xs
xsm
sm
md
lg

คปก.เสนอให้คง5องค์กรอิสระ ค้านยุบรวมกก.สิทธิฯ-ผู้ตรวจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (11ก.พ.) คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ลงนามบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ”เพื่อนำไปสู่การเสนอแนวทางการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยมีความเห็นว่า
องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญที่จำเป็นจะต้องคงไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญ มี 5 องค์กร ได้แก่ 1. คณะกรรมการการเลือกตั้ง 2. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 3. ผู้ตรวจการแผ่นดิน 4. คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน และ 5. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
สำหรับกรณีข้อเสนอของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้มีการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น คปก. มีความเห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยหลักการแล้วทั้งสององค์กรทำหน้าที่แตกต่างกัน กล่าวคือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำ หรือการะละเลยการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนและกติกาอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี
ในขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้กรอบกฎหมายโดยที่การกระทำดังกล่าวอาจจะไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ได้ การรวมองค์กรกันจะทำให้การทำหน้าที่ขาดความชัดเจน และส่งผลให้ประชาชนขาดโอกาสในสิทธิที่ตนควรได้รับการคุ้มครอง
ดังนั้น คปก.จึงเห็นว่า ไม่ควรควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาประสิทธิภาพการทำงานของทั้งสององค์กรนั้น สำหรับผู้ตรวจการแผ่นดิน คปก. เสนอให้รัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกับองค์กรอื่น โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบจริยธรรม และการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คปก. เสนอให้คงไว้ซึ่งความเป็นอิสระ และอำนาจการฟ้องคดีของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการฟ้องคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง รวมถึงศาลยุติธรรม นอกจากนี้จะต้องกำหนดการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ยึดโยงกับภาคประชาสังคม และมีที่มาจากความหลากหลาย โดยคำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศด้วย
ด้านคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) คปก. มีความเห็นว่า กกต.ควรเป็นองค์กรที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นเช่นเดิม และจะต้องบริหารจัดการเลือกตั้ง และดำเนินคดีเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว โดยควรจัดทำระบบฐานข้อมูลที่มาของเงินบริจาคที่ถูกต้องและเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อช่วยลดปัญหาการซื้อเสียง นอกจากนี้กระบวนการการสรรหา กกต.จะต้องมีความเชื่อมโยงกับประชาชนเป็นสำคัญ
คปก.มีความเห็นต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ควรจะต้องแก้ไขระยะเวลาในการไต่สวนวินิจฉัยคดีให้มีความรวดเร็วขึ้น โดยเห็นว่าไม่ควรมี ป.ป.ช.จังหวัด และควรแยก ป.ป.ช.กับ ปปท. ออกเป็น 2 สำนักงาน โดยเสนอให้สำนักงานปปท. ขึ้นกับสำนักงานป.ป.ช. โดยให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ ทั้งนี้ การดำเนินคดีทุจริต จะต้องเป็นไปตามหลักการของกระบวนการยุติธรรม
ส่วนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คปก.เห็นว่า ควรบัญญัติอำนาจหน้าที่ของ คตง.ไว้ในระดับรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และให้เป็นองค์กรอิสระ โดยต้องคำนึงถึงที่มาการสรรหาคณะกรรมการ และการดำเนินการให้มีการฟ้องคดีอย่างรวดเร็ว เนื่องจากปัจจุบัน คตง. ต้องส่งสำนวนไต่สวนให้ป.ป.ช.ก่อน ทำให้คดีล่าช้าจนเป็นเหตุให้ขาดอายุความ หรือผู้กระทำผิดหลุดพ้นจากความรับผิดทางแพ่งได้
กำลังโหลดความคิดเห็น