xs
xsm
sm
md
lg

คปก.ค้านรวม ผู้ตรวจฯ-กสม. แนะแก้ประสิทธิภาพ ฉะหวังทำลายขบวนการสิทธิฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คณิต” นำ คปก.ตั้งโต๊ะแถลงค้าน กมธ.ยกร่างฯ ควบควม ผู้ตรวจฯ-กสม. ชี้ หลักพื้นฐานสององค์ต่างกัน แนะแก้ปัญหาประสิทธิภาพ แต่ต้องกำหนดให้รัฐ นักการเมือง ราชการ ทำตามข้อเสนอ 2 องค์กร ฉะเจตนาหวังยุบ กสม. ทำลายกระบวนการสิทธิมนุษยชนไทย อัดกำลังสร้างสัตว์ประหลาดตัวใหม่ จี้คิดให้ดี เชื่อเดินหน้าจริงไม่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรสิทธิในไทย



วันนี้ (11 ก.พ.) คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) นำโดยนายคณิต ณ นคร ประธาน คปก. ได้ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านมติของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มีการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นคณะผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชน โดยระบุว่า ไม่ควรควบรวมสององค์กรเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ คปก.ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาประสิทธิภาพการทำงานของทั้งสององค์กร โดยให้รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ให้ซ้ำซ้อนกับองค์กรอื่น โดยเฉพาะอำนาจในการตรวจสอบจริยธรรม และการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ และต้องให้ความเป็นอิสระรวมทั้งอำนาจในการฟ้องคดีของ กสม. นอกจากนั้น การสรรหา กรรมการ กสม. และผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องยึดโยงกับภาคประชาชน ข้อเสนอของ คปก.นั้นไม่ใช่มาจากความรู้สึก แต่มาจากการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นจากหลายด้าน

โดย คปก.ได้ส่งความเห็นดังกล่าว พร้อมกับข้อเสนอว่า องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ 5 องค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องคงไว้ในรัฐธรรมนูญและแต่ละองค์กร โดยแต่ละองค์กรต้องมีความอิสระในอำนาจหน้าที่ของตน ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา

ด้านนางสุณี ไชยรส รองประธาน คปก.กล่าวว่า กสม. และผู้ตรวจการแผ่นดิน มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน โดยผู้ตรวจฯ มีหน้าที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐบาล ที่ละเลยการปฏิบัติ ไกล่เกลี่ย และเยียวยาในบางภารกิจ แต่กรรมการสิทธิฯ เจตนารมณ์ของบการก่อตั้งสืบเนื่องจากหลักสากลในประเทศทั่วโลกจะต้องมีสถาบันสิทธิมนุษยชน และกระบวนการตรวจสอบของกรรมการสิทธิฯ ยังมากกว่ากฎหมายโดยจะตรวจสอบครอบคลุมไปถึงการกระทำละเมิดของรัฐ เอกชน และการกระทำทางปกครองที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ส่วนที่อ้างว่ามีการทับซ้อนการทำงานนั้นจริงๆไม่ได้ทับซ้อนกันเป็นสิทธิของประชาชนในการร้องเรียน อาจร้องเรียนซ้ำซ้อนกันแต่การตรวจสอบของแต่ละองค์กรก็จะยึดตามอำนาจหน้าที่ของตนที่มีอยู่

“เห็นว่าปัญหาของกรรมาธิการยกร่างฯ คือในเรื่องการเปิดรับฟังความคิดเห็นทำอย่างจำกัด ที่เปิดรับฟังก็ไม่ใช่เรื่องที่เข้มข้น มีคำถามง่ายๆ ว่าคุณจะยุบรวม ทำไมไม่ถามความเห็นของ กสม. หรือผู้ตรวจแบบจริงจัง ทำไมไม่ฟังความคิดเห็นประชาชนคนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน จากป่า ว่าทั้งสองหน่วยงานนี้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังพยายามบอกว่ายังมีเวลาที่จะให้ กสม. ผู้ตรวจฯ เสนอความเห็นต่อ สปช. ทั้งที่ก็มีข้อจำกัดว่าแม้ สปช.จะแปรญัตติค้าน แต่ถ้ากรรมาธิการยกร่างไม่เอาด้วยก็ต้องยืนตามกรรมาธิการยกร่าง ฉะนั้นต้นทางกรรมาธิการยกร่างต้องรับฟังความคิดเห็น และทบทวนความเห็นตนเอง ไม่ใช่รอให้ถึงสุดท้าย เพราะไม่มีหลักประกันอะไรเลย ท้ายที่สุดประชามติจะมีหรือเปล่าก็ยังไม่รู้เลย” นางสุณีระบุ

ขณะที่นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการ คปก.มองว่า มติกรรมาธิการดังกล่าวแท้จริงแล้ว คือ ความพยายามที่จะยุบกรรมการสิทธิฯ ถ้าดำเนินการจริงไม่เพียงทำให้คณะกรรมการสิทธิฯ หายไป แต่ยังจะทำให้เรื่องสิทธิมุนษยชนหายไปจากสังคมไทย ที่ผ่านมากรรมาธิการยกร่างพูดเพียงมิติเดียว คือมีการทำงานซ้ำซ้อนกัน การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ข้อเท็จจริงข้อจำกัดที่ทำให้การทำงานที่ผ่านมาของสององค์กรไม่มีประสิทธิภาพ เพราะหน่วยงานต่างๆ ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอของทั้งสององค์กรที่เสนอไป การแก้ปัญหาประสิทธิภาพจึงไม่ใช่การยุบรวม แต่ต้องไปแก้รัฐบาล รัฐสภา หน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติตามข้อเสนอที่ทั้งสององค์กรมีความเห็นเสนอไป รวมทั้งต้องมีการแก้ไขในเรื่องสรรหาคนให้ตรงกับงาน โดบคุณสมบัติคนที่จะมาเป็นกสม.ต้องเป็นคนที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นหลักส่วน ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องมีความรู้เรื่องการบริหารรประเทศ บริหารราชการ ต้องเลือกคนให้ตรงกับงาน ต้องเปิดให้การสรรหาที่มาจากประชาชน ให้เกิดหลากหลาย จึงจะแก้การได้คนตรงกับงานจะทำให้เกิดประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาไม่ใช่การควบรวมกัน อย่าบอกว่ายกระดับ เพราะไม่เข้าใจยกระดับอย่างไร

ส่วนนายสมชาย หอมลออ กรรมการ คปก.กล่าวว่า ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาพบว่า มีผู้มีอำนาจ และเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่ง ไม่ชอบคำว่าสิทธิมนุษยชน จึงตั้งข้อสังเกตว่าการยุบรวม เป็นขบวนการทำลายงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหรือไม่ แม้จะอ้างว่าเป็นการควบรวมและยกระดับ แต่ถ้าจะทำความเข้าในเรื่องนี้ต้องไปดูเจตนารมณ์ 40 ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้คำว่าผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็นแขนขา เป็นมือเป็นเท้าของรัฐสภาเพื่อการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ถือเป็นกระบวนการ ตรวจสอบถ่วงดุลภายในประเทศ ตรวจสอบโดยผู้ตรวจฯ จะตรวจสอบดูว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาหรือไม่ แต่ปัจจุบันไปเพิ่มอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินมากมาย ให้ตรวจสอบตรวจสอบนักการเมืองเบี่ยงเจตนารมณ์ต้นกำเนิดทำให้ภารกิจผู้ตรวจการแแผ่นดินเบลอไป การปฏิรูปต้องให้ผู้ตรวจกลับไปสู่จุดเดิม คือกลับไปเป็นแขนขารัฐสภา ส่วนกสม.เป็นการตรวจสอบทั้งประเทศ ทั้งรัฐสภา รัฐบาล ตุลาการ ว่าได้ยึดถือปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนหรือไม่ โดยเฉพาะตามพันธกรณีระหว่างประเทศ อย่างน้อยตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน 7 ฉบับยังไม่รวมอนุสัญญา และกฎบัตรสหประชาชาติอีก ในแง่นี้ กสม.จึงมีภารกิจในการเชื่อมโยงระหว่างรัฐและการปฏิบัติของรัฐในประเทศกับหลักสิทธิมนุษยชนนานาชาติ จะต้องมีการจัดทำงานรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหลักการและแนวทางของสององค์กร ต่างกันโดยพื้นฐาน แม้การปฏิบัติบางเรื่องซ้อนกัน แต่มุมตรวจสอบต่างกัน

“ปัญหาคือรัฐธรรมนูญ 50 ทำให้ กสม. และผู้ตรวจฯ หันเหและบิดเบือนออกจากบทบาทที่แท้จริง โดยเฉพาะการสรรหาที่ทำให้กรรมการสิทธิเป็นภาคราชการมาก เช่น กรรมการสรรหา 7 คน ส่วนใหญ่ประกอบด้วยผู้พิพากษา ห่างเหินจากประชาชน เกิดปัญหา กสม.ไม่สามารถตอบสนองภารกิจ จนจะถูกลดเกรดโดยไอซีซี ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็อยู่ภายใต้ระบบราชการ ทำงานล่าช้าไร้ประเสิทธิภาพ ต้องแก้จุดนี้ การยุบรวมจะทำให้ภารกิจ กสม.เบลอและบิดเบือนมากยิ่งขึ้น ซ้ำยังเป็นการเอาคนที่มีพื้นฐานในเรื่องราวต่างกันมาทำงานร่วมกัน จะยิ่งเกิดการชักเย่อ ขัดแย้งกัน จะกลายเป็นต้นไม้แคระ เป็นต้นไม้ประหลาด หรือสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งที่เรียกว่าผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิประชาชน และก็จะไม่ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศ ที่เมื่อสัปดาห์ก่อนก็มีกว่า 40 องค์กรแล้วที่ออกมาแสดงการคัดค้านการยุบรวม ซึ่งก็จะทำให้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยหนักหน่วงรุนแรงยิ่งขึ้น

อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยกำลังถูกจับตามองจากนานาชาติ และคนในสังคมว่าเรากำลังจัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหาร หากทำไม่ดีก็คิดว่าจะเป็นปัญหา ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯควรทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ดีกว่าเดิม และฟังเสียงของผู้ที่เกี่ยวข้องให้มาก” นายสมชายระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น