่การตัดคำว่าศาลออก สังคมจะได้สบายใจยิ่งขึ้น

**ส.ส.หญิงปชป.จวกระบบโอเพ่นลิสต์

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างน กำหนดสัดส่วน 1 ใน 3 ให้ผู้หญิงเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โควตานักการเมืองผู้หญิงในรัฐธรรมนูญ ว่า ถือเป็นการส่งเสริมที่สร้างอุปสรรคสำหรับโควต้าผู้หญิง ที่จะทำให้มีนักการเมืองหญิงน้อยลง เข้าทำนองตั้งใจดี แต่ไร้ผลประโยชน์ โดยเฉพาะประเด็นสัดส่วน 1 ใน 3 ที่ให้ผู้หญิงเป็นผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และประเด็นการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบโอเพ่นลิสต์นั้น หากคิดแยกส่วนก็พอจะเห็นเจตนาที่ดี ก็คือให้มีการปฏิรูปการเมือง โดยให้พื้นที่ผู้หญิงเข้ามาสู่งานการเมืองระดับชาติมากขึ้น และขณะเดียวกัน ก็ให้อำนาจประชาชนในการจัดอันดับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ป้องกันการเอานายทุนมาเป็นส.ส. ทั้งนี้ ในความเป็นจริง การเลือกแบบโอเพ่นลิสต์ ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ จะหาเสียงเดี่ยวไม่ได้ เพราะลงสมัครในนามพรรคการเมือง จึงต้องหาเสียงให้พรรค ซึ่งถือเป็นคนละรูปแบบกับการแข่งขันแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และหากจะแนะนำตัวเองก็คงทำได้แค่ผ่านสื่อออนไลน์ เพราะการไปเดินหาเสียง หรือแจกใบปลิวเพื่อตนเองให้ได้ชัยชนะ ก็เท่ากับการเหยียบหัวเพื่อน และเป็นการสร้างความแตกแยกในพรรค
" เมื่อพรรคส่งผู้หญิงคนเก่ง แต่ชาวบ้านไม่รู้จัก เธอหาเสียงไม่ได้ แล้วเธอจะได้เป็นนักการเมืองได้อย่างไร ดังนั้นแม้จะมีโควต้าให้ผู้หญิง 1 ใน 3 แต่เจอระบบโอเพ่นลิสต์แล้ว ผู้หญิงที่พร้อมสู่แวดวงการเมือง ก็คงต้องนอนก่ายหน้าผากกันเลย เพราะหากจะใช้แบบนี้เป็นกติกาเลือกตั้งจริง ผลที่จะตามมาก็คือ เราจะมีนักการเมืองหญิงน้อยลง และนี่ก็คือการส่งเสริม ที่สร้างอุปสรรค" น.ส.รัชดา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น