xs
xsm
sm
md
lg

ยันแก้พ.ร.บ.ศาลทหาร ไม่ลิดรอนสิทธิพลเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่องค์กรสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง ออกคัดค้านการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร และเรียกร้องให้สนช. หยุดการพิจารณากฎหมายดังกล่าว ว่า การแก้ไขกฎหมายดังล่าว ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิบุคคลใด และไม่ได้เพิ่มอำนาจให้ศาลทหาร ในการดำเนินการละเมิดสิทธิบุคคเพิ่มขึ้น แต่เป็นการปรับปรุง คุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับการควบคุมผู้ต้องหาของศาลทหาร ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาทั่วไป เช่น การให้ศาลตั้งทนายให้กับจำเลย การไม่ให้ศาลทหารพิพากษาเกินคำฟ้อง การเพิ่มระยะเวลาอุทธรณ์ และฎีกา จาก 15 วัน เป็น 30 วัน ยืนยันว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่มีประเด็นที่กระทบกับสิทธิของจำเลย หรือผู้ต้องหาในคดีที่ขึ้นศาลทหาร
อย่างไรก็ตาม แม้กฎอัยการศึกจะกำหนดให้คดีอาญาบางประเภท ต้องขึ้นสู่ศาลทหารนั้น แต่คสช.ก็ระมัดระวังการใช้เครื่องมือเหล่านี้เป็นอย่างมาก โดยคดีอาญาที่จะขึ้นศาลทหารได้ มีเพียง 2 ประเภท คือ 1. คีดหมิ่นสถาบันฯ และ 2. คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ซึ่งต่างไปจากอดีต คดีอาญาจำนวนมาก ที่ต้องขึ้นศาลทหาร สะท้อนให้เห็นว่า การคงกฎอัยการศึก และการมีศาลทหาร ก็จำกัดประเภทคดี และมีผู้ฝ่าฝืนจำนวนไม่มาก
นายพรเพชร กล่าวอีกว่า จะเห็นว่า ในทางปฏิบัติ การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และศาลทหาร มีขอบเขต มีการประนีประนอม ตามสังคมไทยที่ต้องอยู่ร่วมกัน แต่จำเป็นต้องใช้ เพื่อนำไปสู่บรรยาการปรองดอง และการเลือกตั้ง
เมื่อถามว่า ต่างชาติมองว่าการกำหนดให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร ทำให้ทหารมีอำนาจมากขึ้น นายพรเพชร กล่าวว่า หากจะดูเพียงบริบทของกฎหมาย ถือว่ามีอำนาจมากมาย แต่ในทางปฏิบัติ มีการจำกัดอำนาจการนำคดีขึ้นสู่ศาลทหารเพียงไม่กี่ประเภท และประชาชนส่วนใหญ่ ก็ไมได้ทำคดีเหล่านี้ เพราะไม่ใช่คดีอาญาโดยทั่วไปที่คนจะทำผิด
ต่อข้อถามควรจะคงกฎอัยการศึก จนถึงการเลือกตั้งหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า กฎอัยการศึก จะคงไว้อย่างน้อย เมื่อคสช.เห็นว่าสังคมเรียบร้อย เข้าใจ ไม่มีความขัดแย้ง นานที่สุดคงไว้ถึงขั้นตอนการเลือกตั้ง ส่วนการตั้งกรรมการปรองดองแห่งชาติ ตามข้อเสนอของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ยังไม่ทราบวัตถุประสงค์ และองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้ จึงไม่สามารถแสดงความเห็นใดๆได้ ขอศึกษารายละเอียดก่อน
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงองค์กรสิทธิมนุษยชน "ฮิวแมนไรต์วอตช์" กังวล เรื่องที่ สนช. จะพิจารณา พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 จะให้อำนาจทหารว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้ทำให้ทหารมีอำนาจเกินขอบเขต แต่เป็นการทำให้ผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ ที่มีความจำเป็น หรือนอกเหนือจากในพื้นที่ศาลโดยทั่วไป ให้มีอำนาจในพื้นที่นั้นอยู่ ทั้งนี้ตนขอยกตัวอย่าง เช่น ผู้บังคับการเรือจะนำเรือออกไปกลางทะเลในระยะไกล และเข้าไปในเขตนอกน่านน้ำ เพื่อปฏิบัติภารกิจในขบวนเรือนั้นๆ ขณะนี้กฎหมายมิได้ครอบคลุมอย่างชัดเจน ที่จะให้อำนาจการควบคุมตัว ผู้ที่กระทำความผิดบนเรือลำนั้นๆ จึงจะได้มีกฎหมายควบคุมที่ถูกต้อง ดังนั้นถือเป็นการกำหนดให้ชัดเจน ต่อการปรับแก้ไขใน พ.ร.บ. ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ซึ่งขอย้ำว่า ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด อีกทั้งกำลังพลก็มีกฎหมายอยู่แล้ว แต่จะให้มีความชัดเจน และสิ่งนี้จะทำให้เกิดความไม่เข้าใจ ตนก็ขอให้มีความเข้าใจ
เมื่อถามว่า ทางทหารจะเชิญ ฮิวแมนไรต์วอตช์ มาพูดคุย หรือไม่ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า คงต้องดูก่อน เพราะเราได้ชี้แจงไปแล้ว ถ้าเข้าใจก็จบไป ไม่จำเป็นต้องชี้แจงอะไร แต่อะไรที่ไม่เข้าใจเราก็พยายามสื่อให้เข้าใจ ซึ่งตนคิดว่าถ้าคนส่วนใหญ่เข้าใจแล้ว คนส่วนน้อยก็ต้องเข้าใจด้วย ถ้าไม่มีความเข้าใจก็ต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
"จริงๆ แล้วเรามีความจำเป็นต้องปรับแก้กฎหมายอีกหลายอย่าง กฎหมายทางทหารบางอย่างไม่ทันสมัย ซึ่งใช้มาตั้งแต่ ทศวรรษ 2490 จึงจำเป็นต้องปรับให้ทันสมัยขึ้น" พล.อ.อุดมเดช กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น