xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ เผยแนวคิดแก้กฎหมายสัมปทานต้องประมูลเปิดเผย โวปฏิรูปศึกษา-สาธารณสุขทั้งระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน (ภาพจากแฟ้ม)
กมธ.ยกร่างฯ ลดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มบทบาทท้องถิ่น แก้กฎหมายสัมปทานต้องประมูลเปิดเผย เปิดช่องไม่ใช้ประโยชน์ยกเลิกใบอนุญาต ฟุ้ง ปฏิรูปศึกษา - สาธารณสุขทั้งระบบ ลดอำนาจกระทรวงกระจายบทบาท - งบประมาณสู่ท้องถิ่น ยกระดับบริการสาธารณสุขให้เท่าเทียมกันทุกกองทุนฯ ตั้งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและการพัฒนามนุษย์วางระบบการศึกษาแทนนักการเมือง



วันนี้ (17 ก.พ.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ว่า มีการกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินและการจัดสรรงบประมาณดำเนินตามยุทธศาสตร์ระยะยาวและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สร้างกลไกให้มีบริการผ่านระบบสารสนเทศ ทบทวนภารกิจและบริการสาธารณะที่หน่วยงานรัฐจัดทำเพื่อลดความซ้ำซ้อน รวมถึงอาจให้ภาคเอกชน ภาคประชาชน หรือองค์กรบริหารท้องถิ่นเข้ามาดำเนินการได้

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงกฎหมายเรื่องการออกใบอนุญาตที่มีลักษณะผูกขาดให้สัมปทานหรือให้สิทธิในการประกอบกิจการใด ให้ใช้วิธีการประมูลโดยเปิดเผยเป็นหลัก เว้นแต่มีความจำเป็นคณะรัฐมนตรีอาจมีมติให้ดำเนินการได้ด้วยวิธีอื่นโดยต้องประกาศเหตุผลให้ทราบเป็นการทั่วไป และใบอนุญาตใดที่ไม่มีการดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตแล้วโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรให้ถือว่าใบอนุญาตนั้นสิ้นสุดลง และให้หน่วยงานของรัฐ ซี่งมีอำนาจออกใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ความจำเป็นของการมีใบอนุญาตนั้นต่อรัฐสภาทุก 5 ปี

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ตามรัฐธรรมนูญใหม่จะมีองค์กรบริหารภาคเป็นราชการส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคทำหน้าที่ให้การศึกษาและข้อเสนอแนะในการบริหารงานของหน่วยงานรัฐในพื้นที่ และให้มีคณะกรรมการอิสระว่าด้วยค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์เทียบเคียงค่าตอบแทนรวมทั้งเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนทุกประเภทกับค่าตอบแทนของเอกชน แจ้งให้รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทราบ แล้วประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไปทุกระยะตามที่กฎหมายบัญญัติ

ด้าน นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการปฏิรูปด้านสาธารณสุขที่จะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า มีสาระสำคัญสองเรื่อง คือ การปฏิรูประบบสุขภาพให้ความสำคัญระดับปฐมภูมิเน้นพื้นที่เป็นฐานมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งขณะนี้คือโรงพยาบาลตำบล เพราะเป็นด่านหน้าที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เน้นการสร้างนำซ่อมเพราะต้นทุนต่ำให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง บริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาลโดยองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมทุกกระบวนการเพื่อนำไปสู่สุขภาวะที่ยั่งยืนของสังคม ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณจะต้องกระจายไปยังพื้นที่ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบสุขภาพ

นอกจากนี้ มีการปฏิรูปกองทุนประกันสุขภาพ กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม ให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน เพราะปัจจุบันข้าราชการได้รับการดูแลมากกว่าประชาชน 6 เท่า เป็นความเหลื่อมล้ำ จึงต้องลดปัญหาให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม เน้นการมีส่วนร่วมทุกฝ่ายเพื่อดูแลภาพรวมและความยั่งยืนของการคลัง มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในการให้บริการสาธารณสุข ดังนั้น การบริหารต้องมีระบบธรรมาภิบาล สร้างความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ยกระดับกองทุนประกันสังคมให้มีคุณภาพมากกว่าเดิม เช่นเดียวกับการบริการประชาชนเพื่อให้มาตรฐานใกล้เคียงกับที่ข้าราชการได้รับการดูแล ทั้งนี้เชื่อว่าตามแนวทางนี้จะช่วยลดงบประมาณและทำให้การบริการด้านสาธารณสุขมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายอมรวิชช์ นาครทรรพ กรรมาธิการปฏิรูปการศึกษา กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาว่ากลุ่มเป้าหมายคือคนไทยทั้งประเทศ เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะในอนาคตประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทั้งนี้ จะเน้นหนักการศึกษาด้านทักษะให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก มีการออกแบบใหม่เน้นการกระจายอำนาจด้านการศึกษาเปลี่ยนบทบาทรัฐให้เป็นผู้กำกับนโยบายส่งเสริมให้การศึกษามีประสิทธิภาพ อำนาจจะไม่ได้อยู่ศูนย์กลางอีกต่อไป แต่เป็นการกระจายอำนาจไปในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ การจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวในแนวทางเดียวกับการประกันสุขภาพเพื่อให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพ เพิ่มโอกาสกระตุ้นการแข่งขันด้านคุณภาพทางการศึกษาด้วย

นายอมรวิชช์ กล่าวว่า เป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาจะเน้นการเรียนรู้ใหม่ในทางปฏิบัติมากขึ้น รวมถึงบ่มเพาะความเป็นพลเมือง ธรรมาภิบาลทุกระดับให้เกิดสังคมร่มเย็นให้เยาวชนเป็นคนเก่งและคนดี นอกจากนี้ จะมีการดูแลเด็กปฐมวัยซึ่งมีการทำงานหลายกระทรวงจึงต้องมีการปรับปรุงเพื่อดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ส่วนการปฏิรูประบบครูจะเน้นหนักแก้ปัญหาการบริหารงานบุคคลที่เป็นอุปสรรค ปรับปรุงระบบการแข่งขัน หรือการสอบ รวมทั้งโครงสร้างการบริหารจัดการการศึกษาทั้งระดับชาติและระดับพื้นที่รองรับการกระจายอำนาจ และต้องมีกลไกตรวจสอบเพื่อให้เกิดการบริหารที่มีธรรมาภิบาล ดังนั้นจึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทั้งหมด

“ที่ผ่านมา การปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จเพราะขาดความต่อเนื่องในนโยบายจากนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อมีการสร้างกลไกใหม่ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบจะทำให้ภาพใหญ่ของการศึกษาเดินหน้าได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายของพรรคการเมือง” นายอมรวิชช์ กล่าว

นางประภาภัทร นิยม เลขานุการคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้มีความแตกต่างไปจากที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลจัดสรรงบประมาณสูงมากแต่กลับมีปัญหาทั้งระบบ เนื่องจากมีการรวมศูนย์อำนาจบริหารไว้ส่วนกลางมากเกินไป จึงต้องกระจายอำนาจทั้งสามระบบ ให้การบริหารการเงินลงไปถึงผู้มีส่วนได้เสียมากขึ้นคือจัดตรงไปที่ผู้เรียน ในส่วนของบุคลากรจะต้องกระจายไปยังเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งการบริหารระบบการเรียนรู้จะต้องยกระดับคุณภาพผู้เรียน จึงต้องมีกลไกที่ทำให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงต้องมีคณะกรรมการระดับชาติทำหน้าที่กำหนดนโยบาย วางแผน ยุทธศาสตร์ กำกับติดตามให้เกิดการปฏิรูป เป็นองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ ทำงานครอบคลุมหลายกระทรวงเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีสถาบันวิจัยระบบการศึกษา และมีหน่วยงานทำหน้าที่บริหารการเงินเพื่อการศึกษาในรูปแบบที่จัดตรงไปที่ผู้เรียนโดยตรง รวมถึงการสร้างสมัชชาเครือข่ายด้านการศึกษา เพื่อให้ทั้งหมดเป็นกลไกในการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการทำงานครบทุกมิติ โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้จัดการศึกษามาเป็นส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้อื่นเข้ามามีส่วนในการจัดการศึกษามากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น