xs
xsm
sm
md
lg

แนะแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม แก้ระบบล้าหลัง ช่วยย่นเวลาพิจารณาคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แนะแยกศาลแรงงาน ออกจากศาลยุติธรรม เป็นระบบศาลคู่ ช่วยย่นเวลาพิจารณาคดี ประธาน คปก. ชี้ระบบศาลแรงงานล้าหลัง ผู้นำแรงงาน หนุนหากแยกได้ ส่งผลดีต่อแรงงาน

 
 
วันนี้ (30 ม.ค.) ที่สำนักงานปฏิรูปกำหมาย จ.นนทบุรี ศ. คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวภายหลังประชุมรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานในระบบศาลคู่” ว่า คปก. เห็นว่า ต้องแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม มีศาลชั้นต้นทำหน้าที่สืบหาข้อเท็จจริงอย่างละเอียด และให้ศาลสูงสุดทำหน้าที่พิจารณาข้อกฎหมาย ซึ่งจะทำให้กระบวนการในการพิจารณาคดีมีความรวดเร็ว และรอบคอบมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้พิพากษาศาลแรงงาน ต้องพัฒนาองค์ความรู้ด้านกฎหมายแรงงานควบคู่กันไป เพื่อให้การพิจารณาคดีเกิดประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมา กระบวนการศาลแรงงาน มีผู้พิพากษา ซึ่งมีความรู้ด้านกฎหมายแพ่งเป็นหลัก แต่การพิพากษาแรงงาน ไม่ใช่เรื่องของการพิพาทระหว่างสองฝ่ายเหมือนคดีแพ่ง แต่มีรายละเอียดอื่นที่ต้องพิจารณา ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เคยเสนอประเด็นนี้ไปแล้วตั้งแต่ปี 2521 แต่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เห็นด้วย ทำให้ระบบศาลแรงงานไม่มีการพัฒนา อย่างไรก็ตาม จะเสนอข้อสรุปไปยังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หากแยกศาลแรงงานออกมา จะช่วยลดระยะเวลาการพิจารณาคดีด้านแรงงานให้มีความรวดเร็วขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา หลายคดีใช้ระยะเวลาพิจารณา 5 - 10 ปี หลายคนต้องยอมความในขั้นตอนไกล่เกลี่ย และบางคดี แรงงานต้องเสียค่าใช้เอง เช่น ขั้นตอนการยึดทรัพย์ ที่ลูกจ้างต้องจ่ายเงินไปก่อน โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ จึงอยากให้นำเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มาช่วยเหลือในการต่อสู้คดีของลูกจ้าง และมีเงินใช้จ่ายระหว่างการต่อสู้คดี ซึ่งคาดว่า หากการแยกศาลแรงงานจริงจะเกิดประโยชน์อย่างมากให้กับผู้ใช้แรงงาน

น.ส.ฉันทนา เจริญศักดิ์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า เชื่อว่า หลังเปิดประชาคมอาเซียน กลุ่มแรงงานจะเป็นลูกค้าหลักของศาลฎีกา ซึ่งขณะนี้ ศาลยุติธรรม อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย โดยจะมีการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนาญพิเศษ ซึ่งพิจารณาและตัดสินคดีที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ เช่นคดีด้านแรงงาน รวมถึงแก้ข้อกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคดี ซึ่งจะรู้ว่าคดีเริ่มต้นและสิ้นสุดเมื่อใด นอกจากนี้ จะเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อให้เอื้อต่อการพิจารณาคดีที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษด้วย ทั้งนี้ ยอมรับว่า ปัจจัยที่ทำให้การพิจารณาคดีมีความล่าช้า เนื่องจากปัจจุบันคดีที่ต้องพิจารณามีจำนวนมาก ประกอบกับประเด็นข้อพิพาท มีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่อัตรากำลังของเจ้าหน้าที่มีน้อย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น