ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง ชี้แก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียงได้หรือไม่อยู่ที่ประสิทธิภาพทางการเมือง และคุณภาพของประชาชน ระบุข้อดีระบบเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ประชาชนไว้ใจได้มากกว่า ส.ส. จุดอ่อนระบบผสมทำรัฐบาลอ่อนแอ ห่วงการเมืองหลังรัฐธรรมนูญใหม่ พรรคเดียวผูกขาดตามรอยพรรคอัมโน-มาเลย์ ทำไทยจมปลักกับความขัดแย้งทางการเมือง
ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางและอนาคตการเมืองไทย” โดยระบุว่าปัญหาของการเมืองไทยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาไม่มีเสถียรภาพ มีวิกฤตทางการเมืองทำให้ล้าหลังกับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้ง นักการเมืองมีการทุจริตจนทำให้ประเทศไม่พัฒนา ทั้งนี้ ทางคณะกรรมาธิการปฏิรูปทางการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้มองถึงบริบททางสังคมไทยซึ่งมีคนจนเป็นจำนวนมาก มีความเหลื่อมล้ำสูง เวลาที่มีการเลือกตั้งคนที่จะมีอำนาจตัดสินใจสูงที่สุดในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง คือ กลุ่มคนจน ซึ่งจะถูกครอบงำการตัดสินใจโดยการซื้อเสียง การปฏิรูปเพื่อแก้ไขการซื้อเสียงถือเป็นเรื่องยาก ต้องทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงให้มีคนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางให้ได้ หากยังเป็นสังคมแบบเดิมๆ ถึงแม้จะคิดมาตรการใดๆ ก็ตามเพื่อแก้ไขเชื่อว่าเป็นเรื่องยาก แต่อย่าเพิ่งสิ้นหวังว่าจะแก้ไขไม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ประสิทธิภาพทางการเมืองและคุณภาพของประชาชน
นายสมบัติกล่าวว่า สภาพปัญหาของระบบรัฐสภาไทย รัฐบาลเสียงข้างมากเด็ดขาดมีอำนาจเหนือทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถบงการฝ่ายเสียงข้างมากได้ และอำนาจในการตรวจสอบอ่อนแอ ทำให้นักการเมืองมีอำนาจการเหิมเกริมมาก นายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องดูแล ส.ส.โดยการจัดสรรงบให้ในแต่ละจังหวัด ทำให้เกิดการโกงอย่างกว้างขวางจึงไม่สามารถแก้ปัญหาประชาชนได้ ทำให้การทุจริตรุนแรง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น อีกทั้งฝ่ายนิติบัญญัติมีบทบาทน้อยมาก เพราะกฎหมายการเงินต้องเสนอโดยคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ส.ส.ทำได้เพียงสนับสนุน ประกอบกับฝ่ายค้านตรวจสอบไม่เป็นผล ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติจึงไม่สามารถถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้ โดยข้อเสนอของกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองฯ นั้น โครงสร้างข้างบนยังเหมือนเดิม โดยประชาชนสามารถเลือกฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้โดยตรง มีคนพยายามบิดเบือนว่าเป็นการใช้ระบบประธานาธิบดี แม้ตนจะอธิบายแล้วแต่ก็ยังมีคนไม่เข้าใจ เพราะถ้าเป็นระบบประธานาธิบดีนั้น ประธานาธิบดีมีบทบาทเป็นประมุขของประเทศ หัวหน้าฝ่ายบริหาร และมาจากการเลือกตั้ง แต่หลายประเทศก็มีตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ก็มีระบบรัฐสภาซึ่งไม่เข้าข่าย อีกทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นก็เป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งของตำแหน่งประมุขของประเทศ ดังนั้น ขอให้คนโต้แย้งไปทำการศึกษาก่อนที่จะพูดเสียก่อน เพราะหากพูดทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ในซึ่งที่ตัวเองพูดไปนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าอายมาก
นายสมบัติกล่าวอีกว่า ทางกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองฯ ได้เสนอให้ ส.ส.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 350 คน ที่มาจากแบบแบ่งเขตทั้งหมด เขตละไม่เกิน 3 คน ประชาชน 1 คน เลือก ส.ส.ได้ 1 คน ตามหลักวันแมนวันโหวต ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อเอาใจนักการเมือง โดยมุ่งหวังเพื่อลดแรงจูงใจในการซื้อเสียง และให้ ส.ส.เสนอกฎหมายได้ทุกประเภท หากฝ่ายบริหารทำไม่ถูกต้อง ให้กรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบเรียกตัวเพื่อทำการสอบสวนและดำเนินคดีส่งศาล เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมานั้น ส.ส.รัฐบาลก็จะยกมือทันทีโดยไม่มีการฟังเพื่อตัดสินว่าถูกหรือผิด ส่วน ส.ว.นั้นตนมองว่าอำนาจจะมากหรือน้อยแล้วแต่ที่มาว่ามาทางไหน โดยแบบของไทยตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มาจากการเลือกตั้งหมด แต่ให้มีอำนาจแค่กลั่นกรองกฎหมาย และอำนาจการถอดถอนเท่านั้น ทาง กมธ.ปฏิรูปการเมืองให้มีทั้งหมด 154 คน แบ่งเป็นเลือกตั้ง 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน เนื่องจากประชาชนคุ้นเคยมาแล้ว และให้มีการเลือกตั้งจากกลุ่มอาชีพอีก 77 คน โดยทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย แต่งตั้งองค์กรอิสระ ตลอดจนการถอดถอนที่ต้องออกแบบให้ถอดถอนได้สำเร็จในอนาคตต่อไป
“ข้อดีตามข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปการเมืองนั้น ประชาชนสามารถตรวจสอบประวัติบุคคล ที่สมัครเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและนโยบายก่อนการเลือกตั้ง เพราะถ้าหากให้ประชาชนสามารถเลือกเองนั้น จะมีความไว้ใจในตัวเองมากกว่าให้ ส.ส.ไปเลือก ดังนั้น พรรคการเลือกต้องคัดเลือกคนดีมาเสนอให้ประชาชนพิจารณา ฝ่ายบริหารทำหน้าที่บริหารอย่างเดียว ไม่ต้องมาสภา ทำให้สามารถทุ่มเทเวลาอย่างเต็มที่ ทำให้ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีเสถียรภาพในการทำงาน อีกทั้งการถ่วงดุลอำนาจก็จะมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง”
นายสมบัติระบุอีกว่า ข้อเสนอทั้งหมดนี้ทาง กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้มีการพิจารณา โดยยังยืนการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม มีจุดเสี่ยงคือ ถ้าไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก จะเกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอไร้ประสิทธิภาพ แต่ถ้าพรรคแกนนำมีเสียงเกินครึ่ง หลายๆ พรรคก็จะแย่งเข้ามาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล การจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างมากเด็ดขาด ทำให้เกิดเผด็จการจากการเลือกตั้ง สามารถบงการได้ทั้งสองฝ่าย พรรคใหญ่จะใช้ยุทธวิธีให้ผู้มีชื่อเสียงสมัครอิสระ หรือมีการดำเนินการตั้งพรรคสาขา นายทุนจะทุ่มซื้อคะแนนของพรรคเพื่อให้ได้คะแนนพรรคเกิน 50% และมีสิทธิเด็ดขาดในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งนักการเมืองไทยได้มีการคิดล่วงหน้ามาแล้ว อีกทั้งหากต้องการความมั่นคงในตำแหน่งต้องมี ส.ส.สนับสนุน ทำให้ต้องกระทำการทุจริตมากขึ้น ทำให้ประชาชนจะออกมาประท้วง ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมีอย่างแพร่หลายสูงขึ้น
ส่วนจุดเสี่ยงในการถอดถอนที่มีการเสนอให้ 2 สภาดำเนินการถอดถอนนั้น หากมีจำนวนสมาชิกรัฐสภาจำนวน 650 คน เป็นผู้ตัดสินโดยใช้เสียงข้างมาก ถ้าแกนนำรัฐบาลผสมเกินครึ่ง การถอดถอนจะทำไม่ได้ ส่วนข้อเสนอให้เอารายชื่อผู้ที่ไม่สามารถถูกถอดถอนไปให้ประชาชนเลือกหรือกระบวนการอิมพีชเมนต์ลิสต์นั้น ก็ทำไม่ได้เพราะตนชื่อว่าฐานเสียงของนักการเมืองใหญ่กว่าอยู่แล้ว ซึ่งทิศทางทางการเมืองหลังมีรัฐธรรมตามแบบ กมธ.ยกร่างฯ ร่างนั้น ตนเห็นว่าโอกาสที่จะมีกลุ่มการเมืองพรรคเดียว คล้ายกับพรรคอัมโนของประเทศมาเลเซีย โดยมีพรรคที่ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งมาร่วม และมีพรรคร่วมอีก 3-4 พรรคมาเป็นรัฐบาลซึ่งมีแนวโน้มที่จะผูกขาดเป็นรัฐบาลระยะยาวนานพอสมควร หากไม่มีการทุจริตและบริหารงานดี แต่ถ้ามีการทุจริต มีการโกง ประชาชนก็จะออกมาคัดค้าน ประเทศไทยจมปลักอยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองแบบนี้ต่อไปอีก