xs
xsm
sm
md
lg

ถล่มปมนายกฯคนนอก ให้อำนาจบริหารเหนือนิติบัญญัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 9.00 น. วานนี้ (21 เม.ย.) ได้มีการประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) วันที่สอง ในภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง ทั้งหมด 144 มาตรา โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รายงานภาพรวมเนื้อหาของภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดี และระบบผู้แทนที่ดี ในสาระสำคัญว่า จะนำระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมมาใช้ เพื่อให้พรรคการเมืองได้จำนวนส.ส. ที่เป็นไปตามความนิยมของประชาชนที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม มีผู้ทักท้วงว่าจะเปิดช่องให้พวกศรีธนญชัยดำเนินการไม่ตามกติกาได้ ดังนั้น ในร่างรัฐธรรมนูญ จึงวางกติกากำกับไว้ เช่น ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. ต้องสังกัดพรรค หรือกลุ่มการเมือง ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมือง มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ได้ แต่บุคคลใดที่จะคิดตั้งกลุ่มการเมือง เมื่อส่งคนลงเลือกตั้งต้องพิจารณาให้ดีว่าจะมีผู้ที่สนับสนุนอย่างน้อยในหลักแสนคนขึ้นไปด้วย

**ระบบสัดส่วนผสมไม่ทำให้พรรคอ่อนแอ

ขณะที่การนำระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมมาใช้ ที่มุ่งให้เกิดรัฐบาลผสมนั้น มีเหตุผลสำคัญ คือ เหตุที่นำมาสู่การยึดอำนาจ เมื่อปี 2549 และ ปี 2557 มีปัจจัยสำคัญ คือรัฐบาลมีเสียงข้างมากเกินครึ่ง ดังนั้นการออกแบบใหม่ดังกล่าว เพื่อให้รัฐบาลได้รับฟังเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแท้จริง ไม่ใช่ให้พรรคร่วมรัฐบาลเป็นเพียงไม้ประดับเท่านั้น เพราะหากไม่รับฟัง รัฐบาลอาจถูกล้มได้ด้วยกระบวนการยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ
"เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาผมได้พบกับ คุณเสนาะ เทียนทอง เขาบอกผมว่า ไม่เอากับการออกแบบให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะจะเกิดการต่อรอง เรียกเงินเรียกทองกัน โดยผมขอเรียนว่าพรรคการเมืองไม่อ่อนแอแน่นอน เราได้มีตัวเลขว่าในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 มีพรรคที่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อสูงสุด คิดเป็น 49 เปอร์เซ็นต์ แปลว่า เมื่อกำหนดให้มี ส.ส.จำนวน 450 คน เขาจะได้ ส.ส. เพียง 222 คน ถือว่าเกือบครึ่ง แต่ระบบใหม่ ไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองคะแนนหายไป แต่ยืนอยู่บนความจริง บทเรียนของการเลือกตั้งระบบนี้ เช่น ประเทศเยอรมนี ที่มีรัฐบาลผสมมาแล้วถึง 19 รัฐบาล ซึ่ง ขณะนี้เขาเป็นผู้นำเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา และ จีน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลผสมไม่ได้ทำให้เกิดความอ่อนแอ เพราะความมีเสถียรภาพหรือไม่ อยู่ที่คุณภาพของคนที่อยู่ในรัฐบาลและพรรคการเมือง รูปแบบของการออกแบบพรรคการเมืองจะเป็นรัฐบาลผสมก็จริง แต่ไม่ทำให้สัดส่วน ส.ส. ที่ต่างจากเดิม ความสำคัญคือพรรคแกนนำรัฐบาลต้องรับฟังเพื่อนในรัฐบาลด้วย หากไม่ฟังก็ถูกล้ม ดังนั้นรูปแบบนี้จึงเป็นการกำหนดระยะในการตัดสินใจในการบริหารประเทศ" พล.อ.เลิศรัตน์ ชี้แจง
สำหรับที่มาของ ส.ว. จำนวน 200 คน ถูกออกแบบให้มาจาก 3 ที่มา และกำหนดให้มีที่มาจากการเลือกของประชาชนใน 77 จังหวัดด้วย และมาจากการสรรหาและเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ ความสำคัญเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเข้ามาในสภา เพื่อไม่ให้กลับไปทะเลากันบนถนน

**สมัชชาคุณธรรมคุมพฤติกรรมนักการเมือง

ด้านนายเจษฎ โทณะวนิก กมธ.ยกร่างรัฐธรมนูญ กล่าวเสริมในระบบการเมือง และระบบผู้แทนที่ดีว่า ร่างรัฐธรรมนูญได้ออกแบบให้กลไกในการกำกับดูแลในการเข้าไปทำหน้าที่ของผู้แทน หรือผู้นำทางการเมือง อาทิ การให้สิทธิพลเมืองในการร่วมตรวจสอบโดยประเด็นสำคัญคือ การให้ประชาชนลงคะแนนเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีที่ถูกตรวจสอบพบว่ามีความประพฤติตนไม่ดี ขณะที่ในพรรคการเมืองได้มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาเป็นสถาบัน โดยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและกำกับในการทำหน้าที่
ทั้งนี้ มีที่มาจากแนวคิดคือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาให้เสรีภาพแก่บุคคลในการรวมกันเป็นพรรคการเมือง แต่ไม่ได้กำหนดบทบัญญัติของการกำกับในเสรีภาพนั้นไว้ ซึ่งระบบการเมืองที่ดี ต้องเริ่มจากฐานของพรรคการเมืองที่ดี มีพลเมืองที่ดี มีผู้นำที่ดีในการร่วมตั้งรัฐบาล ดังนั้นกรณีที่มุ่งให้มีระบบการเมืองที่ดี ต้องเริ่มจากพรรคการเมืองให้สามารถดำเนินการตามอุดมการณ์ของสมาชิก และเป็นฐานการพัฒนาพรรคการเมืองที่ใหญ่ไปกว่าพรรคการเมือง คือ ความเป็นประชาธิปไตย โดยร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการการหยั่งเสียงที่ต้องคำนึงสัดส่วนระหว่างเพศหญิง หรือเพศชาย ใน การส่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 การส่งเสริมสัดส่วนระหว่างเพศ เป็นสิ่งที่จำเป็น
ในส่วนของการกำหนดให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ประเมินการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วรายงานผลต่อสาธารณะ และให้ประชาชนรับทราบถึงผลการปฏิบัติหน้าที่ โดยการรายงานดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้นำทางการเมือง แต่เพื่อให้ข้อมูลที่ปรากฏให้พลเมืองมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ในการเลือกผู้นำทางการเมืองในลำดับถัดไป อย่างไรก็ตาม การออกแบบในส่วนที่ระบุมานั้น
จะทำให้กลายเป็นวงจรที่ดี ไม่ใช่วงจรอุบาทว์อย่างที่มีความรู้สึกที่ผ่านมา

**ชำแหละร่างรธน.แจง 9 สภาพสังคมไทย

จากนั้น สมาชิก สปช.ได้ทยอยอภิปรายแสดงความเห็น โดยเริ่มจากประธานกรรมาธิการปฏิรูปชุดต่างๆ อาทิ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีความเด่นหลายประการ ทั้งกำหนดให้พลเมืองเป็นใหญ่ สภาภาคประชาชน และสมัชชาตรวจสอบการเมือง อาจกล่าวได้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก ที่ให้บทบาทประชาชนมากขนาดนี้ รวมทั้งประเด็นปฏิรูปประเทศ ที่อยู่ในภาค 4 ของร่างรัฐธรรมนูญ ถือว่าครอบคลุมทุกมิติ
อย่างไรก็ตาม ตนและกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ขอตั้งข้อสังเกต หลายประการ ประการแรก คือการออกแบบรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย ดังนั้น การนำหลักสากลมาใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญ จึงต้องสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยด้วย คุณลักษณะสำคัญของสังคมการเมืองไทย คือ
1. สังคมไทยเป็นสังคมกำลังพัฒนาที่มีความเหลื่อมล้ำสูง 2. คนจนต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ จึงกลายเป็นเหยื่อของรัฐบาลโดยง่ายในการใช้นโยบายประชานิยม ดังนั้น นโยบายประชานิยมจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหายากจนได้อย่างยั่งยืน ตรงกันข้ามกลับสร้างความเสียหายให้ชาติอย่างร้ายแรง แต่คนจนจำนวนมาก ก็ชื่นชอบ
3. นักการเมืองเข้าสู่การเมืองด้วยการซื้อเสียงจากคนยากจน สภาพเช่นนี้จะคงอยู่ในสังคมจนกว่าประเทศจะพัฒนาคนส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลาง และมีคนจนเป็นคนส่วนน้อยของสังคม เมื่อนั้นอิทธิพลการซื้อเสียงจะไม่มีความสำคัญในการเลือกตั้ง 4. คนยากจนส่วนมากเป็นผู้ต้องขายผลิตผลในราคาต่ำ ทำให้ขาดทุนและเป็นหนี้ ถ้ารัฐบาลแก้ไขปัญหาผลิตผลราคาตกต่ำไม่ได้ ก็แก้ไขปัญหาความยากจนไม่ได้ และจะแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง ไม่ได้ คนยากจนคงจะเป็นเหยื่อนักซื้อเสียงต่อไป
5. การที่นักการเมืองเข้าสู่อำนาจด้วยการซื้อเสียง จะทำให้การทุจริตยิ่งแพร่หลาย 6. การที่นักการเมืองซื้อขายตำแหน่งให้คุณให้โทษ ทำให้ข้าราชการที่ได้ตำแหน่งจากการซื้อ สมคบกับนักการเมืองในการทุจริต การทุจริตในสังคมจึงยิ่งรุนแรง 7. ระบบคุณธรรมและระบบอุปถัมภ์ในไทยยิ่งทำให้ทุจริตทั้งของข้าราชการและนักการเมืองให้ยิ่งระบาดรุนแรงยิ่งขึ้น ประกอบกับมาตรการปราบปรามทุจริตไม่มีประสิทธิภาพทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว
8. สังคมไทยปลูกฝังให้เอาตัวรอดเป็นยอดดี คนส่วนใหญ่จึงมุ่งประโยชน์ส่วนตนและเอาตัวรอดไว้ก่อนทำให้การหาหลักฐานมาลงโทษผู้กระทำผิดได้ยาก และ 9. สภาพการเมืองไทยจึงเท่ากับส่งเสริมให้คนกล้าทำชั่วได้ดี ส่วนคนที่ยึดมั่นทำความดีไม่มีที่ยืนในวงการเมือง และวงข้าราชการประจำ กลายเป็นคนท้อแท้ และสิ้นหวังในที่สุด ดังนั้นการปฏิรูปการเมือง จึงต้องสอดคล้องกับสภาพสังคมไทย

**นายกฯไม่เป็นส.ส.ไม่ยึดโยงกับปชช.

นายสมบัติ ยังกล่าวด้วยว่า โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันที่เป็นอำนาจอธิปไตยกับประชาชน โดยประชาชนเชื่อมโยงกับอำนาจนิติบัญญัติ เพราะประชาชนเป็นผู้เลือกส.ส. ส่วนอำนาจบริหารนั้น หากเป็นระบบแบ่งแยกอำนาจให้ฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง และฝ่ายบริหารก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงเช่นกัน แต่ถ้าเป็นในระบบรัฐสภาในบ้านเรา จะกำหนดให้ฝ่ายที่มีเสียงข้างมากในสภาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ระบบรัฐสภาดั้งเดิมของประเทศอังกฤษนั้น เพื่อที่จะให้ฝ่ายบริหารมีความเชื่อมโยงกับประชาชน นายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. ดังนั้นถ้าเมื่อใดก็ตามที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือไม่ได้เป็นส.ส. ความเชื่อมโยงอำนาจฝ่ายบริหารเชื่อมโยงกับประชาชนก็จะไม่มีเลย หมายความว่า อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจ ก็จะสัมพันธ์กับประชาชนเพียงอำนาจเดียว คือ อำนาจนิติบัญญัติ

**แขวะ“บวรศักดิ์”นิยมระบบประธานาธิบดี

นอกจากนี้ การร่างรัฐธรรมนูญต้องร่างให้สมดุลกับอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจ เพื่อป้องกันวิกฤตทางการเมือง ทั้งนี้การร่างรัฐธรรมนูญ มีจุดเสี่ยงหลายจุด อาทิ ขาดสมดุลระหว่างฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ปกติระบบรัฐสภา ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนืออำนาจนิติบัญญัติ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยิ่งทำให้ชัดว่า ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ตามมาตรา 147 วรรค 2 กรณีถ้ามีผู้เสนอเป็น ร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงินต้องมีคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี หมายความว่า ผู้ริเริ่มกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน คือฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งจะมีหน้าที่เพียงแค่ให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ เคยให้ความเห็นว่า การกำหนดให้นายกฯ เป็นผู้รับรองกฎหมายการเงินมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ขณะนี้ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ได้นำหลักนี้มาใช้ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนั้นกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองไม่ได้กำหนดหลักการนี้ไว้ กำหนดเพียงว่า ให้ส.ส.เสนอกฎหมายได้ทุกประเภท

**ซัดเปิดช่องชงกฎหมายนิรโทษ

นายสมบัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ตามมาตรา 182 เป็นที่น่าวิตกอย่างยิ่ง เพราะกำหนดให้นายกฯ แถลงต่อสภาว่า พ.ร.บ.มีความสำคัญ และเป็นนโยบายของรัฐบาล และถ้าสภาไม่เสนอญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ ภายใน 48 ชั่วโมง จะถือว่าสภาให้ความเห็นชอบ และหากสภายื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และรัฐบาลชนะ หมายความว่า ฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแพ้ ให้ถือว่าสภาแห่งนี้ให้ความเห็นชอบ ขอให้พิจารณาไตร่ตรองว่า การทำตามมาตรา 182 จะทำได้เพียงครั้งเดียวในแต่ละสมัยประชุม ถ้ารัฐบาลเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะทำอย่างไรกัน หมายความว่า สภาให้ความเห็นชอบกฎหมายนี้ ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย จะเกิดอะไรขึ้น ฝ่ายค้านก็ทำอะไรไม่ได้ จะกลายเป็นจุดชนวนที่ทำให้ประชาชนออกมาบนท้องถนนอีกหรือไม่ ตนคิดว่ามากพอที่จะทำให้เกิดวิกฤตทางการเมืองได้ อยากฝากให้กรรมาธิการยกร่างฯไตร่ตรอง เหตุผลที่ดีอาจจะมี แต่ต้องตระหนักถึงอันตรายที่จะบังคับใช้ มาตรา 182 ด้วยเช่นกัน และจากประสบการณ์ของตน เห็นว่าโอกาสเกิดขึ้นได้สูง

**ชี้รัฐบาลผสมทำการเมืองไทยตกหลุมดำ

นายสมบัติ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการยุบสภา และสำเร็จทุกครั้ง ขณะเดียวกันให้ฝ่ายค้าน มีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากรัฐบาลมีเสียงข้างมาก ก็จะไม่มีทางสำเร็จ แต่ก็อาจสำเร็จได้บ้างหากรัฐบาลรูปแบบผสม ไม่มีเสียงข้างมาก และตกลงกับพรรคร่วมไม่ได้ ดังนั้นที่ผ่านมาการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงเป็นกลไกที่อ่อนแอมาก
ทั้งนี้ การออกแบบเลือกตั้งให้มีรูปแบบใด ล้วนมีข้อดีด้วยกันทั้งสิ้น แต่ตนคิดว่ารัฐบาลผสมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ก่อน ปี 40 เป็นภาพที่เลวร้ายของสังคมไทย และทำให้การเมืองไทยตกอยู่ในหลุมดำ ไม่สามารถขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลผสมเกิดขึ้นได้ 2 ทาง คือ 1. พรรคแกนนำมีเสียงเกินครึ่งเล็กน้อย เยอรมันเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง เราจะเห็นว่า พรรคแกนนำรัฐบาลจะมีอำนาจต่อรองสูง ถ้านึกไม่ออก ขอให้นึกถึงรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีอำนาจบงการสภาเต็มที่ อีกด้านหนึ่ง ผลการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง พรรคกลางและเล็ก จะมีอำนาจต่อรองมาก การจัดตั้งรัฐบาล ก็จะกลับไปเป็นแบบแบ่งโควตา และต่อไปถ้ารัฐบาลไปพูดถึงนโยบายพัฒนาประเทศ พรรคแกนนำจะไม่สามารถประกาศนโยบายได้อย่างเป็นเอกภาพได้ เมื่อการขับเคลื่อนไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะมีอุปสรรคในการปฏิรูปประเทศ
ดังนั้นโจทย์ที่บอกว่า ที่ผ่านมาเรามีรัฐบาลที่เข้มแข็งเกินไป และแก้ไขโดยต่อไปนี้ ให้มีรัฐบาลไม่ค่อยเข็มแข็ง ถือเป็นการวิเคราะห์โจทย์ที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีประเทศไหนที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาแล้วทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางสำเร็จ ไม่เห็นสักประเทศที่ทำได้ เพราะมีรัฐบาลผสม ลองไปตรวจสอบดูว่าประเทศที่กำลังพัฒนา ประสบความสำเร็จโดยใช้รัฐบาลผสมขับเคลื่อนประเทศ มีแต่มีรัฐบาลเข้มแข็งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเราคือ เมื่อมีรัฐบาลที่เข้มแข็งแล้วจะทำอย่างไร ทางมีอยู่คือ ต้องมีกลไกตรวจสอบประพฤติมิชอบ หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ

**แนะเขียนเฉพาะกาล ปิดนายกฯคนนอก

"ในร่างรัฐธรรมนูญ ยังมีความสับสนระหว่างการแบ่งแยกอำนาจระหว่างประธานาธิบดี มาใช้กับระบบรัฐสภา โดยในมาตรา 175 กำหนดไว้ชัดเจนว่า นายกฯ และรัฐมนตรี ต้องไม่เป็นส.ส. เหมือนเป็นการใช้หลักแบ่งแยกอำนาจ แต่ปรัชญาและหลักการ ต่างกัน เพราะเขาถือว่าฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และฝ่ายนิติบัญญัติ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ไม่มีการยุบสภา ไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะถือว่าต่างฝ่ายต่างมีอำนาจ และทำหน้าที่ อย่างไรก็ตามเราบอกว่า เราคือระบบรัฐสภา แต่กลับนำหลักแบ่งแยกอำนาจมาใช้ ซึ่งรู้สึกเหมือนไม่สนิท เพราะหลักการสองระบบขัดกันอยู่ อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่ากลไกการตรวจสอบทุจริตยังอ่อนแอ ถ้าเกิดรัฐบาลฮั้วกันได้ อภิปรายไม่ไว้วางใจกี่ครั้ง ฝ่ายค้านก็แพ้หมด ถ้าอภิปรายปรายไม่ไว้วางใจจะได้ผล มีทางเดียว คือ พรรคแกนนำมีเสียงไม่ถึงครึ่ง และฮั้วกันไม่ได้ พรรคร่วมรัฐบาลขนาดเล็กร่วมมือกับฝ่ายค้านในการอภิปราย ส่วนเรื่องถอดถอนในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 เราก็นำหลักมาจากระบบประธานาธิบดี ซึ่งก็ใช้ไม่ได้ผล แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะปรับใช้เสียงถอดถอนเพียงครึ่งของสมาชิกรัฐสภา จากเดิมใช้เสียง 3 ใน 5 ก็ตาม แต่นิสัยของนักการเมืองไทย ถ้ารู้ว่าตนเองจะถูกถอดถอน ถ้าเสียงมีอยู่ 650 เสียง เกินครึ่งคือ 325 เสียง เขาก็คงจะตั้งรัฐบาลผสม ให้มีเสียงมากกว่า 325 เสียงไว้ก่อน เหมือนสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นหลักถอดถอนดังกล่าว จึงไม่มีประสิทธิภาพ"
นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า กรณีเลือกคนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ และนายกฯ เลือกคนนอกมาเป็นรัฐมนตรี เพราะรัฐมนตรีห้ามเป็น ส.ส. แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจบริหาร ไม่ได้เกี่ยวข้อง หรือยึดโยงกับประชาชนเลย อ้างได้อย่างเดียวว่า ส.ส.ซึ่งเป็นตัวแทนจากประชาชน เป็นคนเลือกนายกฯ ซึ่งตัวตรงจริงๆ ของนายกฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนแม้แต่น้อย และหนักไปกว่านั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องได้รับคำรับรองจากนายกฯ เท่ากับว่า นายกฯ เท่ากับว่า ฝ่ายที่ไม่ได้มาจากประชาชน เป็นฝ่ายที่มีอำนาจสูงสุด จึงขอให้ทุกท่านพิจารณาให้รอบคอบ เพราะกรรมาธิการยกร่างฯ ระบุว่า เจตนารมณ์ในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อให้พลเมืองเป็นใหญ่ แต่การให้คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องมาจากประชาชน จะขัดแย้งกันเองพอสมควร แต่ถ้ามีความจำเป็น ตนก็มีทางออกว่า ให้เขียนในบทเฉพาะกาลว่า ต้องเลือก ส.ส.เป็นนายกรัฐมนตรี

**ติงร่างรธน. ยิบย่อยเกินจำเป็น

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและการยุติธรรม สปช. อภิปรายว่า ตนเคยร่วมเป็นส.ส.ร. ทำการ ร่างรัฐธรรมนูญปี 40 ได้เห็นปัญหามากพอสมควร ซึ่งในภาวะบ้านเมืองขณะนี้ ควรเขียนรัฐธรรมนูญให้สั้น มีความกระชับ แล้วเอาเนื้อหาสาระส่วนใหญ่ ไปใส่ในกฎหมายลูก แต่กลับมีการเอาเนื้อหามาใส่ในร่าง รธน. จนมากเกินไป หลายประเด็นตนเห็นว่า ถ้าใช้แล้วจะเกิดปัญหาหลายส่วน กรรมาธิการ จะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ทำแล้วแก้ไขปัญหาบ้านเมืองอย่างไร ปัญหาสำคัญคือ การเลือกตั้ง ปัญหาทางการเมืองเป็นหัวใจสำคัญ บ้านเมืองแตกแยก ขัดแย้ง มีนักการเมือง ข้าราชการทุจริต คอร์รัปชัน ระบบต่างๆ ควรหาทางแก้ไขต้องตอบโจทย์ให้ได้ แต่ที่กรรมาธิการยกร่างมานั้น ตอบไม่ได้ ควรมีการแก้ไข สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ เช่น การเลือกตั้ง ยังจัดระบบเลือกตั้งให้มี ส.ส. มา 2 ทาง คือ แบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ควรมาจากแบบเขตอย่างเดียว เพราะเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง รับรู้ปัญหาในพื้นที่มากสุด ไม่จำเป็นต้องมีแบบบัญชีรายชื่อ ในปี 40 เราต้องการให้มีบัญชีรายชื่อ เพื่อไม่ให้คนกลุ่มหนึ่งสมัครโดยไม่ต้องใช้เงินซื้อเสียง โดยให้คนที่อยู่ลำดับแรกๆ ได้รับการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่กรรมาธิการทำโดยให้มีการจัดทำรายชื่อ แบ่งกลุ่ม แบ่งภาค และให้ประชาชน สามารถเลือกลำดับคนในบัญชีได้อีก จะต่างอะไรกับการเลือกตั้งแบบเขต ไปๆ มาๆ คนที่มีชื่อในบัญชี ต้องการได้คะแนน ก็ต้องไปซื้อเสียง ไม่ยากที่จะหาคะแนนจัดตั้ง แค่ซื้อเสียงเจ้าของโรงงาน 4-5 แห่ง ให้ลูกจ้างลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้แล้ว ระบบนี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ไปๆ มาๆ จำนวนส.ส.เขต ก็ลดลงเหลือเพียง 250 คน แต่ถ้าให้เหลือแต่แบบเขตแล้วให้มี ส.ส.เขตละ 2-3 คนก็ได้ มันตอบได้ว่าคนที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นตัวแทนของประชาชนในเขตนั้น อย่าไปเลียนแบบประเทศไหน เราต้องดูปัญหาของเราเป็นหลัก

**เปิดทางกลุ่มการเมืองอาจได้ "ตู่" นั่งนายกฯ

นายเสรี กล่าวด้วยว่า ที่กรรมาธิการยกร่างฯ พยายามอธิบายว่า ให้มีการเลือกตั้งรูปแบบนี้ เพื่อให้มีหลายพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง และจะได้เป็นรัฐบาลผสม ถือเป็นการขัดแย้งกับเหตุผล หากมีรัฐบาลผสม หลายพรรคการเมืองจะต้องเอาคนจากพรรคมารวมตัวเพื่อจัดตั้งรัฐบาล และจะมีระบบโควตา มีการซื้อขายตำแหน่งกันเหมือนเดิม แล้วรัฐบาลจะเข้มแข็งได้อย่างไร หากต้องการจะให้มีการเข้มแข็ง จะต้องให้นายกรัฐมนตรีอิสระจากสภานิติบัญญัติ แยกอำนาจหน้าที่นายกฯ กับสภาออกให้ขาดให้ได้ และที่อ้างว่าหัวใจสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเมือง คือให้มี ส.ส.ที่มาจากกลุ่ม การเมือง เพื่อป้องกันส.ส.ขายตัว แต่สภาพปัญหาที่ผ่านมา จะเห็นว่ากลุ่มการเมืองก่อให้เกิดความขัดแย้งประชาชนทั้งประเทศ จนทหารพยายามสลายกลุ่มแยกสี แต่รัฐธรรมนูญนี้ ลืมไปแล้วหรือ" หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ผลจะทำให้คนกลุ่มการเมืองที่ออกมาต่อสู้ ก็จะมีตัวแทนเข้ามา เช่น นปช. กปปส. ที่แบ่งข้างกันชัดเจน ถ้าออกกฎหมายมารองรับให้มาเล่นการเมืองได้ กลุ่มพวกนี้มีสมาชิกรวมแล้วเป็นสิบๆ ล้านคน ต่อไปเลือกตั้งพรรคการเมืองจะหมดความหมาย จะกลายเป็นกลุ่มการเมือง และจะสร้างความแตกแยกให้คนในชาติ คิดหรือไม่ว่าจะเกิดสิ่งเหล่านี้ นี่คือปัญหาใหญ่ ถ้าคิดว่าการให้กลุ่มการเมือง และมีรัฐบาลหลายพรรคการเมือง ต่อไปคนที่จะจัดตั้งรัฐบาลไม่ นปช. ก็ กปปส. คนที่เป็นนายกฯ อาจจะเป็น จตุพร พรหมพันธุ์ ก็ได้ ถ้าพระสุเทพไม่สึกมา ก็จะมี กปปส. เป็นรัฐมนตรี คนก็จะแยกกันเป็นฝักฝ่ายออกมาต่อสู้กันอีก หากเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ดี ก็จะเกิดรัฐบาลอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพ หลายกลุ่มรวมตัว ทุจริต แลกผลประโยชน์ สู้ในสภาไม่ได้ ก็จะสู้แบบที่ผ่านมา"
อย่างไรก็ตาม ตนไม่ติติงกรรมาธิการ เชื่อว่าหวังดี มีเจตนาดี อยากเอาความรู้ ประสบการณ์ วิชาการ มาเขียนในรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความปรารถนาดี แต่ได้มองอีกด้านหรือไม่ มีหลายเรื่องเขียนแล้วสร้างปัญหาให้ชาติ ไม่ว่าองค์กรต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นมา ฟังแล้วก็ดูดี เช่น ยกฐานะชาวไทยให้เป็นพลเมือง ทุกคนทั้งประเทศก็งง ว่ามันคืออะไร องค์กรคณะกรรมการต่างๆ หลายๆ องค์กรที่เกิดขึ้น ตนแนะนำให้ไปเขียนในกฎหมายลูกดีกว่า ถ้านำไปใส่ในรัฐธรรมนูญ มันไม่มีหลักประกันอะไรที่จะเป็นคำตอบว่า มันจะดีอย่างที่ต้องการหรือไม่ บางอย่างแนะนำว่า ควรปล่อยให้รัฐบาล กรรมาธิการ หรือ สภา ไปทำตามกฎหมายลูก อย่าทำเองเลย ถูกครหาเปล่าๆว่าทำเพื่อตัวเอง ถ้าออกไปแล้วกลับมาก็ทำได้ แต่อยู่ในตำแหน่งอย่าทำอะไรเพื่อประโยชน์ตัวเองเลย มันเสียหาย

**หลังร่างรธน.คลอดมีปฏิวัติอีกแน่

นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.นนทบุรี ในฐานะกมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า อำนาจของประชาชน ที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่สิทธิที่แท้จริงตามนิยาม และปรัชญาของ อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะอำนาจที่แท้จริงได้เขียนไว้ใน มาตรา 3 ว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" แต่ปรากฏว่า ที่มาของอำนาจ กมธ.ยกร่างฯไม่ได้ให้ประชาชนมีอำนาจเลือกผู้ปกครองของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด โดยประชาชนมีอำนาจหลักๆ คือ เลือก และถอดถอนผู้มีอำนาจของเขาเองได้ ฉะนั้นมาตรา 172 ที่ให้นายกฯ มาจากคนนอก จะนำไปเปรียบเทียบกับ มาตรา 3 ไม่ได้ หรือจะเปรียบเป็นอำนาจของประชาชนไม่ได้
ทั้งนี้ ตนไม่เห็นด้วยที่นายกฯ จะมาจากคนนอก เพราะการกำหนดให้นายกฯ มาจากคนนอกได้ ไม่มีใครเชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ ต้องการใช้เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาเมื่อยามบ้านเมืองเกิดวิกฤต แต่จะกลายเป็นการเปิดให้อำนาจพิเศษมากดดัน และที่สุดจะมีนายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วย หากกมธ.ยกร่างฯ จะเปิดช่องให้มีการแก้วิกฤตของบ้านเมือง ซึ่งอาจจะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ก็ได้
นายดิเรก กล่าวต่อว่า การตั้งโจทย์ว่า ไม่ให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งเกินไป เป็นสิ่งที่ผิด เพราะหมายความว่า คนที่จะมาดูแลประเทศจะอ่อนแอ ซึ่งก็จะทำให้ประเทศพัฒนาสู้ประเทศอื่นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลผสมไม่ว่ารัฐบาลใดก็ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้ประชาชนได้ มีแต่รัฐบาลผสมปวดหัว ที่แย่งตำแหน่งในรัฐบาลกันเอง และที่สุดทำได้เพียงประคองซึ่งกันและกัน จนครบวาระในการดำรงตำแหน่ง การพัฒนาประเทศไม่เกิด ฉะนั้น การตั้งโจทย์ดังกล่าว จึงเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด ตนยืนยันว่า รัฐบาลต้องเข้มแข็ง ซึ่งเมื่อตั้งโจทย์ผิด คำตอบก็ผิด
"เราบอกว่าระบบเลือกตั้งที่เราใช้ ไม่ใช่ระบบเยอรมัน แต่ระบบที่เราตั้งขึ้นมาเอง ผมก็บอกกับท่านว่าท่านคิดผิด คนไทยชอบอะไรง่ายๆ ชอบอะไรที่เห็นชัดเจน ระบบเลือกตั้งเดิมไม่ได้เสียหายอะไรเลย เราบอกว่าเรามีการซื้อสิทธิ ขายเสียง เราก็ต้องไปดู กกต.ว่า ทำอย่างไรให้การซื้อสิทธิขายเสียงหมดไป ต้องทำให้คนไทยทั้งประเทศรู้ว่าถ้าซื้อสิทธิ ขายเสียง ลงทุน 20 ล้าน เพื่อเอาเงินเดือนเพียง 4 ล้าน มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องไปสอนชาวบ้านว่า เขาก็ต้องไปเอาทุนคืนแน่นอน " นายดิเรก กล่าว
นายดิเรก กล่าวด้วยว่า หาก ส.ว.เป็นไปตามที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้ร่างไว้ ยืนยันว่า จะมีการทะเลาะกันแน่ และเลือกตั้งเสร็จจะต้องมีการดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญแน่นอน เมื่อแก้ ก็ต้องมีคนออกมาประท้วงแน่นอน และอีกไม่กี่ปี ก็จะปฏิวัติรัฐประหารกันอีก ถ้าให้ส.ว. มีหน้าที่ถอดถอน และออกกฎหมายอีก ส.ว.ก็ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลว่า หากเลือกตั้งส.ว.ทั้งหมด ก็จะมีฐานเดียวกับนักการเมืองนั้น ตนอยากบอกว่า ประชาชนก็มีอยู่แค่นี้ ซึ่งเราก็ต้องสอนว่า หน้าที่ของประชาชน คืออะไร แต่ถ้าอยากให้ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด ก็ไม่ขัดข้อง แต่ต้องทำหน้าที่เพียงแค่พิจารณากฎหมายเท่านั้น ถ้ารัฐธรรมนูญออกมาในลักษณะนี้ จะมีการปฏิวัติอีกแน่นอน ซึ่งวิธีการแก้ไขคือ การปักหลัก 3 อำนาจที่เป็นส่วนประกอบของอำนาจอธิปไตยให้แน่น และพัฒนาคนเขามาหาหลักอำนาจทั้ง 3 และขอให้อดทนให้รัฐบาลอยู่จนครบวาระ หากระหว่างนั้นมีการทุจริต ให้เปิดแผลไปเรื่อยๆ เชื่อว่าประชาชนจะพิจารณาเอง ไม่มีใครที่ได้ครองอำนาจเป็นรัฐบาลไปตลอด

**ติงนิยาม"เงินแผ่นดิน"ปิดตายช่วงฉุกเฉิน

นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง กล่าวสนับสนุน ว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า ทันสมัย สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจสังคมไทย และของโลก สามารถแก้ปัญหาหลักๆ ของประเทศได้หลายอย่าง และสามารถปฏิรูปที่เป็นจริงได้ ถือว่าเป็นผลงานที่มีคุณภาพ สะท้อนถึงความสามารถและชาญฉลาดของกรรมาธิการ ยังแสดงถึงความขยันและความตั้งใจด้วย ซึ่งใน มาตรา 88-91 เรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเงินการคลัง แต่น่าจะมีการระบุเพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณว่า ควรคำนึงถึงการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่กรรมาธิการ บัญญัติว่า การจัดสรรงบประมาณ ควรคำนึงถึงความเสมอภาคระหว่างเพศ และด้านอื่นๆ ตนไม่คัดค้าน แต่ในยุคที่กำลังปฏิรูป และมีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ การจัดสรรงบฯ ควรต้องมีหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำด้วย ซึ่งใน มาตรา 88 ระบุว่า รัฐต้องส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเสรีอย่างเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ แต่หากจะใช้นโยบายการคลังเพื่อลดเหลื่อมล้ำ จะทำได้สองอย่าง คือ เก็บภาษีในอันตราก้าวหน้า เก็บจากคนรวยมากกว่าคนจน แต่ต้องดูมีการใช้จ่ายงบประมาณกับคนรวย เท่าเทียมกับคนจนด้วย มิเช่นนั้นจะลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้
ส่วนที่เป็นนวัตกรรมใหม่ คือ นิยามคำว่า "เงินแผ่นดิน" แยกเป็น 2 ความหมาย คือ 1 . รวมถึงรายได้แผ่นดิน เงินกู้ เงินคงคลัง และเงินรายได้จากทรัพย์สิน และ สิทธิประโยชน์อื่นที่รัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐถือกรรมสิทธิ์ หรือครอบครองเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และ 2. รายได้จากการดำเนินงาน หรือจากทรัพย์สิน หรือสิทธิประโยชน์อื่นที่หน่วยงานของรัฐถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง และใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เป็นการเฉพาะ โดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และการจ่ายเงินตาม วงเล็บ 1 โดยไม่ได้ ตรา พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี หรืองบประมาณเพิ่มเติม จะกระทำมิได้ ถือเป็นหลักการทางการคลัง เพื่อป้องกันการใช้จ่ายเงินโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา เพราะมีปรากฏการณ์ มีคนใช้ในทางที่ผิด โดยออกกฎหมายกู้เงินจำนวนมาก แล้วระบุว่า เงินที่กู้มา ไม่ต้องผ่านกระบวนการงบประมาณ สามารถเอาไปจ่ายตามวัตถุประสงค์การกู้นั้นๆ ความผิดพลาดที่เกิดจากการกระทำของรัฐบาลบางชุด และสมควรต้องแก้ไข แต่จะทำโดยปิดประตูเลย ตนคิดว่าอาจจะมีปัญหา ประตูที่เปิดไว้เป็นประตูหนีภัย หรือ เซฟตี้วาล์ว ซึ่ง ข้อความทำนองนี้ ในมาตรา 200 (1) มีอยู่ ในมาตรา 4 ของพ.ร.บ.เงินคงคลัง ที่ระบุว่า บรรดารายได้ เงินกู้ เงินคงคลัง ให้เก็บเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และการจ่ายเงินจากคลังกระทำได้เฉพาะตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี และกฎหมายอื่นๆ ที่กำหนด ถือเป็น พ.ร.บ.คลาสสิก และใช้กันมาตลอด แต่การเขียนรัดตัวไป จะเกิดปัญหาได้ จึงยืดหยุ่นด้วยการการเขียน มาตรา 7 กำหนดเป็นกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามกฎหมายนั้นๆซึ่งถือเป็น เซฟตี้วาล์ว เมื่อมีการเอา มาตรา 6 นี้มาใส่ในรัฐธรรมนูญ แม้จะมีข้อความเหมือนกัน แต่ผลจะแตกต่างกันมาก เพราะจะมีศักดิ์เหนือกฎหมายอื่น กฎหมายอื่นจะขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ จะทำให้ มาตรา 7 ในพ.ร.บ.เงินคงคลัง ขัดกับรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ
" ซึ่งแปลว่า เราปิดประตูตาย ระบบก็จะขาดความคล่องตัวเวลาที่เกิดภัยพิบัติขึ้น และมีผลโดยเฉพาะที่มีความจำเป็นต้องกู้เงิน ผมเข้าใจดีถึงความจำเป็นที่ต้องการแก้ปัญหา แต่การปิดประตูตายหมด น่าจะเป็นปัญหาในอนาคตต่อไป" นายสมชัย กล่าว

** หนุนงบ 2 ขาแต่ห่วงขัดพรบ.เก็บภาษี

นอกจากนี้ ยังห่วงว่าในร่างรัฐธรรมนูญไม่มีการกล่าวถึง พ.ร.บ.เงินคงคลัง กับ พ.ร.บ.บริหารหนี้ ว่าจะมีอยู่ หรือยุบเลิกไปรวมกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ จึงควรทำอย่างรอบคอบ หากมีการใช้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการคลัง และการงบประมาณภาครัฐ ยังไม่ได้ออก จะทำอย่างไร เพราะ พ.ร.บ.เงินคงคลัง และพ.ร.บ.การบริหารหนี้ จะขัดกับรัฐธรรมนูญ จะยังใช้ได้หรือไม่ จึงต้องเขียนในบทเฉพาะกาลให้ดี และอีกปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือ การจ่ายเงินเดือน เงินบำนาญ ขณะนี้มีงบไม่พอ
และจ่ายหมดก่อนสิ้นปีงบประมาณ แต่แก้ปัญหาโดยอาศัย พ.ร.บ.เงินคงคลัง มาตรา 7 ให้จ่ายไปก่อนได้ แต่ถ้ามีการปิดประตูเช่นนี้ ก็จะไม่สามารถจ่ายเงินเดือน และ จ่ายบำนาญไม่ได้
นายสมชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้มีงบประมาณ 2 ขา ซึ่งตนเห็นด้วย แต่อยากให้ระบุให้ชัดว่า คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร เดิมเรามีงบประมาณขาเดียว คือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่จะเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี ไม่มีคำว่า รายจ่าย แปลว่าจะมีทั้งรายรับ และรายจ่าย ถือเป็นเรื่องดี ที่จะทำให้ครบถ้วน แต่ผลจะทำให้ตัวเลขรายรับที่กำหนดไว้ เป็นมาตรา 1 พ.ร.บ.งบประมาณ จะมีความหมายว่าอะไร มีผลบังคับหรือไม่ และกรณีบังคับห้ามจ่ายเกินตัวเลขที่กำหนด จะแปลว่า ในกรณีรายได้สามารถเก็บเกิน หรือต่ำกว่าตัวเลขที่ตั้งไว้ไม่ได้ด้วยใช่หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะแบบไหนก็ไม่มีผล เพราะการจัดเก็บภาษีต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดเก็บภาษี ที่มีก่อนที่ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี แต่ละปีจะออกมา
" ปกติการเก็บภาษีต้องเป็นไปตามกฎหมาย เช่น เก็บมาได้ 2 ล้านล้านบาท แต่งบประมาณบอก ต้องเก็บให้ได้ 2.5 ล้านล้าน จะไปเก็บเพิ่มอีกเพื่อให้ครบนั้น มันทำไม่ได้ หรือหากปีไหนมีรายได้ดี เก็บภาษีได้มาก แต่เมื่อครบตาม พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีกำหนดแล้วจะหยุดเลยก็ไม่ได้ เพราะต้องเก็บตาม พ.ร.บ.การจัดเก็บภาษี ในปี 50 เขาเขียนประมาณการรายได้ แถลงไว้ในเอกสารประกอบงบประมาณ ไม่ใช่ตัวเลขที่ใช้บังคับ แต่ตอนนี้จะมาเขียนไว้ใน มาตรา 1 ของพ.ร.บ.งบประมาณ แต่ผมว่า ผลบังคับมันก็จะเหมือนเดิม ไม่ได้แตกต่างอะไรมาก ไม่ใช่เป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่เหมือนที่สื่อลงข่าวคึกโครม ซึ่งควรจะเขียนในเจตนารมณ์ได้ถูกต้อง และเป็นจริง ที่คุยว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีผลประโยชน์อะไรเยอะแยะ มันจะเป็นปัญหาให้ตีความในภายหลังได้" นายสมชัย ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น