xs
xsm
sm
md
lg

“สมบัติ” สวน กมธ.ยกร่างฯ รบ.ผสมทำการเมืองตกหลุม ค้านนายกฯ ไม่ยึดโยง ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อภิปราย รธน.วันที่ 2 กมธ.ยกร่างฯ แจงเลือกตั้งสัดส่วนวางกติกาดักศรีธนญชัย ชี้ให้มี รบ.ผสม หวังฟังพรรคร่วมจริงๆ การเมืองไม่อ่อนแอ ย้ำสมัชชาฯ แฉนักการเมืองไม่ละเมิดสิทธิ “สมบัติ” จี้ รธน.ต้องสอดคล้อง 9 สภาพสังคม ชี้นายกฯ ไม่เป็น ส.ส.ไม่เชื่อมโยง ปชช. แนะเขียนเฉพาะกาลดัก ติง “บวรศักดิ์” นิยม ปธน.ทำเกินกว่าที่แนะ เปิดช่องล้างผิด ชี้ รบ.ผสมทำการเมืองตกหลุมดำ ถอดถอนไร้ผล

วันนี้ (21 เม.ย.) การประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 2 ในภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง ทั้งหมด 144 มาตรา โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รายงานภาพรวมเนื้อหาของภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี ในสาระสำคัญว่า จะนำระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมมาใช้ เพื่อให้พรรคการเมืองได้จำนวน ส.ส.ที่เป็นไปตามความนิยมของประชาชนที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมมีผู้ทักท้วงว่าจะเปิดช่องให้พวกศรีธนญชัยดำเนินการไม่ตามกติกาได้ ดังนั้น ในร่างรัฐธรรมนูญจึงวางกติกากำกับไว้ เช่น ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ต้องสังกัดพรรคหรือกลุ่มการเมือง ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองมีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ได้ แต่บุคคลใดที่จะคิดตั้งกลุ่มการเมืองเมื่อส่งคนลงเลือกตั้งต้องพิจารณาให้ดีว่าจะมีผู้ที่สนับสนุน อย่างน้อยในหลักแสนคนขึ้นไปด้วย ขณะที่การนำระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมมาใช้ที่มุ่งให้เกิดรัฐบาลผสมนั้น มีเหตุผลสำคัญ คือ เหตุที่นำมาสู่การยึดอำนาจ เมื่อปี 2549 และปี 2557 มีปัจจัยสำคัญคือรัฐบาลมีเสียงข้างมากเกินครึ่ง ดังนั้น การออกแบบใหม่ดังกล่าวเพื่อให้รัฐบาลได้รับฟังเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแท้จริง ไม่ใช่ให้พรรคร่วมรัฐบาลเป็นเพียงไม้ประดับเท่านั้น เพราะหากไม่รับฟัง รัฐบาลอาจถูกล้มได้ ด้วยกระบวนการยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ

“เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาผมได้พบกับคุณเสนาะ เทียนทอง เขาบอกผมว่าไม่เอากับการออกแบบให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะจะเกิดการต่อรองเรียกเงินเรียกทองกันดี โดยผมขอเรียนว่าพรรคการเมืองไม่อ่อนแอแน่นอน เราได้มีตัวเลขว่า ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 มีพรรคที่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อสูงสุด คิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ แปลว่าเมื่อกำหนดให้มี ส.ส.จำนวน 450 คน เขาจะได้ ส.ส.เพียง 222 คน ถือว่าเกือบครึ่ง แต่ระบบใหม่ไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองคะแนนหายไป แต่ยืนอยู่บนความจริง บทเรียนของการเลือกตั้งระบบนี้ เช่น ประเทศเยอรมนีที่มีรัฐบาลผสมมาแล้วถึง 19 รัฐบาล ซึ่งขณะนี้เขาเป็นผู้นำเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และจีน อย่างไรก็ตามรัฐบาลผสมไม่ได้ทำให้เกิดความอ่อนแอ เพราะความมีเสถียรภาพหรือไม่อยู่ที่คุณภาพของคนที่อยู่ในรัฐบาลและพรรคการเมือง รูปแบบของการออกแบบพรรคการเมืองจะเป็นรัฐบาลผสมก็จริง แต่ไม่ทำให้สัดส่วน ส.ส.ที่ต่างจากเดิม ความสำคัญคือพรรคแกนนำรัฐบาลต้องรับฟังเพื่อนในรัฐบาลด้วย หากไม่ฟังก็ถูกล้ม ดังนั้นรูปแบบนี้จึงเป็นการกำหนดระยะในการตัดสินใจในการบริหารประเทศ” พล.อ.เลิศรัตน์ชี้แจง

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวด้วยว่า สำหรับที่มาของ ส.ว.จำนวน 200 คน ถูกออกแบบให้มาจาก 3 ที่มา และกำหนดให้มีที่มาจากการเลือกของประชาชนใน 77 จังหวัดด้วย และมาจากการสรรหาและเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ ความสำคัญเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเข้ามาในสภา เพื่อไม่ให้กลับไปทะเลากันบนถนน

ด้านนายเจษฎ์ โทณวณิก กรรมาธิการยกร่างรัฐธรมนูญ กล่าวเสริมในระบบการเมือง และระบบผู้แทนที่ดีว่า ร่างรัฐธรรมนูญได้ออกแบบให้กลไกในการกำกับดูแลในการเข้าไปทำหน้าที่ของผู้แทนหรือผู้นำทางการเมือง อาทิ การให้สิทธิพลเมืองในการร่วมตรวจสอบโดยประเด็นสำคัญ คือ การให้ประชาชนลงคะแนนเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีที่ถูกตรวจสอบพบว่ามีความประพฤติตนไม่ดี ขณะที่ในพรรคการเมืองได้มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาเป็นสถาบันโดยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและกำกับในการทำหน้าที่ ทั้งนี้ มีที่มาจากแนวคิด คือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาให้เสรีภาพแก่บุคคลในการรวมกันเป็นพรรคการเมือง แต่ไม่ได้กำหนดบทบัญญัติของการกำกับในเสรีภาพนั้นไว้ ทั้งที่ระบบการเมืองที่ดีต้องเริ่มจากฐานของพรรคการเมืองที่ดี มีพลเมืองที่ดี มีผู้นำที่ดีในการร่วมตั้งรัฐบาล ดังนั้นกรณีที่มุ่งให้มีระบบการเมืองที่ดีต้องเริ่มจากพรรคการเมืองให้สามารถดำเนินการตามอุดมการณ์ของสมาชิก และเป็นฐานการพัฒนาพรรคการเมืองที่ใหญ่ไปกว่าพรรคการเมือง คือ ความเป็นประชาธิปไตยโดยร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการการหยั่งเสียงที่ต้องคำนึงสัดส่วนระหว่างเพศหญิง หรือเพศชายในการส่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 การส่งเสริมสัดส่วนระหว่างเพศเป็นสิ่งที่จำเป็น

นายเจษฎ์กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการกำหนดให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ประเมินการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วรายงานผลต่อสาธารณะและให้ประชาชนรับทราบถึงผลการปฏิบัติหน้าที่ โดยการรายงานดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้นำทางการเมือง แต่เพื่อให้ข้อมูลที่ปรากฎให้พลเมืองมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกผู้นำทางการเมืองในลำดับถัดไป อย่างไรก็ตามการออกแบบในส่วนที่ระบุมานั้นจะทำให้กลายเป็นวงจรที่ดี ไม่ใช่วงจรอุบาทว์อย่างมีความรู้สึกที่ผ่านมา

จากนั้นสมาชิกได้ทยอยอภิปรายแสดงความเห็น โดยเริ่มจากประธานกรรมาธิการปฏิรูปชุดต่างๆ อาทิ นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเด่นหลายประการ ทั้งกำหนดให้พลเมืองเป็นใหญ่ สภาภาคประชาชน และสมัชชาตรวจสอบการเมือง อาจกล่าวได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลกที่ให้บทบาทประชาชนมากขนาดนี้ รวมทั้งประเด็นปฏิรูปประเทศที่อยู่ในภาค 4 ของร่างรัฐธรรมนูญถือว่าครอบคลุมทุกมิติ

อย่างไรก็ตาม ตนและกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองขอตั้งข้อสังเกตหลายประการ ประการแรก คือ การออกแบบรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย ดังนั้นการนำหลักสากลมาใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยด้วย คุณลักษณะสำคัญของสังคมการเมืองไทย 1. สังคมไทยเป็นสังคมกำลังพัฒนาที่มีความเหลื่อมล้ำสูง 2. คนจนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ จึงกลายเป็นเหยื่อของรัฐบาลโดยง่ายในการใช้นโยบายประชานิยม ดังนั้นนโยบายประชานิยมจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหายากจนได้อย่างยั่งยืนได้ ตรงกันข้ามกลับสร้างความเสียหายให้ชาติอย่างร้ายแรง แต่คนจนจำนวนมากก็ชื่นชอบ 3. นักการเมืองเข้าสู่การเมืองด้วยการซื้อเสียงจากคนยากจน สภาพเช่นนี้จะคงอยู่ในสังคมจนกว่าประเทศจะพัฒนาคนส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลาง และมีคนจนเป็นคนส่วนน้อยของสังคม เมื่อนั้นอิทธิพลการซื้อเสียงจะไม่มีความสำคัญในการเลือกตั้ง 4. คนยากจนส่วนมากเป็นผู้ต้องขายผลิตผลในราคาต่ำ ทำให้ขาดทุนและเป็นหนี้ ถ้ารัฐบาลแก้ไขปัญหาผลิตผลราคาตกต่ำไม่ได้ ก็แก้ไขปัญหาความยากจนไม่ได้และจะแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่ได้ คนยากจนคงจะเป็นเหยื่อนักซื้อเสียงต่อไป

นายสมบัติกล่าวอีกว่า 5. การที่นักการเมืองเข้าสู่อำนาจด้วยการซื้อเสียง จะทำให้การทุจริตยิ่งแพร่หลาย 6. การที่นักการเมืองซื้อขายตำแหน่งให้คุณให้โทษ ทำให้ข้าราชการที่ได้ตำแหน่งจากการซื้อสมคบกับนักการเมืองในการทุจริต การทุจริตในสังคมจึงยิ่งรุนแรง 7. ระบบคุณธรรมและระบบอุปถัมภ์ในไทยยิ่งทำให้ทุจริตทั้งของข้าราชการและนักการเมืองให้ยิ่งระบาดรุนแรงยิ่งขึ้น ประกอบกับมาตรการปราบปรามทุจริตไม่มีประสิทธิภาพทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว 8. สังคมไทยปลูกฝังให้เอาตัวรอดเป็นยอดดี คนส่วนใหญ่จึงมุ่งประโยชน์ส่วนตนและเอาตัวรอดไว้ก่อนทำให้การหาหลักฐานมาลงโทษผู้กระทำผิดได้ยาก และ 9. สภาพการเมืองไทยจึงเท่ากับส่งเสริมให้คนกล้าทำชั่วได้ดี ส่วนคนที่ยึดมั่นทำความดีไม่มีที่ยืนในวงการเมืองและวงข้าราชการประจำ กลายเป็นคนท้อแท้และสิ้นหวังในที่สุด ดังนั้นการปฏิรูปการเมืองจึงต้องสอดคล้องกับสภาพสังคมไทย

นายสมบัติยังกล่าวด้วยว่า โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันที่เป็นอำนาจอธิปไตยกับประชาชน โดยประชาชนเชื่อมโยงกับอำนาจนิติบัญญัติ เพราะประชาชนเป็นผู้เลือก ส.ส. ส่วนอำนาจบริหารนั้นหากเป็นระบบแบ่งแยกอำนาจให้ฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง และฝ่ายบริหารก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงเช่นกัน แต่ถ้าเป็นในระบบรัฐสภาในบ้านเราจะกำหนดให้ฝ่ายที่มีเสียงข้างมากในสภาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ระบบรัฐสภาดั้งเดิมของประเทศอังกฤษนั้น เพื่อที่จะให้ฝ่ายบริหารมีความเชื่อมโยงกับประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ดังนั้น ถ้าเมื่อใดก็ตามที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือไม่ได้เป็น ส.ส. ความเชื่อมโยงอำนาจฝ่ายบริหารเชื่อมโยงกับประชาชนก็จะไม่มีเลย หมายความว่าอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจก็จะสัมพันธ์กับประชาชนเพียงอำนาจเดียว คือ อำนาจนิติบัญญัติ

นอกจากนี้ การร่างรัฐธรรมนูญ ต้องร่างให้สมดุลกับอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจ เพื่อป้องกันวิกฤตทางการเมือง ทั้งนี้ การร่างรัฐธรรมนูญมีจุดเสี่ยงหลายจุด อาทิ ขาดสมดุลระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ปกติระบบรัฐสภา ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนืออำนาจนิติบัญญัติ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยิ่งทำให้ชัดว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ตามมาตรา 147 วรรค 2 กรณีถ้ามีผู้เสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงินต้องมีคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี หมายความว่าผู้ริเริ่มกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินคือฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งจะมีหน้าที่เพียงแค่ให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ เคยให้ความเห็น ว่าการกำหนดให้นายกฯเป็นผู้รับรองกฎหมายการเงินมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐ แต่ขณะนี้ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ได้นำหลักนี้มาใช้ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนั้นกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองไม่ได้กำหนดหลักการนี้ไว้ กำหนดเพียงว่าให้ ส.ส.เสนอกฎหมายได้ทุกประเภท

นายสมบัติกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ตามมาตรา 182 เป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่ง เพราะกำหนดให้นายกฯแถลงต่อสภา ว่า พ.ร.บ.มีความสำคัญและเป็นนโยบายของรัฐบาล และถ้าสภาไม่เสนอญัตติของอภิปรายไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง จะถือว่าสภาให้ความเห็นชอบ และหากสภายื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจและรัฐบาลชนะ หมายความว่าฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแพ้ให้ถือว่าสภาแห่งนี้ให้ความเห็นชอบ ขอให้พิจารณาไตร่ตรองว่าการทำตามมาตรา 182 จะทำได้เพียงครั้งเดียวในแต่ละสมัยประชุม ถ้ารัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะทำอย่างไรกัน หมายความว่าสภาให้ความเห็นชอบกฎหมายนี้ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยจะเกิดอะไรขึ้น ฝ่ายค้านก็ทำอะไรไม่ได้ จะกลายเป็นจุดชนวนที่ทำให้ประชาชนออกมาบนท้องถนนอีกหรือไม่ ตนคิดว่ามากพอที่จะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองได้ อยากฝากให้กรรมาธิการยกร่างฯ ไตร่ตรอง เหตุผลที่ดีอาจจะมีแต่ต้องตระหนักถึงอันตรายที่จะบังคับใช้มาตรา 182 ด้วยเช่นกัน และจากประสบการณ์ของตนเห็นว่าโอกาสเกิดขึ้นได้สูง

นายสมบัติกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยุบสภาและสำเร็จทุกครั้ง ขณะเดียวกันให้ฝ่ายค้านมีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากรัฐบาลมีเสียงข้างมากก็จะไม่มีทางสำเร็จ แต่ก็อาจสำเร็จได้บ้างหากรัฐบาลรูปแบบผสม ไม่มีเสียงข้างมากและตกลงกับพรรคร่วมไม่ได้ ดังนั้นที่ผ่านมาการอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงเป็นกลไกที่อ่อนแอมาก อย่างไรก็ตาม การออกแบบให้รัฐบาลผสมไม่มีความเข้มแข็ง ทั้งนี้การออกแบบเลือกตั้งให้มีรูปแบบใดมีข้อดีด้วยกันทั้งสิ้น แต่ตนคิดว่ารัฐบาลผสมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อน ปี 40 เป็นภาพที่เลวร้ายของสังคมไทย และทำให้การเมืองไทยตกอยู่ในหลุมดำ ไม่สามารถขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตามรัฐบาลผสมเกิดขึ้นได้ 2 ทาง คือ 1. พรรคแกนนำมีเสียงเกินครึ่งเล็กน้อย เยอรมันเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง เราจะเห็นว่าพรรคแกนนำรัฐบาลจะมีอำนาจต่อรองสูง ถ้านึกไม่ออกขอให้นึกถึงรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีอำนาจบงการสภาเต็มที่ อีกด้านหนึ่งผลการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง พรรคกลางและเล็กจะมีอำนาจต่อรองมาก การจัดตั้งรัฐบาลก็จะกลับไปเป็นแบบแบ่งโควตา และต่อไปถ้ารัฐบาลไปพูดถึงนโยบายพัฒนาประเทศพรรคแกนนำจะไม่สามารถประกาศนโยบายได้อย่างเป็นเอกภาพได้ เมื่อขับเคลื่อนไม่มีประสิทธิภาพก็จะมีอุปสรรคในการปฏิรูปประเทศ

ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ดังนั้นโจทย์ที่บอกว่าที่ผ่านมาเรามีรัฐบาลที่เข้มแข็งเกินไป และแก้ไขโดยต่อไปให้มีรัฐบาลไม่ค่อยเข็มแข็ง ถือเป็นการวิเคราะห์โจทย์ที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีประเทศไหนที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาแล้วทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางสำเร็จ ไม่เห็นสักประเทศที่ทำได้เพราะมีรัฐบาลผสม ลองไปตรวจสอบดูว่าประเทศที่กำลังพัฒนาประสบความสำเร็จโดยใช้รัฐบาลผสมขับเคลื่อนประเทศ มีแต่มีรัฐบาลเข้มแข็งเท่านั้น อย่างไรก็ตามปัญหาของเราคือเมื่อมีรัฐบาลที่เข้มแข็งแล้วจะทำอย่างไร ทางอยู่คือต้องมีกลไกตรวจสอบประพฤติมิชอบหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ

“ในร่างรัฐธรรมนูญยังมีความสับสนระหว่างการแบ่งแยกอำนาจระหว่างประธานาธิบดีมาใช้กับระบบรัฐสภา โดยในมาตรา 175 กำหนดไว้ชัดเจนว่านายกฯ และรัฐมนตรีต้องไม่เป็น ส.ส. เหมือนเป็นการใช้หลักแบ่งแยกอำนาจ แต่ปรัชญาและหลักการต่างกัน เพราะเขาถือว่าฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ไม่มีการยุบสภา ไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะถือว่าต่างฝ่ายต่างมีอำนาจและทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม เราบอกว่าเราคือระบบรัฐสภาแต่กลับนำหลักแบ่งแยกอำนาจมาใช้ ซึ่งรู้สึกเหมือนไม่สนิทเพราะหลักการสองระบบขัดกันอยู่ อย่างไรก็ตาม เห็นว่ากลไกการตรวจสอบทุจริตยังอ่อนแอ ถ้าเกิดรัฐบาลฮั้วกันได้ อภิปรายไม่ไว้วางใจกี่ครั้งฝ่ายค้านก็แพ้หมด ถ้าอภิปรายปรายไม่ไว้วางใจจะได้ผลมีทางเดียว คือ พรรคแกนนำมีเสียงไม่ถึงครึ่ง และฮั้วกันไม่ได้ พรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กร่วมมือกับฝ่ายค้านในการอภิปราย ส่วนเรื่องถอดถอนในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 เราก็นำหลักมาจากระบบประธานาธิบดีซึ่งก็ใช้ไม่ได้ผล แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะปรับใช้เสียงถอดถอนเพียงครึ่งของสมาชิกรัฐสภา จากเดิมใช้เสียง 3 ใน 5 ก็ตาม แต่นิสัยของนักการเมืองไทยถ้ารู้ว่าตนเองจะถูกถอดถอน ถ้าเสียงมีอยู่ 650 เสียง เกินครึ่งคือ 325 เสียง เขาก็คงจะตั้งรัฐบาลผสมให้มีเสียงมากกว่า 325 เสียงไว้ก่อน เหมือนสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้น หลักถอดถอนดังกล่าวจึงไม่มีประสิทธิภาพ”

นายสมบัติกล่าวว่า กรณีเลือกคนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ และนายกฯ เลือกคนนอกมาเป็นรัฐมนตรี เพราะรัฐมนตรีห้ามเป็น ส.ส. แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจบริหารไม่ได้เกี่ยวข้องหรือยึดโยงกับประชาชนเลย อ้างได้อย่างเดียวว่า ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนจากประชาชนเป็นคนเลือกนายกฯ ซึ่งตัวตรงจริงๆของนายกฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนแม้แต่น้อย และหนักไปกว่านั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินต้องได้รับคำรับรองจากนายกฯ เท่ากับนายกฯ เท่ากับว่าฝ่ายที่ไม่ได้มาจากประชาชนเป็นฝ่ายที่มีอำนาจสูงสุด จึงขอให้ทุกท่านพิจารณาให้รอบคอบ เพราะกรรมาธิการยกร่างฯ ระบุว่าเจตนารมณ์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งเพื่อให้พลเมืองเป็นใหญ่ แต่การให้คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากประชาชนจะขัดแย้งกันเองพอสมควร แต่ถ้ามีความจำเป็นตนก็มีทางออกว่าให้เขียนในบทเฉพาะกาลว่า ต้องเลือก ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรี






กำลังโหลดความคิดเห็น