xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กมธ.ยกร่างฯยืนหยัดเจตนารมณ์ รัฐบาลผสม-ส.ว.หลากหลาย-นายกฯคนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ทำการอภิปราย ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างเสร็จ โดยประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายกันมาก จะอยู่ใน ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และระบบผู้แทนที่ดี ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ระบบการเลือกตั้งส.ส.แบบสัดส่วนผสม ที่มาส.ว. และเรื่องเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช.ได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่อง โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันที่เป็นอำนาจอธิปไตย กับประชาชน โดยเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในหลายจุด ยังขาดความเชื่อมโยงของประชาชนกับอำนาจฝ่ายบริหาร และยังซ่อนปมให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจ เหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนจากประชาชนโดยตรง

อาทิ มาตรา 147 วรรค 2 กรณีถ้ามีผู้เสนอเป็น ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน ต้องมีคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี หมายความว่า ผู้ริเริ่มกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน คือ ฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งจะมีหน้าที่เพียงแค่ให้ความเห็นชอบ

มาตรา 182 กำหนดให้นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภาว่า พ.ร.บ.มีความสำคัญ และเป็นนโยบายของรัฐบาล และถ้าสภาไม่เสนอญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ ภายใน 48 ชั่วโมง จะถือว่าสภาให้ความเห็นชอบ และหากสภายื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และรัฐบาลชนะ หมายความว่า ฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแพ้ ให้ถือว่าสภาแห่งนี้ให้ความเห็นชอบ 

แล้วถ้ารัฐบาล เสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง แล้วเป็นไปตามเกณฑ์นี้ ก็หมายความว่า สภาให้ความเห็นชอบกฎหมายนี้ แต่ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย จะเกิดอะไรขึ้น เพราะฝ่ายค้านก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ก็จะกลายเป็นจุดชนวนที่ทำให้ประชาชนออกมาบนท้องถนน และกลายเป็นวิกฤติการเมืองอีก

ในเรื่องการออกแบบการเลือกตั้ง เพื่อจุดมุ่งหมายให้มีรัฐบาลผสม เพื่อแก้ปัญหารัฐบาลที่ผูกขาดอำนาจ เหมือนในยุคทักษิณ ชินวัตร หรือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ถูกสมาชิก สปช.มองว่า จะได้รัฐบาลที่อ่อนแอ ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายในการบริหารประเทศได้ เพราะการจัดตั้งรัฐบาลก็จะกลับไปเป็นแบบแบ่งโควต้ารัฐมนตรี และการกำกับดูแลกระทรวงที่สำคัญๆ จะมีการต่อรองผลประโยชน์กันในพรรคร่วมรัฐบาลตลอดเวลา เหมือนยุคที่ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540
 
ดังนั้น แนวทางที่ถูกต้อง ควรจะมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ขณะเดียวกันก็ออกแบบให้มีองค์กรตรวจสอบที่เข้มแข็งด้วย น่าจะเป็นทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องกว่า

ในเรื่อง การเปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ก็เป็นอีกประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก

ทั้งนี้ ในตัวร่าง ระบุเป็นหลักการไว้ว่า สภาผู้แทนราษฎร จะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับตั้งแต่วันที่มีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก โดยการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรอง มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าทีมีอยู่ การลงมติในกรณีนี้ ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย

ในกรณีที่พ้นกำหนดสามสิบวัน นับตั้งแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาประชุมเป็นครั้งแรกแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำความขึ้นกราบบังคมทูล ภายในสิบห้าวันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว เพื่อทรงมีพระราชโองการ แต่งตั้งบุคคลที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด เป็นนายกรัฐมนตรี

การเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกได้ แล้วนายกฯ ก็ยังต้องเลือกคนนอกมาเป็นรัฐมนตรี เพราะ รัฐมนตรีห้ามเป็นส.ส. ถูกมองว่า ผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจบริหาร จึงไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือยึดโยงกับประชาชนเลย อ้างได้อย่างเดียวว่า ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนจากประชาชน เป็นคนเลือกนายกฯ ซึ่งตัวตรงจริงๆ ของนายกฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนแม้แต่น้อย
 
ดังนั้นที่กรรมาธิการยกร่างฯ พยายามบอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญ นี้มุ่งให้ประชาชนเป็นใหญ่ จึงค่อนข้างขัดกับข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ก็ได้ชี้แจงถึงประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ อย่างเช่น มาตรา 182 นั้นเขียนขึ้นเพื่อมีจุดประสงค์ ไม่ให้ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ใช้กฎหมายสำคัญมาต่อรองรัฐบาล ก็สามารถลุกขึ้นแถลงในสภาว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นกฎหมายสำคัญทั้งฉบับ หรือบางมาตรา ที่ถือเป็นการไว้วางใจรัฐบาล ให้ฝ่ายค้านยื่นญัตติไม่ไว้วางใจได้ภายใน 48 ชั่วโมง หากไม่ยื่น หรือรัฐบาลชนะโหวต กฎหมายนี้ ก็ไม่ได้ผ่านอัตโนมัติ เหมือนพระราชกำหนด เป็นเพียงแค่การผ่านสภาผู้แทนราษฎร เพื่อไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และ ตรงนี้คือ เหตุผลที่ทำไมวุฒิสภา ต้องไม่มาจากการเลือกตั้ง ที่เป็นฐานเดียวกันกับ ส.ส. เพราะไม่อย่างนั้น ก็มีความเสี่ยง

ส่วนที่มีการยกตัวอย่าง ว่าถ้าเป็นการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะทำอย่างไรนั้น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ใช่กฎหมายการเงิน สภาผู้แทนก็ต้องเว้นระยะเวลาไป 180 วัน เพื่อให้สังคมเกิดการตรวจสอบ

นายบวรศักดิ์ ยืนยันว่า มาตรานี้มีความจำเป็น เพื่อใช้เป็นมาตรการปกป้องรัฐบาลผสม แต่ก็มีจุดที่ป้องกันไม่ให้มีการใช้เกินสมควร คือ 1. สมัยประชุมหนึ่งใช้ได้ครั้งเดียว 2. ต้องผ่านวุฒิสภา และ 3. ถ้าดำเนินการตราโดยกระบวนการที่มิชอบ หรือมีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญ ก็ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีก มาตรา 182 จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวแต่อย่างใด

สำหรับเรื่องนายกฯ คนนอก ที่มีการมองว่าเป็นจุดเสี่ยงต่อการสืบทอดอำนาจ และไม่ยึดโยงกับประชาชนนั้น ได้รับการชี้แจงว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้ร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดหลักประชาธิปไตยและคำนึงถึงสถานะความเป็นจริงของสังคมไทย การบัญญัติว่าคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องผ่านอย่างน้อย 2 ด้าน ซึ่งเขียนไว้ในมาตรา 172 วรรค 3 และ มาตรา 171 วรรค 2 โดยนายกฯ จะต้องเลือกโดย ส.ส.ในสภา รวมทั้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับสนองในการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

ดังนั้นเชื่อว่าส.ส.ในสภาฯ คงไม่มีใครเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ ส.ส. 450 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีพรรคการเมือง และมีหัวหน้าพรรคการเมืองกำกับ เขาจะเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ โอกาสเป็นไปได้มีแค่ไหน 

เรื่องนี้ แทนที่จะมาถาม กมธ.ยกร่างฯ ว่า ทำไมจึงเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ ควรจะต้องไปถาม หัวหน้าพรรคการเมือง และส.ส. 450 คน ดีกว่า ว่าจะเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ หรือไม่

เรามีบทเรียนที่ขมขื่นในอดีต มีแผลจากเหตุการณ์ปี 35 จึงได้เขียนว่า นายกฯต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น แต่เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤต ทั้งในปี 49 และ 57 ก็พยายามใช้ มาตรา 7 แต่ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นทางกมธ.ยกร่างฯ จึงต้องเขียนไว้เป็นข้อยกเว้น แต่เชื่อว่าคงจะไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ และที่เขียนไว้ว่า เมื่อเกิดวิกฤต ทางทางตัน ไม่มี ส.ส.ก็ต้องเอาคนที่ไม่เป็นส.ส.มาเป็น และเมื่อเกิดการยุบสภา ส.ส.ทำหน้าที่ไม่ได้ ก็ให้ ส.ว.ทำหน้าที่แทน ในทางกลับกัน หากไม่เขียนไว้อย่างนี้ ก็จะเป็นจุดเสี่ยงที่อาจจะไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาท หรือมีการเลิกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เมื่อคิดแล้วก็ไม่ควรถึงขั้นต้องเลิกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

" ข้อท้วงติงของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฎิรูปการเมือง ที่บอกว่า มาตรา 173 ที่ระบุว่า การเลือกนายกฯในสภา ต้องได้เสียง 2 ใน 3 หากได้เสียงไม่ถึง ก็ใช้เสียงข้างมาก ซึ่งจะเป็นช่องว่างให้คนนอกได้ เพราะจะไม่สามารถเลือกนายกฯ ที่มาจากส.ส.ได้ภายใน 1 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าฟัง ดังนั้นกรรมาธิการจะไปปรับแก้ โดยเขียนว่าในกรณีการเลือกนายกฯ ที่ไม่ใช่ ส.ส.ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 จะใช้เสียงข้างมากไม่ได้" เป็นคำยืนยันจากนายบวรศักดิ์ ถึงเรื่องที่มาของนายกฯคนนอก 

บทสรุปหลังการอภิปรายครั้งนี้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังคงยืนยัน เรื่องระบบเลือกตั้งส.ส.แบบสัดส่วนผสม เพื่อให้ได้รัฐบาลผสมหลายพรรค ที่เชื่อว่าจะนำไปสู่ความปรองดอง ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ที่หลากหมาย ไม่ใช่การเลือกตั้งที่มีฐานเดียวกับส.ส. และยังคงเปิดช่องนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยไม่ห่วงว่าจะถูกสมาชิกสภาปฏิรูป โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น