xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายแรงงานห่วงร่าง กม.ชุมนุมสาธารณะ ปิดกั้นสิทธิการเรียกร้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คสรท. หวั่นร่าง กม. การชุมนุมสาธารณะ กระทบสิทธิชุมนมเรียกร้อง ชี้ สังคม การเมือง แตกต่างกัน ไม่ควรอ้างอิง กม. จากต่างประเทศ แนะแยกชุมนุมทางการเมือง ออกจากสิทธิการเรียกร้อง เตรียมยื่นหนังสือต่อ สนช. - นายยกฯ ภายใน ธ.ค. นี้

วันนี้ (10 ธ.ค.) ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จัดเสวนาเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของแรงงานหรือส่งเสริมเสรีภาพในการชุมนุม 

นายสาวิทย์ แก้วหวาน รองประธาน คสรท. กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวกระทบต่อการใช้สิทธิชุมนุมของแรงงาน ที่ใช้สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเพื่อเรียกร้องในกรณีต่างๆ ซึ่งอ้างอิงมาจากรูปแบบกฎหมายของประเทศอื่น โดยไม่พิจารณาถึงสภาพแวดล้อม สังคม และการเมืองของไทยแตกต่างจากประเทศอื่น ที่มีสิทธิ มีส่วนร่วมมากกว่า ทำให้ไม่มีการเรียกร้องจำนวนมากเท่ากับไทย โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีการกำหนดระยะเวลา กำหนดพื้นที่ในการชุมนุม ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กำกับดูแล หากละเมิดก็จะมีโทษทางอาญา ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ หากสั่งให้เลิกชุมนึมก็ต้องทำตาม

นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า คสรท. ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ควรเชิญหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไปร่วมกันหารือถึงเนื้อหาของร่างดังกล่าว เพื่อแยกให้ชัดเจนระหว่างการชุมนุมทางการเมืองและการใช้สิทธิของประชาชนในการเรียกร้องเรื่องต่าง ๆ โดยภายในเดือนธันวาคมนี้ จะมีการยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี 

ด้าน นายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ในฐานะผู้แทนกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเน้นการลงโทษทางอาญา เช่น หากไม่แจ้งว่าจะมีการชุมนุมก่อนถึงเวลาชุมนุม 24 ชั่วโมง จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ ยังจำกัดพื้นที่การชุมนุมให้ออกห่างจากสถานที่ราชการ อย่างทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาและห้ามปิดกั้นพื้นที่ หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่สำคัญคือ ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสั่งยุติการชุมนุมได้ หากแกนนำไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิดฐานเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท

"ในร่างกฎหมายมีการระบุว่าคำสั่ง ข้อกำหนด ประกาศหรือการกระทำใดใดของเจ้าหน้าที่ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีการการปฏิบัติราชการทางปกครอง ทำให้ศาลปกครองไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ ระงับ คำสั่งหรือประกาศใดใด และที่สำคัญ มีการยกเว้นความผิดทั้งทางแพ่งและอาญาแก่การกระทำใดใดของเจ้าหน้าที่หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นไปโดยสุจริต จึงน่าห่วงในเรื่องการใช้อำนาจเกินเลย ซึ่งควรจะมีการปรับเนื้อหากฎหมาย กำหนดให้ชัดเจนในเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะระหว่างผู้ชุมนุมกับประชาชนทั่วไป ทั้งนี้การกำหนดให้แจ้งก่อนการชุมนุมควรปรับให้เป็นการแจ้งเพื่อทราบ ไม่ใช่การแจ้งเพื่อการขออนุญาต เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมและประชาชนที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน” นายไพโรจน์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น