xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” โวยสื่อตัดทอนจบสูงชั่วมาก ยัวะถูกซักนายกฯ คนนอก-กก.ปรองดอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โวยบางสื่อตัดทอนคำพูดเรียนสูงชั่วมาก ขู่อย่าให้ผิดเป็นครั้งที่ 3 บี้สมาคมวิชาชีพเข้าไปดู บอกไม่น้อยใจได้แต่ก้อนหิน ไม่รู้ใครเขียนจุลสารไม่ระบุเนื้อหาอำนาจกรรมการปรองดอง พร้อมยกมือไหว้คนเรียนสูง อ้างไม่มีเหตุผลอะไรที่จะด่าตัวเอง หยันนักการเมืองโต้โอเพ่นลิสต์ไม่ต้องเดินไปหาประชาชนก็ได้เลือก โวยคำถามพวกค้านนายกฯ คนนอกยั่วอารมณ์ ยัน กก.ปรองดองไม่มีรัฏฐาธิปัตย์ ใช้เฉพาะปฏิรูป ก่อนเลิกแถลง

วันนี้ (7 เม.ย.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงชี้แจงกรณีสื่อมวลชนบางสำนักมีการตัดตอนคำพูดในการเสนอข่าวจนทำให้ตนได้รับความเสียหายในกรณีพาดหัวของสื่อมวลชนบางแห่งระบุ “บวรศักดิ์ ซัดพวกเรียนสูงมักชั่วมาก” และ “บวรศักดิ์ รับฟัง “บิ๊กตู่” ติง รธน. ชง ส.ส.ไม่จบ ป.ตรี ชี้เรียนสูงชั่วมาก” ว่า เป็นการตัดตอนคำกล่าวของตนจนทำให้เกิดผลกระทบในทางลบจำนวนมาก โดยได้นำเทปคำพูดในวันดังกล่าวมาเปิดให้สื่อมวลชนฟัง และเรียกร้องให้ช่วยแก้ไขข่าวให้ถูกต้อง ขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนระมัดระวังและตรวจสอบกันเองในการนำเสนอข่าวที่ทันเหตุการณ์แต่ข้อมูลผิดพลาด เพราะมีการก๊อบปี้ข่าวในบางครั้ง แต่สำหรับสื่อที่ผิดพลาดครั้งแรกตนไม่ถือสา แต่ถ้าบางฉบับอย่าให้ผิดซ้ำเป็นครั้งที่ 3 ทั้งนี้อยากให้สมาคมวิชาชีพเข้าไปดูแลด้วย เพราะในรัฐธรรมนูญก็ร่างเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญไว้ แต่ในส่วนของตนไม่คิดว่าจะต้องระมัดระวังอะไร เพราะที่ผ่านมาก็พยายามที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนน้อยที่สุด เพราะรู้ว่าบางครั้งอาจหลุดไปบ้าง

“เป็นเรื่องธรรมดา ผมรับตำแหน่งนี้จะไม่ค่อยได้ดอกไม้ ได้แต่ก้อนหิน โดยเฉพาะจากคนที่ไม่เห็นด้วย แต่คำชมไม่ค่อยมี ซึ่งผมไม่น้อยใจ เป็นสัจธรรม การมียศก็เสื่อมยศ การมีลาภก็มีการเสื่อมลาภ การนินทา มีสุขก็มีทุกข์ คู่กับโลกมาตั้งแต่ก่อนผมเกิด จะอยู่ต่อไปอย่างนี้จะไปเดือดเนื้อร้อนใจอะไร แต่ขอความเป็นธรรมในเวลาที่เกิดความเสียหายและบิดเบือน” นายบวรศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายบวรศักดิ์ให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน เหตุใดในจุลสารของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ จึงไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการปรองดองฯ เรื่องการยกร่างพระราชกฤษฎีกา นายบวรศักดิ์กล่าวเลี่ยงว่า ตนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้เขียนบทความในจุลสาร แต่ก็รับฟังข้อเสนอแนะไปเขียนอธิบายเพิ่มเติมได้ สำหรับในส่วนที่มีการเผยแพร่ไปแล้วนั้นก็คงไม่สามารถทำอะไรได้

โดยในการแถลงข่าว นายบวรศักดิ์ยังได้ยกมือไหว้ขอโทษคนที่เรียนสูงทุกคน โดยยืนยันว่าไม่ได้มีความหมายอย่างที่สื่อมวลชนนำเสนอ เพราะตนเองก็จบดอกเตอร์ ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะด่าตัวเอง หากฟังข้อความทั้งหมดย่อมเข้าใจดีว่าคำพูดของตนมีความหมายอย่างไร

ต่อข้อถามถึงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่ออกมาเกือบสมบูรณ์แต่มีประเด็นใดที่ถูกคัดค้านมาก นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่อยากให้นักข่าวถามแต่นายกฯ แต่ให้ไปถามประชาชนที่ไม่มีเสียงบ้างแล้วจะได้คำตอบ เพราะประชาชนที่เขารู้ว่าเนื้อหารัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรจะตอบแบบหนึ่ง แต่ถ้าถามนักการเมืองซึ่งก็ไม่ใช่ทุกคน บางคนที่ได้ประโยชน์ก็ไม่พูด แต่นักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยก็เข้าใจ เช่น การจัดระบบบัญชีรายชื่อแบบโอเพ่นลิสต์ ก็เห็นใจบางพรรคที่รู้สึกว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากเดิมอยู่ในบัญชีไม่ต้องหาประชาชนก็ได้รับเลือก แต่ต่อไปนี้ต้องไปเดินทุกคนจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการวิจารณ์ แต่อย่าเอาข้อยกเว้นมาเป็นหลัก เช่น กรณีนายกรัฐมนตรีคนนอกแก้ไขให้ใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อในยามวิกฤตไม่ต้องรวนเบื้องพระยุคลบาท หรือฉีกรัฐธรรมนูญ จึงขอให้เข้าใจว่าเป็นข้อยกเว้นอย่างมาก แต่กลับเอาไปพูดเสียจนกลายเป็นหลัก ส่วนที่มีนักการเมืองออกมาทักท้วงในหลายประเด็นนั้นไม่กังวลเพราะเป็นสัจจะ พิสูจน์ได้ทุกที่ ขอให้ได้อธิบายให้ประชาชนทุกคนเข้าใจก่อน ตนจึงไม่เคยกลัวประชามติ

เมื่อถามว่า การสำรวจของคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เองก็พบว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับนายกฯ คนนอกรับฟังมากน้อยแค่ไหน นายบวรศักดิ์ตอบอย่างมีอารมณ์ว่า คำถามอย่างนี้ไงถึงยั่วอารมณ์นายกฯ และทุกคน มีประเด็นที่คนเห็นด้วย 75% แต่ก็ไม่ถาม มาถามแต่สิ่งที่เขาไม่เห็นด้วย

ผู้สื่อข่าวแย้งว่า ที่ถามเพราะท่านบอกว่าให้ไปถามประชาชนจึงอยากทราบว่าในประเด็นที่ประชาชนไม่เห็นด้วยดังกล่าวได้พิจารณาหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ก็นำมาพิจารณาลองถามผู้สื่อข่าวที่ไปนั่งฟังก็จะทราบว่านำความเห็นประชาชนมาพิจารณาทุกครั้งจึงอยากให้ผู้ถามไปนั่งฟังด้วย

ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์พยายามตัดบทและยุติการแถลงข่าวด้วยการเดินหนีออกจากโพเดียม แต่ผู้สื่อพยายามถามต่อว่า กรณีภาค 4 การปฏิรูปและการปรองดอง ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1 ว่า “บทบัญญัติในภาคนี้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ” ทำให้คณะกรรมการปรองดองมีอำนาจเสมือนรัฏฐาธิปัตย์ จะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือไม่ นายบวรศักดิ์ หันกลับมาตอบว่า ไม่มีเรื่องรัฎฐาธิปัตย์เพราะอำนาจตามภาค 4 มีเฉพาะการปฏิรูป แต่เมื่อแย้งว่าในบททั่วไปกำหนดว่าก่อให้เกิดหน้าที่ต่อฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ หน่วยงานรัฐ และพลเมืองต้องปฏิบัติตามแนวทางการปฏิรูปและปรองดองตามบทบัญญัติในภาคนี้ นายบวรศักด์ก็ยังคงยืนยันว่า มีเฉพาะเรื่องปฏิรูป และไม่มีการให้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่อยู่เหนือกฎหมาย อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ แต่คณะกรรมการตามภาคนี้จะปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่าแสดงว่ามีการเปลี่ยนเนื้อหาในบททั่วไปมาตรา 1 ภาค 4 แล้วใช่หรือไม่ นายบวรศักดิ์ไม่ตอบคำถามนี้พร้อมกับเดินหนีไป

สำหรับในภาค 4 การปฏิรูปและการปรองดองนั้นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีการบัญญัติในบททั่วไป มาตรา 1 ว่า “บทบัญญัติในภาคนี้ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน และพลเมือง ที่ต้องจัดให้มีการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ” เป็นที่น่าสังเกตว่า นายบวรศักดิ์อ้างว่ามาตราดังกล่าวเกี่ยวข้องเฉพาะการปฏิรูปเท่านั้นไม่เกี่ยวกับการปรองดอง แต่เนื้อหาที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่ารวมถึงการปรองดองด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น