xs
xsm
sm
md
lg

คปก.จี้รัฐคุมเข้มการทวงถามหนี้นอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ... เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญให้ขยายขอบเขตการบังคับใช้ร่างพ.ร.บ. ให้ครอบคลุมถึงหนี้นอกระบบ และเห็นว่าการทวงถามหนี้ในประเทศไทย ยังมีลักษณะอื่นที่ไม่ใช่สินเชื่อส่วนบุคคลอย่างเดียว จึงปรับนิยามคำว่า “สินเชื่อ “เพื่อให้ครอบคลุมถึงหนี้ทุกประเภท และนิยาม “ลูกหนี้” ให้หมายความรวมถึง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล อีกทั้งยังกำหนดพฤติกรรมหรือลักษณะของการทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมให้ได้สัดส่วนกับโทษที่กำหนดโดยหากเป็นโทษทางอาญาจะต้องตีความอย่างเคร่งครัดและกำหนดฐานความผิดให้ชัดเจน พร้อมทั้งเสนอให้รัฐเข้าระงับข้อพิพาทระหว่างเอกชน โดยวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อลดปัญหาการทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม

จากการที่รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ...เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น โดยร่างพ.ร.บ. มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม เพื่อเป็นการคุ้มครองลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสม คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยคณะกรรมการเฉพาะด้านเรื่องกฎหมายเอกชนและธุรกิจ ได้เร่งดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งค้นคว้าจากเอกสารและบทความทางวิชาการ รวมทั้ง กฎหมายภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง จัดทำสรุปประเด็นรับฟังที่นำมาประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ... ดังนั้น คปก. จึงมีข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ในประเด็นสำคัญที่ต้องการให้ขยายขอบเขตการบังคับใช้ร่างพรบ. ฉบับนี้ ให้สามารถควบคุมผู้ทวงถามหนี้ในระบบ ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (Bank) และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Bank) และผู้ทวงถามหนี้นอกระบบ นอกจากนี้ ปัญหาการทวงถามหนี้ในประเทศไทยมีลักษณะอื่นที่ไม่ใช่สินเชื่อส่วนบุคคลอย่างเดียว จึงปรับนิยามจาก “สินเชื่อ” เป็น “หนี้” และให้สินเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของคำว่า “หนี้” ซึ่งจะครอบคลุมถึงหนี้ทุกประเภทและกำหนด “ผู้ให้สินเชื่อ” มีความหมายครอบคลุมถึงผู้ให้สินเชื่อที่เป็นบุคคลประเภทอื่นนอกเหนือจากสินเชื่อที่เป็นนิติบุคคล และกำหนดนิยาม “ลูกหนี้” ให้หมายรวมถึงบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เพื่อคุ้มครองลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลอีกด้วย

โดยเจตนารมณ์ของร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ ต้องการคุ้มครองลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม จึงกำหนดพฤติกรรมหรือลักษณะของการทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมให้ได้สัดส่วนกับโทษที่กำหนดโดยหากเป็นโทษทางอาญาจะต้องตีความอย่างเคร่งครัดและกำหนดฐานความผิดให้ชัดเจน ดังนั้น เมื่อรัฐบาลมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการติดตามทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม จึงจำเป็นต้องเข้ามาจัดการระงับข้อพิพาทระหว่างเอกชนโดยวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้มีกระบวนการเข้าสู่ระบบการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดปัญหาการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ผิดกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น