xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ปิ๊งตั้ง 15 อรหันต์ “คกก.สร้างปรองดองชาติ” เปลี่ยนคำว่า “นิรโทษกรรม” เป็นคำว่า “อภัยโทษ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” เผยร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เตรียมตั้ง “คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ใช้กรรมการ 15 คนจากผู้ทรงคุณวุฒิไม่ฝักฝ่ายการเมือง - ผู้นำขัดแย้ง ให้อำนาจเสนอชื่อบุคคลได้รับอภัยโทษ หากสำนึกผิด-ให้ข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อ ครม. แทนการนิรโทษกรรม ปฏิเสธมีอำนาจเหนือเสาหลัก “นิติบัญญัติ - บริหาร - ตุลาการ” อีกด้านหนึ่ง ออกจุลสารฉบับ 4 แจงวางหลักนิติธรรมให้ชัด วางเกราะคุ้มครอง ขรก. หัวแข็ง พร้อมแจงหลักทำงานของ อนุ กมธ. บันทึกเจตนารมณ์


วันนี้ (20 ก.พ.) ที่รัฐสภา ความคืบหน้าในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อเวลา 15.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าว่า ที่ประชุมได้พิจารณาในภาคที่ 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 3 การสร้างความปรองดอง และได้พิจารณากลไกเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการปรองดองได้ จึงได้บัญญัติว่า เพื่อให้มีการสร้างบรรยากาศของความสมานฉันท์ เสริมสร้างความปรองดองระหว่างคนในชาติให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคมประชาธิปไตยที่มีความแตกต่างหลากหลาย และสร้างแนวทางที่จะนำพาประเทศไปสู่ความมีเสถียรภาพและสันติสุขอย่างยั่งยืน ให้มี “คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ประกอบด้วย กรรมการไม่เกินสิบห้าคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นฝักฝ่ายทางการเมืองหรือความขัดแย้ง และผู้ซึ่งเป็นผู้นำความขัดแย้ง ส่วนที่มา วาระการดำรงตำแหน่ง อำหน้าหน้าที่ การดำเนินงาน หน่วยธุรการและการอื่นที่จำเป็นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติบัญญัติ

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีทั้งสิ้น 9 ข้อ ดังนี้ 1. ศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุแห่งความขัดแย้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้น และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ รัฐสภา 2. เสริมสร้าง ดำเนินการ และประสานงานให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และปรองดองในหมู่ประชาชนทั้งประเทศ ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และใช้กระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน และสร้างเครือข่ายในการสร้างความปรองดองในภาคส่วนต่างๆ 3. เป็นคนกลางในการประสานระหว่างผู้นำความขัดแย้งทุกกลุ่ม เพื่อลดหรือยุติความขัดแย้งระหว่างกัน 4. รวบรวมข้อเท็จจริงและทำรายงานเกี่ยวกับความขัดแย้ง การละเมิดกฎหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชน และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้กระทำ ทั้งนี้ การจะเปิดเผยชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลอื่นใดที่ทำให้ทราบได้ว่า เป็นผู้ใดไม่ได้เว้นแต่จะเปิดเผยตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติ

5. ให้การเยียวยาความเสียหาย แก่ผู้เสียหายและครอบครัวรวมทั้งฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ 6. เสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแก่บุคคลซึ่งให้ความจริงอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การดำเนินงาน และผู้กระทำซึ่งได้แสดงความสำนึกผิดต่อคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติแล้ว 7. ให้การศึกษาและเรียนรู้แก่สาธารณชนเพื่อให้ตระหนักถึงผลของความรุนแรง ความเกลียดชัง รวมทั้งความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้สันติวิธีแก้ปัญหาความรุนแรง ตลอดจนสร้างเครื่องเตือนใจให้สังคมรำลึกถึงผลร้ายและความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อจะร่วมกันป้องกันมิให้เกิดเหตุดังกล่าวอีก 8. ส่งเสริมและเสนอแนะการปฏิรูปเพื่อให้เกิความยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม โดยเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสังคมและเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อการดังกล่าวต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อเสนอต่อรัฐสภา และ 9. ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติบัญญัติ นอกจากนี้ ครม. รัฐสภา และหน่วยงานของรัฐต้องให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ รวมทั้งต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแก่การดำเนินการจของคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ

นายคำนูณ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราจะเห็นได้ว่าในมาตราว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ จะไม่มีคำว่า “นิรโทษกรรม” เราบัญญัติว่า “อภัยโทษ” เนื่องจากการนิรโทษกรรมต้องผ่านสภาและออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โดยผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมจะเท่ากับว่าได้ลบล้างโทษ และลบล้างความผิด แต่การอภัยโทษนั้น ความผิดยังคงอยู่แต่ให้อภัย ส่วนขอบเขตว่าผู้ที่จะได้รับอภัยโทษจะสำนึกผิดแค่ไหนหรือให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่คณะกรรมการมากน้อยเพียงใด คงต้องไปดูรายละเอียดในกฎหมายลูก อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นแค่เพียงผู้ริเริ่ม เมื่อทำเสร็จก็ยังต้องส่งไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิพิจารณาให้เป็นไปตามกระบวนการ ขณะที่ขั้นตอนการปฏิบัติเป็นอำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ คุณสมบัติของกรรมการทั้ง 15 คน และวิธีการคัดเลือก จะต้องติดตามในร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมความปรองดองแห่งชาติต่อไป โดยยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้มีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ

นายคำนูณ ชี้แจงถึงคำนิยามคำว่า “ผู้ซึ่งเป็นผู้นำความขัดแย้ง” ซึ่งเป็น 1 ในกลุ่มคนที่จะเป็นคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ว่า ตนเชื่อว่าจะไม่มีใครอยากเข้ามารับ “เผือกร้อน” เป็นคณะกรรมการฯ เพราะมีแต่จะโดนโจมตีจากทุกฝ่าย อีกทั้งจนถึงเวลานี้ก็ไม่มีใครยอมรับว่าตัวเองคือคู่ขัดแย้ง สุดท้ายหากหาไม่ได้ก็อาจต้องถึงขั้นไปขอร้องให้ช่วยมาเป็น ทั้งนี้ กมธ. ยกร่างฯ ก็จำเป็นที่จะต้องบัญญัติเรื่องการปรองดองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศมีทางเดินต่อไป

ด้าน คณะอนุกรรมาธิการสื่อสารกับสังคมในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ นั้น ได้ออกจุลสาร “รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปเป็นอย่างไร” ฉบับที่ 4 ประจำปักษ์หลังเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยจุลสารดังกล่าวมีบทความที่เขียนโดยสมาชิกของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เช่น นายบรรเจิด สิงคะเนติ ได้เขียนบทความเรื่อง “ศาลและกระบวนการยุติธรรม”, นายปรีชา วัชราชัย ได้เขียนบทความเรื่อง “รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปกับความเป็นธรรมที่ข้าราชการจะได้รับ' และ นายคำนูณ สิทธิสมาน เขียนบทความเรื่อง “บันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ”

โดยบทความ “ศาลและกระบวนการยุติธรรม” นั้น มีเนื้อหาสรุปว่าการร่างรัฐธรรมนูญ ภาค 3 ว่าด้วยหลักนิติธรรมศาลและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในส่วนหมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรมนั้น ได้มีการพยายามในการวาง 'หลักนิติธรรม' เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติกำหนดให้มีการดำเนินกระบวนยุติธรรมที่มีมาตรฐาน และมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ กำหนดให้มีหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการโดยเฉพาะมีการห้ามมิให้ข้าราชการอัยการจะต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ใดในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระของพนักงานอัยการ อีกทั้งในส่วนขององค์กรตุลาการ โดยเฉพาะในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญได้มีการปรับปรุงคณะกรรมการสรรหาตุลาการฯ ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น สำหรับศาลยุติธรรมกำหนดให้ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและคดีที่เกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินหรือยื่นเท็จ และในส่วนของศาลปกครองกำหนดให้มีแผนกคดีวินัยและการคลังและงบประมาณในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด

ส่วนบทความ “รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปกับความเป็นธรรมที่ข้าราชการจะได้รับ” นั้น ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ได้บัญญัติเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน” ไว้ และได้มีการแยกหมวดหมู่อย่างชัดเจนวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้แต่ละฝ่ายมีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่จะต้องมีซึ่งกันและกัน และควรจะปฏิบัติต่อกันและกันอย่างไร โดยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการบัญญัติ “คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม” เพื่อพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง โดยมีความเชื่อมั่นว่าข้าราชการจะได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและเชื่อมั่นได้ว่านักการเมืองที่มีคุณธรรมจะเห็นพ้องกับกระบวนการดังกล่าว อีกทั้งยังเชื่อมั่นว่าจะสามารถปิดช่องของระบบอุปถัมภ์ในราชการ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังมีการบัญญัติว่า “การสั่งการในการบริหารราชการแผ่นดิน ให้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษรเว้นแต่ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น อาจจะสั่งด้วยวาจาได้ แต่ให้ผู้รับคำสั่งบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและเสนอให้ผู้ลงนามในภายหลัง” และ “ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งไม่ดำเนินการตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย่อมได้รับความคุ้มครอง”

ซึ่งกรณีนี้เห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญได้มีการบัญญัติข้อนี้ไว้ จึงนับว่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญที่ทำให้ข้าราชการผู้ไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบสามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยจดบันทึกคำสั่งให้สั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรได้ เปรียบเสมืนเป็นการสร้างเกราะคุ้มกันให้แก่ข้าราชการแล้ว แต่ข้าราชการต้องหยิบเกราะนี้มาใช้คุมกันตนเองให้ปลอดภัยจากภยันตรายที่เห็นได้ชัดจากการไม่ปฏิบัติตามด้วย

และบทความ “บันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ” ได้ระบุถึงการทำงานของอนุฯ กมธ.บันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญและจัดทำจดหมายเหตุการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาสรุปว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงได้ให้ความสำคัญกับการบันทึกเจตนารมณ์ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดนี้ขึ้นมาทำงานควบคู่ไปกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและกำหนดให้บันทึกเจตนารมณ์ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์ ภายหลังจากการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จไม่นานนัก เพื่อให้ทาง กมธ. ยกร่างฯ พิจารณา ตรวจแก้ไข และรับรองบันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ โดยบันทึกฉบับสมบูรณ์จะได้กล่าวถึงที่มาของแต่ละมาตราตั้งแต่ในชั้นอนุกรรมาธิการด้านเนื้อหา ชั้นการตัดสินใจในคณะ กมธ.ยกร่างฯ ชุดใหญ่ ชั้นอนุกรรมาธิการยกร่างฯ รายมาตรา ชั้นเสนอการแก้ไขโดย สปช. ครม. และ คสช. และชั้นตัดสินสุดท้ายในคณะ กมธ. ยกร่างฯ โดยจะเป็นการบันทึกโดยสรุปแต่จะมีเชิงอรรถให้ตามไปค้นคว้าอ่านในบันทึกการประชุมของคณะ กมธ.ครั้งที่เกี่ยวข้อง และบันทึกชวเลขของการประชุมครั้งนั้นๆ ด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีบันทึกเจตนารมณ์สมบูรณ์มากที่สุด






กำลังโหลดความคิดเห็น