xs
xsm
sm
md
lg

ยกเลิก "กองทุนการออมฯ" "รัฐบาลบิ๊กตู่"อ้างฟังไม่ขึ้น

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด


ข่าวปนคน คนปนข่าว

สถานการณ์บ้านเมืองดูเหมือนจะเริ่มร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี 2558 เพราะมีแต่ประเด็นแหลมคมที่ท้าทาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ว่าจะสามารถบริหารบ้านเมืองให้เกิดการปฏิรูปได้สมราคาคุยหรือไม่

เพราะพล.อ.ประยุทธ์ มักพูดเสมอว่า เข้ามาทำหน้าที่แก้ปัญหาที่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยแก้ไขได้ แต่ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะไม่ง่ายอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูด เนื่องจากการปฏิบัติที่ผ่านมานอกจากยังไม่เห็นผลงานการปฏิรูปแล้ว ยังไม่มีการสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปตามมติ สปช. ตามที่เคยให้สัญญาไว้กับประชาชนด้วย

ทำให้เกิดคำถามว่าพล.อ.ประยุทธ์ ใช้การบริหารประเทศโดยยึดแนวคิดของรัฐบาลเป็นที่ตั้ง ไม่สนใจมติสปช. ที่นำเสนอแนวทางการปฏิรูปในหลายเรื่อง เพื่อคุ้มครองและรักษาสิทธิของประชาชน

ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายการละเมิดสัญญาประชาคมที่ให้ไว้กับคนไทยหรือไม่!!

แม้ว่าในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 จะไม่ได้บัญญัติมาตรการผูกมัดให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของสปช. โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ของสปช.ไว้ใน มาตรา 31 (1) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆ ตามมาตรา 27 เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ในการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุไว้ชัดเจนว่า

“รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนและเอื้ออำนวยให้การปฏิบัติหน้าที่ของสปช.ดำเนินการไปด้วยความรวดเร็ว มีอิสระ ได้แนวทางที่เป็นรูปธรรม และบังเกิดผลสัมฤทธิ์”

นั่นหมายถึงว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะผลักดันข้อเสนอของสปช.ให้เห็นเป็นรูปธรรม และบังเกิดผลสัมฤทธิ์ แต่นอกจากพล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ผลักดันข้อเสนอ สปช.แล้ว ยังมีการดำเนินการตรงกันข้ามกับข้อเสนอของ สปช.ด้วย

เริ่มตั้งแต่กรณีกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่ง สปช. มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 212 เสียง เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2554 แต่ถูกรัฐบาลเพื่อไทยดองไว้ แต่แทนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะเร่งรัดดำเนินการตามมติ สปช. กลับมีแนวทางที่จะยกเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อมาใช้ทางเลือกที่สาม ในมาตรา 40 ตามกฎหมายประกันสังคม ซึ่งเป็นการสานต่อนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ไม่ยอมเดินหน้ากองทุนการออมแห่งชาติ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลประชาธิปัตย์ โดยมีการขยายความคุ้มครองตาม มาตรา 40 ให้แรงงานนอกระบบที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สมัครเป็นผู้ประกันตนได้ แต่เปิดโอกาสให้แค่เพียง 1 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 -8ธันวาคม 2557

การขยายความคุ้มครองใน มาตรา 40 จึงครอบคลุมเฉพาะกรณีชราภาพเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากกองทุนการออมแห่งชาติ ที่มีฐานสมาชิกตั้งแต่อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ถึง 60 ปี ครอบคลุมแรงงานนอกระบบราว 25 ล้านคน

น่าแปลกใจที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะเดินตามก้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยระบุว่าจะผลักดันกองทุนการออมแห่งชาติ แต่กลับเปลี่ยนท่าทีจากหน้ามือเป็นหลังมือ มาเป็นการเดินตามรอยรัฐบาลเพื่อไทยโดยมีลำดับความเป็นมา ดังนี้

24 พ.ย.57 ครม.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อเป็นเงินออมให้กับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม และไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพื่อความมั่นคงในวัยชรา โดยรัฐจะสมทบการออม เช่น อายุไม่เกิน 30 ปี รัฐบาลจะส่งเงินให้ปีละ 3 พันบาท อายุเกิน 50 ปี รัฐบาลส่งเงินให้ปีละ 6 พันบาท โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เป็นผู้รับผิดชอบ และจะมีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนการออมแห่งชาติ แต่งตั้งเลขาฯขึ้นมาดูแล โดยมีการตีปี๊บว่าเป็นผลงานที่มอบเป็นของขวัญให้กับประชาชน

16 ธ.ค.57 สมหมาย ภาษี รมว.คลัง ขอถอนเรื่องแนวทางการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ตามพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 ออกจากการพิจารณาของครม. โดยระบุว่า “ขณะนี้ได้มีพ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 40 (3) คอยดูแลผู้สูงอายุอยู่แล้ว ซึ่งมีความซ้ำซ้อนกันอยู่ กระทรวงการคลังจึงขอถอนเรื่องออกจากวาระครม. อย่างไม่มีกำหนด เพื่อกลับไปศึกษาให้รอบคอบว่าจะเดินหน้าจัดตั้งกองทุน กอช. ต่อไปหรือไม่อย่างไร”

22 ธ.ค.57 สปช.มีมติเอกฉันท์เสนอให้รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการตามพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 เพราะมีความมั่นคงในหลักประกันของประชาชนและมีฐานสมาชิกที่มากกว่าทางเลือกที่ 3 ตาม มาตรา 40 ในกฎหมายประกันสังคม

5 ม.ค.58 รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง “คงต้องเสนอให้ยกเลิกกฎหมาย กอช. เนื่องจากระดับนโยบายต้องการส่งเสริมการออมแรงงานนอกระบบผ่านประกันสังคมมากกว่า”

ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ในขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อ้างว่าต้องไปศึกษาอีกรอบว่าจะคงกองทุนการออมแห่งชาติ หรือยุบไปรวมกับกองทุนประกันสังคมนั้น ความจริงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ได้ศึกษาเรื่องเหล่านี้มีรายงานต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อ วันที่ 26 พ.ย.57 โดยมีบทสรุปชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างกองทุนประกันสังคม กับกองทุนการออมแห่งชาติ ว่า “ระบบสวัสดิการ”และ “ระบบการออมเพื่อการเกษียณ”มีความแตกต่างที่ควรจะแยกออกจากกัน โดยเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ในบางมาตรา เพื่อเพิ่มผลประโยชน์ให้สมาชิกได้รับไม่น้อยกว่าความคุ้มครองภายใต้กองทุนประกันสังคม และออกกฎกระทรวง เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานของ กอช. รวมถึงแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องภายใต้กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม

การอ้างว่ามีความซ้ำซ้อนระหว่างกองทุนการออมแห่งชาติ กับทางเลือกที่ 3 ตาม มาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ทำให้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม จึงเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น และชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีเจตนาที่จะยกเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ ไปรวมกับกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นการดับความฝันคนไทยที่จะมีบำนาญประชาชน ผ่านการออมร่วมกับรัฐ

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ คณิต ณ นคร เป็นประธาน ได้ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกองทุนการออมแห่งชาติ กับการเพิ่มทางเลือกใน มาตรา 40 พระราชบัญญัติประกันสังคมแล้ว มีบทสรุปว่า การเดินหน้ากองทุนการออมแห่งชาติ จะมีประโยชน์ต่อสาธารณะในการเพิ่มสวัสดิการให้กับประชาชนได้มากกว่าการนำไปรวมกับกองทุนประกันสังคมตาม มาตรา 40

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ให้เหตุผลว่า พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นการเปลี่ยนแนวคิดจากการสงเคราะห์ มาเป็นการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาการออมแห่งชาติในอนาคต หากจะมีการยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ ต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนและชอบธรรม ว่ามีคุณค่าเหนือกว่ากฎหมายเดิม

แม้ว่ากองทุนการออมแห่งชาติ อาจจะสร้างภาระผูกพันระยะยาวต่อสถานะการคลังของประเทศ ที่ต้องจัดสรรงบประมาณไปสมทบในแต่ละปีราว 2.2 หมื่นล้านบาท แต่เป็นการดูแลคนไทย บนหลักคิดที่ไม่ใช่การแบมือขอจากรัฐ เพราะเป็นการออมเงินร่วมกันระหว่างประชาชนกับรัฐบาล นอกจากจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและยั่งยืนแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังทัศนคติสร้างความรับผิดชอบร่วมระหว่างประชาชนกับรัฐ

ถ้ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะยกเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ ต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนและชอบธรรมว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่าอย่างไร ไม่ใช่อ้างแบบมักง่ายว่า มีความซ้ำซ้อนกัน ระหว่างกองทุนการออมแห่งชาติ กับมาตรา 40 ในกฎหมายประกันสังคม เพราะเป็นคนละกองทุนกัน อีกทั้งแต่ละกองทุนยังมีหน้าที่แตกต่างกันด้วย เนื่องจากกองทุนประกันสังคม เป็นระบบสวัสดิการ ในขณะที่กองทุนการออมแห่งชาติ เป็น ระบบการออมเพื่อการเกษียณ

หากยังดึงดันที่จะเดินตามรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เลิกอวดอ้างว่าเป็นรัฐบาลเพื่อการปฏิรูปได้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น