xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานห่วงกม.คุมม็อบละเมิดสิทธิฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10 ธ.ค.) ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) จัดเสวนาเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำกัดเสรีภาพในการชุมนุมของแรงงานหรือส่งเสริมเสรีภาพในการชุมนุม
นายสาวิทย์ แก้วหวาน รองประธาน คสรท. กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว กระทบต่อการใช้สิทธิชุมนุมของแรงงาน ที่ใช้สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อเรียกร้องในกรณีต่างๆ ซึ่งอ้างอิงมาจากรูปแบบกฎหมายของประเทศอื่น โดยไม่พิจารณาถึงสภาพแวดล้อม สังคม และการเมืองของไทยแตกต่างจากประเทศอื่น ที่มีสิทธิ มีส่วนร่วมมากกว่า ทำให้ไม่มีการเรียกร้องจำนวนมากเท่ากับไทย โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีการกำหนดระยะเวลา กำหนดพื้นที่ในการชุมนุม ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กำกับดูแล หากละเมิด ก็จะมีโทษทางอาญา ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ หากสั่งให้เลิกชุมนุม ก็ต้องทำตาม

นายสาวิทย์ กล่าวอีกว่า คสรท.ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ควรเชิญหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไปร่วมกันหารือ ถึงเนื้อหาของร่างดังกล่าว เพื่อแยกให้ชัดเจน ระหว่างการชุมนุมทางการเมือง และการใช้สิทธิของประชาชนในการเรียกร้องเรื่องต่างๆ โดยภายในเดือนธันวาคมนี้ จะมีการยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ด้านนายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ในฐานะผู้แทนกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเน้นการลงโทษทางอาญา เช่น หากไม่แจ้งว่าจะมีการชุมนุมก่อนถึงเวลาชุมนุม 24 ชั่วโมง จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ ยังจำกัดพื้นที่การชุมนุมให้ออกห่างจากสถานที่ราชการ อย่างทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา และห้ามปิดกั้นพื้นที่ หากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่สำคัญคือให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสั่งยุติการชุมนุมได้ หากแกนนำไม่ปฏิบัติตาม ก็จะมีความผิดฐานเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท
"ในร่างกฎหมาย มีการระบุว่า คำสั่ง ข้อกำหนด ประกาศ หรือการกระทำใดใดของเจ้าหน้าที่ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีการการปฏิบัติราชการทางปกครอง ทำให้ศาลปกครองไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ ระงับ คำสั่งหรือประกาศใดใด และที่สำคัญมีการยกเว้นความผิดทั้งทางแพ่ง และอาญาแก่การกระทำใดใดของเจ้าหน้าที่หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นไปโดยสุจริต จึงน่าห่วงในเรื่องการใช้อำนาจเกินเลย ซึ่งควรจะมีการปรับเนื้อหากฎหมาย กำหนดให้ชัดเจนในเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะ ระหว่างผู้ชุมนุม กับประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ การกำหนดให้แจ้งก่อนการชุมนุมควรปรับให้เป็นการแจ้งเพื่อทราบ ไม่ใช่การแจ้งเพื่อการขออนุญาต เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมและประชาชนที่ใช้พื้นที่ร่วมกัน" นายไพโรจน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น