xs
xsm
sm
md
lg

ยืนยันระบบเลือกตั้ง-ที่มาส.ว.-นายกฯ ท้าสปช.ไม่พอใจคว่ำได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (22 เม.ย.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง ภาพรวมการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ ตลอด 2 วันที่ผ่านมาว่า เป็นการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ โดยกรรมาธิการยกร่างฯ ยินดีรับฟัง และพร้อมนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ จากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มาประกอบการพิจารณา เพื่อปรับแก้ไขให้เกิดความเหมาะสม
ส่วนกรณีที่สมาชิกสปช. ส่วนใหญ่ แสดงความไม่เห็นด้วยกับที่มาของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)นั้น มองว่า เป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากการที่จะทำให้ทุกคนมีความเห็นที่ตรงกันเหมือนกันหมด คงเป็นไปได้ยาก เพราะขนาดคนในครอบครัวอย่างพ่อแม่ ลูก พี่น้อง หรือสามี ภรรยา ก็ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงมองว่าการที่ สปช. แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างไปจาก กมธ.ยกร่างฯ ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไรเลย

**ชี้ยังมีส.ว.กรองกฎหมายรัฐบาล

ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ ยังได้ชี้แจงถึง มาตรา 182 ประเด็น การให้อำนาจนายกฯ กำหนด ร่าง พ.ร.บ.ที่มีความสำคัญ กับแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่หากไม่มีการยื่นญัตติโดยฝ่ายค้านใน 48 ชั่วโมง หรือยื่นแล้วแพ้โหวต ร่าง พ.ร.บ.นั้นมีผลเป็นการรับรอง ซึ่งมีเสียงวิจารณ์จาก สปช. หลายคน โดยเฉพาะนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองสปช. และนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สปช. อภิปรายว่า หากนายกฯ หยิบกฎหมายที่เป็นอันตราย เช่น เอื้อพวกพ้อง หรือไม่เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ อย่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะก่อเกิดปัญหาหากผ่านออกมาบังคับใช้ได้เลย เหมือนการออกพระราชกำหนดอีกวิธีหนึ่ง
นายบวรศักดิ์ ชี้แจงว่า เราต้องมีมาตรการป้องกันความเสี่ยง ในกรณีที่เป็นรัฐบาลผสม ที่เราต้องการให้เกิดขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง ซึ่งมีความเสี่ยงข้อหนึ่ง คือส.ส.ร่วมรัฐบาลอาจใช้กฎหมายที่รัฐบาลเสนอเข้ามา ขู่ว่าไม่ยกมือผ่าน ซึ่งทำให้เสถียรภาพรัฐบาลไม่มั่นคง เช่นสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี เคยมีส.ส.พรรคสหประชาไทย ที่ร่วมรัฐบาลเรียกร้องกลางสภา เอาเงินพัฒนาจังหวัดเพื่อสนับสนุนกฎหมายสำคัญ ครั้งแรกปี 2511 นายกฯ จ่ายไปคนละ 1 แสนบาท ครั้งที่สอง ปี 2512 และปี 2513 ให้ไปคนละ 2 แสนบาท พอปี 2514 ขออีกไม่เอาแล้ว 2 แสน จะเอาคนละ 1 ล้านบาท จนจอมพลถนอม ต้องปฏิวัติรัฐบาลตัวเอง จึงมีมาตรการตามมาตรา 181 ให้นายกฯ เดินมาขอความไว้วางใจ ไม่ใช่การขู่ แต่ให้ผู้ที่กำลังป่วนอยู่ในสภาทราบว่า ถ้าข้าพเจ้าได้เสียงสนับสนุนไม่ถึงครึ่ง ข้าพเจ้าไม่ออกนะ แต่จะยุบสภา ทำให้ ส.ส.ที่กำลังป่วนตั้งสติได้ เพราะทราบดีกันว่าส.ส. ทั่วโลกกลัวที่สุดคือ ต้องไปลงเลือกตั้ง
" มาตรา 182 เขียนขึ้นเพื่อไม่ให้ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ใช้กฎหมายสำคัญต่อรองรัฐบาลก็สามารถลุกขึ้นแถลงในสภาว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นกฎหมายสำคัญทั้งฉบับ หรือบางมาตราที่ถือเป็นการไว้วางใจรัฐบาล ให้ฝ่ายค้านยื่นญัตติไม่ไว้วางใจได้ภายใน 48 ชั่วโมง หากไม่ยื่น หรือรัฐบาลชนะโหวต กฎหมายนี้ก็ไม่ได้ผ่านอัตโนมัติ เหมือนพระราชกำหนด แค่ผ่านสภาผู้แทนฯไปสู่วุฒิสภา และตรงนี้คือเหตุผลที่ทำไม วุฒิสภาต้องไม่มาจากการเลือกตั้งเป็นฐานเดียวกันกับส.ส. เพราะไม่อย่างนั้น ก็มีความเสี่ยง
แต่ที่มาของวุฒิสภาชุดนี้ เป็นตัวแทน 3 กลุ่ม กฎหมายที่เป็นห่วง ก็ยังต้องอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติเข้าสู่วุฒิสภา ที่ไม่ใช่วุฒิสภาที่รัฐบาลคุมได้ เขาก็แก้ไข และแก้ไขแล้ว ก็ต้องกลับไปให้สภาผู้แทนพิจารณา ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมหรือไม่ ไม่ได้รวบรัดเป็นพระราชกำหนด และกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ไม่ใช่กฎหมายการเงิน สภาผู้แทนก็ต้องเว้นไป 180 วัน สังคมก็เกิดการตรวจสอบ มาตรานี้จำเป็นเพื่อปกป้องรัฐบาลผสม แต่ก็มีจุดที่ป้องกันไม่ให้มีการใช้เกินสมควร คือ 1. สมัยประชุมหนึ่งใช้ได้ครั้งเดียว 2. ต้องผ่านวุฒิสภา 3. ถ้าดำเนินการตราโดยกระบวนการที่มิชอบ หรือมีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญ ก็ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีก มาตรา 182 จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าสะพึงกลัว อย่างที่สมาชิกบางคนพยายามอภิปรายให้เห็น" นายบวรศักดิ์ กล่าว

**ยืนยันระบบลต.-ที่มาส.ว.-นายกฯนอก

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวยืนยันว่า ระบบเลือกตั้งที่กมธ.ยกร่างฯ ออกแบบ ไม่ทำให้พรรคอ่อนแอ แต่จะเป็นรัฐบาลผสม พร้อมยกตัวอย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา เช่น พรรคเพื่อไทยที่ได้ 265 คน แต่ถ้าคิดคำนวณตามระบบใหม่ จะเหลือ 247 คน คือมีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้เกิดรัฐบาลผสม มีลักษณะเป็นการฟังพรรคร่วมรัฐบาล ระบบดังกล่าวจึงเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชน ไม่ได้ต้องการให้
รัฐบาลอ่อนแอ แต่เจตนาหลักคือ ให้พรรคได้คะแนนเสียงตามความนิยมของประชาชนที่แท้จริงเท่านั้น ซึ่งพรรคเล็กจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ระบบดังกล่าว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมือง หรือพรรคขนาดเล็ก เข้าสภามากขึ้น แต่ไม่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลผสมมีปัญหา
ส่วนการออกแบบให้มีกลุ่มการเมือง เพราะพรรคการเมืองไทยมีหลายรูปแบบ การเข้าสังกัดพรรคไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีวัฒนธรรมของแต่ละพรรคโดยไม่ได้ดูตามความเหมาะสม
ดังนั้น ที่มาของกลุ่มการเมืองจึงเปิดช่องให้กลุ่มบุคคลที่ต้องการอาสารับใช้ประชาชนมีโอกาสเป็นส.ส. โดยจดทะเบียนแจ้งต่อกกต. ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ก็จะเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ยอมรับว่า การจดแจ้งเป็นกลุ่มการเมือง มีขั้นตอนที่ง่ายกว่าพรรคการเมือง แต่ไม่ถือว่ามีอภิสิทธิ์ เพียงแต่ข้อกำหนดแตกต่างกันเท่านั้นเอง โดยกลุ่มการเมืองไม่จำเป็นต้องแข่งทั้งประเทศ หรือมีสาขาทั่วประเทศเหมือนพรรคการเมือง แต่ถ้าพรรคการเมือง จะทำแบบกลุ่มการเมืองก็จะต้องถูกยุบพรรคการเมืองก่อน เพราะทำผิดกฎหมาย จากนั้นค่อยไปตั้งกลุ่มการเมือง
พล.อ.เลิศรัตน์ ยังยืนยันว่า ระบบเลือกตั้งที่ทำให้เป็นรัฐบาลผสม จะไม่ก่อให้เกิดวังวนของการรัฐประหารเหมือนที่สปช. บางรายตั้งข้อสังเกต เพราะการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา มีเหตุเกี่ยวข้องหลายประการ โดยเฉพาะพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงไม่สามารถสรุปว่า การออกแบบวุฒิสภาแบบพหุนิยม มีทั้งจากองค์กรวิชาชีพจากการสรรหา และส.ว.จากการเลือกตั้ง จะเป็นสภาที่ไม่เหมาะสม
"ถ้าจะเสนอแก้ไข ก็ทำตามขั้นตอนใช้เสียงสองในสามของรัฐสภา และต้องทำประชามติด้วย เพราะถือเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสำคัญของรัฐธรรมนูญ มีการบัญญัติ มาตรา 303 ว่า เมื่อถึงเวลา 5 ปี ให้มีคณะกรรมการประชุมพิจารณาว่า มีข้อบังคับ หรือบทบัญญัติใดสมควรแก้ไขให้เสนอได้" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว และว่า ร่าง รธน.นี้ จึงไม่ใช่ศิลาจารึกที่แก้ไขไม่ได้ แต่เมื่อถึงเวลาจำเป็น ก็สามารถแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย มั่นใจว่า การออกแบบวุฒิสภาแบบผสม ไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก แต่จะทำให้การทำหน้าที่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็น ประชาธิปไตย เพราะส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ควรคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนก็ไม่ว่าอะไร
พล.อ.เลิศรัตน์ ยังกล่าวถึง หลักการสำคัญของร่าง รธน. เช่น ระบบการเลือกตั้ง สภาเป็นระบบที่กลั่นกรองมาอย่างถ่องแท้ และรอบคอบ เป็นระบบที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ เพราะพรรคแกนนำเข้มแข็งทำให้เกิดรัฐประหาร จึงออกแบบให้เป็นรัฐบาลผสม รวมถึงการออกแบบวุฒิสภา ที่มาจาก 3 ทางคือ เลือกกันเอง การสรรหา และ เลือกตั้งจากประชาชน
ส่วนเรื่องนายกฯ คนนอก ก็มีการเตรียมเพิ่มถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 ว่า ในกรณีพ้น 30 วันไม่มีปรากฏว่า มีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ให้ประธานรัฐสภานำรายชื่อผู้ได้รับคะแนนสูงสุด ทูลเกล้าฯ เป็นนายกฯ โดยให้ใช้กรณีนี้เฉพาะนายกฯที่มาจากส.ส.เท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีนายกฯคนนอก
เมื่อถามว่า กรรมาธิการ ตั้งโจทย์ผิดหรือไม่ว่าปัญหาเกิดจากพรรคแกนนำมีความเข้มแข็งมากเกินไป แต่ความจริงเพราะไม่มีธรรมาภิบาล พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า กรรมาธิการฯไม่ได้มองจุดนั้น จะไปบอกว่ารัฐบาลไหนไม่มีธรรมาภิบาลไม่ได้ เพียงแต่เราเชื่อว่า เมื่อมีเสียงมากก็ฟังเสียงคนอื่นน้อยลง พร้อมกับเชื่อว่ากลุ่มการเมืองที่เกิดขึ้น จะไม่ทำให้เกิดการต่อรอง หรือรวมกลุ่ม 5-6 คน เพื่อเป็นรัฐมนตรีเหมือนในอดีต เนื่องจากการจะได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคอนเนกชัน

** สปช. ห่วง 4 จุดเสี่ยงในร่างรธน.

นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวมีอยู่ 4 ประเด็นสำคัญ ที่เป็นจุดเสี่ยงของร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะทำให้ สปช.รับ หรือไม่รับ ร่างนี้ คือ
1. ความกังวลเรื่องการออกแบบระบบวิธีการเลือกตั้งที่อาจทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ขาดเสถียรภาพ 2. ที่มาของนายกฯที่เปิดโอกาสให้คนนอกดำรงตำแหน่งได้ ซึ่งอาจถูกมองว่า เป็นการสืบทอดอำนาจ และเป็นปมของความขัดแย้งต่อไป 3. โครงสร้างรธน.วางน้ำหนักให้ระบบราชการมากเกินไป อาจทำให้รัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายบริหารราชการแผ่นดินได้ และ 4.แนวนโยบายแห่งรัฐ ต้องการให้มีความชัดเจน และมีผลในทางปฏิบัติ เพราะแฝงไว้ด้วยแนวทางการปฏิรูปประเทศ
ทั้งนี้ ยังมีอีกประเด็น ที่มีความกังวลใจ คือ องค์กรที่มีการจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ ที่มีความกังวลในเรื่องขอบเขต ภาระหน้าที่ งบประมาณ การให้อำนาจข้าราชการมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งอาจมีผลต่อฝ่ายการเมือง
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสมาชิก สปช. ลงมติไม่รับร่างฯ จะเป็นอย่างไร นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ก็เป็นไปได้ ไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่า สปช. จะโหวตรับ หรือไม่รับ แต่ กมธ.ยกร่างฯ มีอิสระในการนำไปทบทวนหรือไม่ ต้องรับผลแห่งความเสี่ยงในการนำเสนอร่างรธน.
"เชื่อว่าไม่มีการฮั้วกัน ระหว่าง สปช. กับ กมธ.ยกร่างฯ ใครจะบอกว่า เป็นแฝดอินจัน ถ้าโหวตไม่รับแล้วสปช. จะต้องตกตายไปด้วยกัน ผมยืนยันว่า สมาชิก สปช. ทุกคนมีความกล้าพอที่จะโหวตไม่รับร่าง ถ้าเห็นว่า รธน.ฉบับนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย หรือสืบทอดอำนาจ หรือไม่ส่งผลประโยชน์ต่ออนาคตของประเทศ สปช. ก็พร้อมที่จะโหวตไม่รับ หรือถูกยุบ ตกตายไปตามกัน" นายอลงกรณ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น