xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูป-รธน.ต้องเปิดกว้างหยุดตั้งธงสืบทอดอำนาจ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ยังไม่ทันเริ่มต้นดีนักก็ทำท่าออกอาการไม่สนุกกันแล้วสำหรับเส้นทางปฏิรูปบ้านเมืองที่รออยู่ข้างหน้า เพราะเมื่อพิจารณาจากท่าทีของคน “คัดท้าย” อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ที่ไม่อยากเห็นการแสดงความคิดเห็นแบบหลากหลายจากภาคสังคมภายนอกมากเกินไป โดยอ้างว่าเกรงจะเกิดความขัดแย้งบานปลายจนทำให้ไม่ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการก็คือให้ทุกฝ่ายเสนอความเห็นเข้ามาผ่านทางหน่วยงานของรัฐที่มีจุดบริการในทุกจังหวัด เช่น ศูนย์ดำรงธรรม หรือแม้แต่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ที่ทำเนียบรัฐบาล รวมไปถึงให้เสนอความเห็นไปยัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งแน่นอนว่าวิธีการเสนอแบบนี้มันก็ย่อมทำได้ แต่หากเป็นข้อเสนอเรื่องแนวทางการปฏิรูปบ้านเมือง การนำเสนอความเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นแม่บทในการกำหนดกติกาขั้นสูงสุด การจะให้ไปเสนอผ่านทางศูนย์รับเรื่องของรัฐ มันดูแล้ว “บ้านๆ” ไม่ต่างกับการเข้ามาร้องเรียนความเดือดร้อนแล้วให้รัฐบาลลงมาช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ยังไงไม่รู้ ดูแล้ววังเวงสิ้นดี

แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือท่าทีปิดกั้นของ นายกรัฐมนตรี ต่อการเกิดขึ้นของ “สถาบันปฏิรูปประเทศ (สปท.)” ที่ถึงกับสั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองาม ลงไปตรวจสอบว่าสามารถประชุมระดมความคิดเห็นได้หรือไม่ และย้ำว่ารัฐบาล และ คสช. ยึดโยงอยู่กับสภาปฏิรูปแห่งชาติเพียงสภาเดียว ซึ่งมันก็ไม่ผิด เพราะเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เป็นผลต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารควบคุมอำนาจของ คสช. นั่นแหละ

เป็นคำพูดที่ไม่ผิด แต่ขณะเดียวกัน “ก็ไม่สมควรพูดออกมาแบบนั้น” เพราะการปฏิรูปบ้านเมืองทุกภาคส่วนสิ่งสำคัญที่สุดก็คือต้องระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ต้องขอความเห็น ส่วนจะ “ให้ความเห็น” หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องเริ่มต้นด้วยการแสดงท่าทีเปิดกว้างออกมาเสียก่อน และแน่นอนว่าการให้ความเห็นหรือเสนอความเห็นย่อมมีทั้งหวังดี หรือ “หวังดีแบบประสงค์ร้าย” ก็มี แต่ถึงอย่างไรก็ต้องรับฟัง เพราะถึงที่สุดแล้วชาวบ้านก็สามารถแยกแยะได้อยู่แล้ว ว่าสมควรจะฟังและคล้อยตามความคิดแบบไหน อาจเห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ อาจเห็นด้วยกับ “พิมพ์เขียว” ปฏิรูปที่มอบหมายให้สำนักปลัดกระทรวงกลาโหมไประดมความเห็นแล้วสรุปออกมาแล้วแจกให้ สมาชิก สปช. ไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจก่อนหน้านี้แล้วก็ได้

แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วแนวทางเรื่องการปฏิรูป รวมไปถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ย่อมมีกรอบที่ผ่านการพิจารณาจากองค์กรและหน่วยงานที่แต่งตั้งกันขึ้นมาก่อนหน้านี้ ทั้งในสมัยยุครัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ที่แต่งตั้ง คณิต ณ นคร เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ที่ศึกษานวทางการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง 9 ด้านครอบคลุมตั้งแต่ระดับส่วนกลางลงไปถึงระดับท้องถิ่น หรือแม้แต่ชุดของ อุกฤษ มงคลนาวิน ในนามคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรม (คอนธ.) ที่ตั้งโดย รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมไปถึงข้อศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า ที่มี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการ และยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ศึกษาเอาไว้อย่างละเอียด ซึ่งหลายเรื่องก็ตกผลึกเห็นตรงกันมาบ้างแล้ว อาจมีบางเรื่องหลักๆที่ต้องถกเถียงกันต่อ และไม่ใช่เรื่องแปลก ลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ความขัดแย้ง เพราะถ้าไม่เถียง ไม่เห็นต่าง สั่งซ้ายหันขวาหันได้นี่สิแปลกและอันตราย

ดังนั้น ท่าทีที่ขัดขวาง ไม่ยอมรับกับการเกิดขึ้นของ สถาบันปฏิรูปประเทศ (สปท.) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งที่สมาชิกหลายคนในสถาบันดังกล่าวก็เป็น สปช. และเชื่อว่าบางคนในนั้นต้องได้รับการเสนอชื่อเข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือมบทบาทสำคัญในสภาปฏิรูปแห่งชาติแน่นอน แต่ปฏิกิริยาที่ปรากฏเหมือนกับการ “ตัดบท” ห้ามคนอื่นเสนอความเห็นนอกจากหน่วยงาน หรือบุคคลที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว บรรยากาศแบบนี้เหมือนกับการเริ่มต้นด้วย “ระบบปิด” แทนที่จะเปิดกว้างเต็มที่ เพราะเชื่อว่ายังจะมีอีกหลายกลุ่มที่มีการตั้งองค์กรในลักษณะนี้ เพื่อทำงานและระดมความเห็นแบบคู่ขนาน หรือแม้แต่ควบคุมทิศทางการทำงานของ สปช. และกรรมาธิการยกร่าง รธน. โดยภาคประชาชน จะทำอย่างไร

แน่นอนว่าการป้องกันความขัดแย้งย่อมเป็นเรื่องดี แต่การห้ามการแสดงความเห็นจากภาคประชาชนอาจทำได้ชั่วคราวเท่านั้น จะห้ามตลอดไปไม่ได้ ขณะเดียวกัน การปฏิรูปย่อมต้องไม่มีบรรยากาศให้เห็นว่ามีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า หลักการต้องเปิดกว้างแบบมีส่วนร่วม ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีความหมาย ผลที่ได้จะสูญเปล่า ไม่มีทางที่จะออกมาเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และที่น่ากลัวที่สุดก็คือให้ระวังความรู้สึกจากสังคมว่าจะมีการเขียนกติกาเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” ไม่ว่าใครก็ตาม !!
กำลังโหลดความคิดเห็น