เกาะกระแส
00 ดูตามรูปการณ์แล้วแน่นอนว่าการยกเลิกกฎอัยการศึก และไปใช้บังคับ มาตรา 44 ใน รธน.ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 น่าจะเกิดขึ้นก่อนช่วงสงกรานต์นี้ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าหนักกว่าเก่า "เผด็จการ" กว่าเก่า โดยเฉพาะเสียงค้านจากพวกนักการเมืองว่าจะเป็นการมอบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียว
00 อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องไม่ลืมกันก็คือในปัจจุบันนี้ ม. 44 ยังใช้บังคับอยู่ในรธน. ไม่ได้มีการยกเว้นแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา คนที่ใช้อำนาจนี้ คือ หัวหน้าคสช. ซึ่งก็คือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นแหละ และเมื่อกำหนดในรธน. มันก็เหนือกว่า กม.ใดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ได้เลือกใช้กฎอัยการศึกที่มีอยู่คู่กันโดยผ่านกลไกของเจ้าหน้าที่ ทั้งตำรวจ ทหาร และผ่านทางศาล มากกว่า และในสายตาของต่างชาติ และนักลงทุน เมื่อพูดถึงกฎอัยการศึกเป็นต้องผวา ไม่มั่นใจ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นมา บริษัทประกันภัยก็ไม่รับผิดชอบ นอกเหนือจากการถูกมองด้วยหางตาว่า เราเป็นเผด็จการเต็มขั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงก็เหมือนอย่างที่ "บิ๊กตู่" และคสช. พยายามอธิบายนั่นแหละว่า ชาวบ้านทั่วไปไม่ได้เดือดร้อน นอกเหนือจากพวกที่จ้องป่วน คนทำผิด คนพวกนี้มันต้องเดือดร้อนแน่ อย่างไรก็ดี เมื่อมองจากภายนอกมันไม่งาม และยังกลายเป็นเงื่อนไขของพวกไม่หวังดีสร้างกระแสทำลายอีก เมื่อเป็นแบบนี้ก็ต้องลดแรงกดดันด้วยการยกเลิกในเร็วๆ นี้ !!
00 ดังนั้นเชื่อว่า เมื่อหันมาใช้ ม. 44 ซึ่งให้อำนาจ หัวหน้าคสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และศาล ในมือเบ็ดเสร็จ ก็คงต้องมีประกาศ คสช. ตามมาโดยพิจารณาจากท่าทีแล้วก็น่าจะออกมาเป็นการใช้อำนาจผ่านทางกลไกปกติ เพียงแต่ "ห้อยติ่ง" สามารถใช้อำนาจพิเศษในบางเรื่อง บางสถานการณ์ ไว้เป็นเครื่องการันตีในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งน่าจะออกมาแบบนี้มากกว่า !!
00 สำหรับการยกร่างรธน.ฉบับใหม่ จากการแถลงของประธานกมธ.ยกร่างฯ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ บอกว่า เวลานี้ร่างแรกได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว มี 315 มาตรา แต่ถึงอย่างไรยังอยู่ในกระบวนการขอแก้ไขปรับปรุงจากแม่น้ำ 5 สายในอนาคต ก่อนที่จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาโหวตใน สปช. ว่าจะรับหรือไม่รับ ถึงตอนนั้นค่อยมาว่ากันอีกที ซึ่งตามรูปการณ์ไม่ต้องมาตื่นเต้นกันหรอก ถึงอย่างไรก็ต้องผ่านอยู่แล้ว เพราะถ้าไม่ผ่าน ทั้ง กมธ.ยกร่างฯ และ สปช. ก็จะสิ้นสภาพ "ตายหมู่" พร้อมกัน ดังนั้นคงไม่มีใครอยากเสียประวัติแบบนั้นแน่นอน ก็เหมือนอย่างที่ ประธานบวรศักดิ์ กล่าวเอาไว้ว่า "เสียชื่อวงศ์ตระกูล" หมด นั่นแหละ ซึ่งความเคลื่อนไหวที่บางคนทำเป็นแสดงอาการฮึดฮัด ก็เหมือนกับการแสดงไปแบบนั้นแหละ เอาเข้าจริงก็ไม่มีอะไรหรอก ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น
00 ประเด็นเรื่องนายกฯคนนอก หรือเรื่องระบบการเลือกตั้ง ส.ส.- ส.ว. ก็เช่นเดียวกัน ที่มีเสียงคัดค้านแบบ "สามัคคีชุมนุม" กันของ เพื่อไทย กับประชาธิปัตย์ เป็นครั้งแรก ซึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นสันดานของพวกนักการเมืองได้เป็นอย่างดีว่า เมื่อใดก็ตามที่ไปกระทบผลประโยชน์ของตัวเอง โอกาสของตัวเอง สิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ มันก็เป็นไปได้เสมอ สำหรับนายกฯคนนอก ที่เขาเสนอเอาไว้เป็น "ทางเลือก" ทางหนึ่งเพื่อผ่าทางตันทางการเมืองในอนาคต ที่จริงหากพิจารณากันให้ละเอียด ก็จะพบว่าทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับ ส.ส.เองว่าโหวตเลือกใครมาเป็นนายกฯ เพราะถ้าไปเลือกเอาคนอื่นที่ไม่ใช่มาจาก ส.ส. ที่เป็นหัวหน้าพรรคเสียงข้างมาก แต่ดันไปเลือกเอา "ขุนทหาร" คนไหนมาเป็นนายกฯ มันก็ทุเรศเต็มที และที่สำคัญเขากำหนดเอาไว้ว่าให้โหวตขานชื่อกันโดยเปิดเผยในสภา ชาวบ้านชาวช่องเขาก็เห็นกันหมด มันก็จะได้รู้เช่นเห็นชาติกันอยู่แล้ว !!
00 ดังนั้นเชื่อว่าในประเด็นนี้ หากมีการอธิบายอย่างกว้างขวาง หรือเพิ่มกำหนดลงไปอีกว่า หากบังเกิดเลือกได้นายกฯ คนนอกเข้ามาจริงๆ ก็อาจกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ว่า ให้เป็นได้แค่ 1-2 ปี เท่านั้น แบบที่โฆษก กมธ.ยกร่าง คำนูณ สิทธิสมาน แย้มให้ฟัง ซึ่งก็เดาเอาว่า น่าจะเพื่อมาขัดตาทัพเข้ามาดูแลจัดระเบียบ ควบคุมการเลือกตั้งใหม่ แทนที่จะทำให้บ้านเมือง "ตัน" หาทางออกไม่เจอ แต่ทุกอย่างต้องเขียนให้ชัดเจน รัดกุม ซึ่งถ้าไม่มีเจตนา "หมกเม็ด" เพื่อ คสช.คนใดคนหนึ่ง มันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีก็ไม่น่าห่วง เพราะยุคนี้ชาวบ้านเขาจับได้ไล่ทันไม่ยาก ถ้าอยากเสี่ยงแบบนั้น ไม่สรุปบทเรียน ก็เอา เชิญตามสะดวก !!
00 ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญประจวบเหมาะกันพอดีหรือเปล่าว่า การที่ไทยกำลังถูกขึ้นบัญชีในกลุ่มที่ 3 เป็นประเทศที่ค้ามนุษย์รุนแรง จนเสี่ยงต่อการบอยคอตไม่ซื้อสินค้าจากไทยในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเมื่อพิจารณาจากการโพสต์ในเฟซบุ๊ก ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าในรัฐบาลของเธอได้มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม มีการเสนอรายงานส่งไปให้สหรัฐฯ พิจารณา แล้วพอใจ จนไม่ทำให้ไทยต้องตกอยู่ในประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดำดังกล่าว เออ มันก็แปลกดี เพราะถ้าพิจารณาจากความเป็นจริงจากในอดีตมาจนปัจจุบัน "การค้าทาส" ในระบบแรงงานมันไม่ได้ต่างกันเลย นี่ไม่ได้พูดในประเด็นว่าในสมัยใครดีกว่าใคร แต่พูดตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมสหรัฐฯ ถึงมาเข้มงวดเอาจริงเอาจังเอาในยุค คสช. แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเรายังต้องพึ่งพาตลาดจากเขา เราก็ต้องก้มหน้าแก้ไขกันไป !!