ผ่าประเด็นร้อน
ตอนแรกคิดว่าอารมณ์หงุดหงิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเกิดบางครั้งคราวเมื่อผลที่ออกมาไม่ได้ดังใจ หรือเจอกับคำถามของสื่อบางคนที่ให้คำตอบยาก ซึ่งอาจเป็นคำถามที่มีเจตนาซ่อนเร้น แต่ระยะหลังกลายเป็นว่า นายกฯคนนี้ดริ่มมีอารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ทึ่สำคัญกลายเป็นว่าเป็นคำพูดออกมาในลักษณะ “โต้เถียง” ในที่สุด
ภาพที่ปรากฏออกมากลายเป็นว่าจากการตอบคำถามของนายกรัฐมนตรีเหมือนกับว่าเขารับรู้เรื่องราวทุกเรื่อง กำลังดำเนินการแก้ปัญหาอยู่ทุกเรื่อง และย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นปัญหาหมักหมมมานานนับสิบปี ให้สำเร็จทันใจแบบชั่วข้ามคืนไม่ได้ ดังนั้นอย่าถามย้ำเซ้าซี้
ขณะเดียวกัน มีหลายเรื่องที่ ระยะหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระโดดเข้ามาปกป้องการันตีการทำงานของบางหน่วยงาน อย่างเช่นการปกป้องการทำคดีของตำรวจในดคีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่เกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเรียกร้องให้ประชาชนเชื่อมั่นการทำงานของตำรวจว่าถูกต้อง โดยระบุว่าหากคนไทยไม่เชื่อถือก็ยิ่งทำให้เสียหายแล้วต่อไปใครจะมาเชื่อ อย่างไรก็ดี กรณีที่เกิดขึ้นหากจะว่าไปแล้วความรู้สึกดังกล่าวเป็นผลมาจากผลงานและการทำงานในอดีตด้วย อีกทั้งในกระบวนการสืบสวนของตำรวจในช่วงแรกๆ ต้องยอมรับว่าได้สร้างความหวาดระแวง ทำให้เกิดความสงสัย ทั้งในเรื่องการเก็บหลักฐาน การตรวจสอบผู้ต้องสัยที่ออกมาในลักษณะของการเหวี่ยงแห กลายเป็น “ช่องโหว่” ให้สื่อยุคใหม่ในโลกออนไลน์ออกมาแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวางกระจายไปถึงต่างประเทศ ถ้าหากพิจารณาถึงที่มาที่ไปแล้วก็เป็นเพราะตำรวจทำให้สงสัยแล้วนำไปเชื่อมโยงกับพฤติกรรมในทางลบของตำรวจที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีการจับแพะบ่อยครั้ง และคราวนี้ก็คงใช่อีก
แต่บังเอิญว่าคดีที่เกิดขึ้นไปเกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นคนอังกฤษที่มีสื่อต่างประเทศคอยรายงานความเคลื่อนไหวให้ทราบตลอดเวลาเช่นเดียวกัน ซึ่งถูกมั่งผิดมั่ง บางครั้งก็อคติดูถูกเหยียดหยามเจ้าหน้าที่ไทยก็มีอยู่หลายครั้ง แต่นั่นก็เป็นเพราะเราหละหลวมเปิดช่องให้เขาโจมตีเอาได้
อย่างไรก็ดี วิธีพูดของนายกรัฐมนตรีก็ต้องบอกว่าต้องกำชับให้ตำรวจทำคดีอย่างรัดกุมที่สุด แน่นอนว่าการเชื่อมั่นการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่การพูดผ่านสื่อก็ต้องไม่ใช่เป็นลักษณะ “เถียงแทน” หรือใช้อารมณ์หงุดหงิดกับใครก็ตามที่เขายังไม่เชื่อถือการทำงานของทางการไทย เพราะนั่นจะยิ่งกลายเป็นการ “เอาชนะ” ไม่ใช่เป็นการพยายามหาพยานหลักฐานมาหักล้าง
เรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดอารมณ์หงุดหงิด อย่างล่าสุดก็ได้ปะทะคารมกับผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลที่ถามถึงผลการสอบสวนเรื่องการจัดซื้อไมโครโฟนในตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาลที่มีราคาแพงผิดปกติ รวมไปถึงเรื่องที่มีการกล่าวหาว่ามีบริษัทโฆษณาประชาสัมพันธ์ของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ได้รับงานมากผิดปกติ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องมีอารมณ์โต้คารมกับสื่อ
และหมาดๆ ก็คือ การออกมาตำหนิและปรามบรรดาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องแนวทางการปฏิรูปในด้านต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มประชุมทำงาน มองเผินๆ ก็น่าจะถูกต้อง เพราะยังไม่ทันเริ่มก็ดันมาทะเลาะเห็นแย้งกันแล้ว แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำความเข้าใจว่า สปช.ต้องทำหน้าที่แสดงความคิดเห็น และรับฟังความคิดเห็นจะให้คิดเห็นซ้ายหันขวาหันไปในทางเดียวกันย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะนั่นเท่ากับว่ามีการ “ล็อก” เอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งย่อมเกิดปัญหาตามมาในเรื่องการยอมรับจากสังคม เพราะต้องไม่ลืมว่าที่มาของ สปช. มาจาก คสช. ซึ่งความหมายก็คือเผด็จการนั่นแหละ เพียงแต่ว่าจะใช้วิธีเผด็จการไปทางไหน
ขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า สปช.พวกนี้ก็ให้ความเห็นไปตาม “พิมพ์เขียว” ทั้ง 11 ด้านที่สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม สรุปรวบรวมจากความคิดเห็นหลายฝ่ายก่อนหน้านี้ เพื่อกระชับเวลาอันจำกัดตามโรดแมป ไม่ใช้ว่าให้ความเห็นกันส่งเดช และยังเชื่อว่าการแสดงความคิดเห็นยิ่งมากยิ่งดี รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งสิ้น เพราะถึงอย่างไรการห้ามหรือปิดปากคนพวกนี้ย่อมทำไม่ได้แน่นอน
ดังนั้น ในภาพรวมการแสดงอารมณ์หงุดหงิดบ่อยครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะต้องไม่ลืมว่าเขาเป็น “คนคัดท้าย” การปฏิรูป การแก้ปัญหาที่หมักหมมของชาติต้องใช้ความหนักแน่นรัดกุม แต่กลายเป็นว่าเขากำลังตบะแตกเริ่มทนภาวะกดดันไม่ค่อยได้แล้ว โดยเฉพาะในสถานการณ์ไม่ปกติก็ยิ่งต้องการผู้นำ ที่สำคัญนี่เป็นแค่เริ่มต้นยังเป็นไปได้ถึงขนาดนี้ ระยะทางข้างหน้าที่เหลือจึงต้องลุ้นกันเหนื่อยแน่!