xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ตั้ง กก.อิสระเสริมสร้างความปรองดอง 15 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าการพิจารณารัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่า ได้พิจารณา ภาคที่ 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองหมวด 3 การสร้างความปรองดอง ในมาตราที่ 1 วรรคหนึ่ง ระบุว่า เพื่อให้มีการสร้างบรรยากาศของความสมานฉันท์ ให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการไม่เกิน 15 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่ฝักใฝ่ทางการเมืองหรือความขัดแย้ง และผู้ซึ่งเป็นผู้นำความขัดแย้ง ส่วนที่มา วาระการดำรงตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ การดำเนินงานหน่วยงานธุรการ และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ
ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ (1) ศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุแห่งความขัดแย้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้น และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขต่อคณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา (2) เสริมสร้าง ดำเนินการ และประสานงานให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และปรองดองในหมู่ประชาชนทั้งประเทศ ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้และใช้กระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน และสร้างเครือข่ายในการสร้างความปรองดองในภาคส่วนต่างๆ (3) เป็นคนกลางในการประสานระหว่างผู้นำความขัดแย้งทุกกลุ่ม เพื่อลดหรือยุติความขัดแย้งระหว่างกัน
(4) รวบรวมข้อเท็จจริงและทำรายงานเกี่ยวกับความขัดแย้ง การละเมิดกฎหมาย การละเมิดสิทธิมนุษยชน และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้กระทำ ทั้งนี้การจะเปิดเผยชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลอื่นใดที่ทำให้ทราบได้ว่า เป็นผู้ใดไม่ได้เว้นแต่จะเปิดเผยตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติ (5) ให้การเยียวยาความเสียหาย แก่ผู้เสียหายและครอบครัวรวมทั้งฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ (6) เสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแก่บุคคลซึ่งให้ความจริงอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การดำเนินงาน และผู้กระทำซึ่งได้แสดงความสำนึกผิดต่อคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติแล้ว
(7) ให้การศึกษาและเรียนรู้แก่สาธารณชนเพื่อให้ตระหนักถึงผลของความรุนแรง ความเกลียดชัง รวมทั้งความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้สันติวิธีแก้ปัญหาความรุนแรง ตลอดจนสร้างเครื่องเตือนใจให้สังคมรำลึกถึงผลร้ายและความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อจะร่วมกันป้องกันมิให้เกิดเหตุดังกล่าวอีก (8) ส่งเสริมและเสนอแนะการปฏิรูปเพื่อให้เกิความยุติธรรมในสังคม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม โดยเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสังคมและเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อการดังกล่าวต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อเสนอต่อรัฐสภา (9) ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติบัญญัติ นอกจากนี้ ครม. รัฐสภา และหน่วยงานของรัฐต้องให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ รวมทั้งต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแก่การดำเนินการจของคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ
สำหรับกระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติทั้ง 15 คน จะมีการกำหนดรายละเอียดไว้ในกฎหมายลูก เบื้องต้นเขียนไว้กว้างๆ ว่า คณะกรรมการฯมีไม่เกิน 15 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ และต้องไม่เป็นผู้ฝักฝ่ายทางการเมืองหรือความขัดแย้ง และผู้ซึ่งเป็นผู้นำความขัดแย้ง
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ไม่ได้มีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ แต่มีอำนาจเฉพาะ 2 เรื่อง คือ ดำเนินการและพิจารณาส่งเรื่องความปรองดองไปยังนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือกรณีการอภัยโทษก็เป็นไปตามขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการออกพระราชกำหนด หรือพระราชบัญญัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น