xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ ยัน “รัฐบาลผสม” ได้คนตามความนิยมประชาชน - เปิดช่องกลุ่มการเมืองเหมือนลีกฟุตบอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กมธ.ยกร่างฯ ยัน ไม่เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง - ที่มา ส.ว.- นายกฯ คนนอก อ้างเป็นหลักการสำคัญ “เลิศรัตน์” แจงเปิดช่องกลุ่มการเมืองเข้าสภาไม่มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าพรรคการเมือง แค่ต้องการให้คนที่อยากอาสารับใช้ประชาชนได้มีโอกาส แต่ขั้นตอนน้อยกว่า เปรียบเหมือนลีกฟุตบอล พร้อมยันรัฐบาลผสมไม่เกิดการต่อรอง ชี้เหตุรัฐประหาร 2 ครั้ง เพราะพรรคแกนนำเสียงมากไม่ฟังข้างน้อย ไม่เกี่ยวขาดธรรมาภิบาล ท้าถ้ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยก็คว่ำได้



วันนี้ (22 เม.ย.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวยืนยันว่า ระบบเลือกตั้งที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญออกแบบไม่ทำให้พรรคอ่อนแอ แต่จะเป็นรัฐบาลผสม พร้อมยกตัวอย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา เช่น พรรคเพื่อไทย ที่ได้ 265 คน แต่ถ้าคิดคำนวณตามระบบใหม่จะเหลือ 247 คน คือมีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ทำให้เกิดรัฐบาลผสมมีลักษณะเป็นการฟังพรรคร่วมรัฐบาล ระบบดังกล่าวจึงเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชน ไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลอ่อนแอ แต่เจตนาหลักคือให้พรรคได้คะแนนเสียงตามความนิยมของประชาชนที่แท้จริงเท่านั้น พรรคเล็กจะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองหรือพรรคขนาดเล็กเข้าสภามากขึ้น แต่ไม่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลผสมมีปัญหา ส่วนการออกแบบให้มีกลุ่มการเมืองเพราะพรรคการเมืองไทยมีหลายรูปแบบ การเข้าสังกัดพรรคไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีวัฒนธรรมของแต่ละพรรคโดยไม่ได้ดูตามความเหมาะสม ดังนั้น ที่มาของกลุ่มการเมืองจึงเปิดช่องให้กลุ่มบุคคลที่ต้องการอาสารับใช้ประชาชนมีโอกาสเป็น ส.ส. โดยจดทะเบียนแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยพรรคการเมืองก็จะเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ. ว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ยอมรับว่าการจดแจ้งเป็นกลุ่มการเมืองมีขั้นตอนที่ง่ายกว่าพรรคการเมือง แต่ไม่ถือว่ามีอภิสิทธิ์ เพียงแต่ข้อกำหนดแตกต่างกันเท่านั้นเอง โดยกลุ่มการเมืองไม่จำเป็นต้องแข่งทั้งประเทศหรือมีสาขาทั่วประเทศเหมือนพรรคการเมือง แต่ถ้าพรรคการเมืองจะทำแบบกลุ่มการเมืองก็จะต้องถูกยุบพรรคการเมืองก่อนเพราะทำผิดกฎหมายจากนั้นค่อยไปตั้งกลุ่มการเมือง

พล.อ.เลิศรัตน์ ยังเปรียบเทียบประเด็นพรรคการเมืองกับกลุ่มการเมือง ว่า เหมือนกับลีกฟุตบอล แต่ผู้สื่อข่าวแย้งว่า เทียบกันไม่ได้เพราะลีกฟุตบอลเป็นเรื่องการจัดลำดับชั้น แต่กลุ่มการเมืองจะได้เป็น ส.ส. เช่นเดียวกับพรรคการเมือง ทำให้ พล.อ.เลิศรัตน์ พยายามเบี่ยงเบนไปประเด็นอื่น โดยไม่ตอบคำถามดังกล่าว ทั้งนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ ยังยืนยันว่าระบบเลือกตั้งที่ทำให้เป็นรัฐบาลผสมจะไม่ก่อให้เกิดวังวนของการรัฐประหารเหมือนที่ สปช. บางรายตั้งข้อสังเกต เพราะการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมามีเหตุเกี่ยวข้องหลายประการ โดยเฉพาะ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม จึงไม่สามารถสรุปว่าการออกแบบวุฒิสภาแบบพหุนิยมมีทั้งจากองค์กรวิชาชีพจากการสรรหา และ ส.ว. จากการเลือกตั้งจะเป็นสภาที่ไม่เหมาะสม

“ถ้าจะเสนอแก้ไขก็ทำตามขั้นตอนใช้เสียงสองในสามของรัฐสภา และต้องทำประชามติด้วย เพราะถือเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสำคัญของรัฐธรรมนูญ มีการบัญญัติมาตรา 303 ว่า เมื่อถึงเวลา 5 ปี ให้มีคณะกรรมการประชุมพิจารณาว่ามีข้อบังคับหรือบทบัญญัติใดสมควรแก้ไขให้เสนอได้ ร่างนี้จึงไม่ใช่ศิลาจารึกที่แก้ไขไม่ได้ แต่เมื่อถึงเวลาจำเป็นก็สามารถแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วย มั่นใจว่าการออกแบบวุฒิสภาแบบผสมไม่ก่อให้เกิดความแตกแยก แต่จะทำให้การทำหน้าที่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะ ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ควรคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น ผมก็ไม่ว่าอะไร” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า หลักการสำคัญเช่นระบบการเลือกตั้ง สภาเป็นระบบที่กลั่นกรองมาอย่างถ่องแท้และรอบคอบ เป็นระบบที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ พรรคแกนนำเข้มแข็งทำให้เกิดรัฐประหาร จึงออกแบบให้เป็นรัฐบาลผสม รวมถึงการออกแบบวุฒิสภาที่มาจาก 3 ทาง คือ เลือกกันเอง การสรรหา และเลือกตั้งจากประชาชน ส่วนเรื่องนายกคนนอกก็มีการเตรียมเพิ่มถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 173 ว่า ในกรณีพ้น 30 วัน ไม่มีปราฏฎว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ประธานรัฐสภานำรายชื่อผู้ได้รับคะแนนสูงสุดทูลเกล้าฯเป็นนายกฯ โดยให้ใช้กรณีนี้เฉพาะนายกฯที่ ส.ส. เท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีนายกฯคนนอก

เมื่อถามว่า กรรมาธิการตั้งโจทย์ผิดหรือไม่ ว่า ปัญหาเกิดจากพรรคแกนนำมีความเข้มแข็งมากเกินไปแต่ความจริงเพราะไม่มีธรรมาภิบาล พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า กรรมาธิการไม่ได้มองจุดนั้น จะไปบอกว่ารัฐบาลไหนไม่มีธรรมาภิบาลไม่ได้ เพียงแต่เราเชื่อว่า เมื่อมีเสียงมากก็ฟังเสียงคนอื่นน้อยลงพร้อมกับเชื่อว่ากลุ่มการเมืองที่เกิดขึ้นจะไม่ทำให้เกิดการต่อรองหรือรวมกลุ่ม 5 - 6 คน เพื่อเป็นรัฐมนตรีเหมือนในอดีต เนื่องจากการจะได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ขึ้นอยู่กับคอนเนกชัน

ส่วนที่ สปช. ไม่สบายใจกับการล็อคตำแหน่ง 60 คน ในสภาขับเคลื่อนฯนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ ระบุว่า ฟังเสียงทักท้วงจาก สปช. สามารถปรับปรุงให้ถูกใจทุกคนได้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์จะมีที่มาจากไหน เพราะการอภิปรายยังไม่ถึงหมวดดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะไม่มีอะไรแถลงต่อสื่อมวลชน

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐูรรมนูญ กล่าวว่า รูปแบบความเป็นประชาธิปไตยอยู่ที่สภา และเชื่อว่าจะก่อให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด ส่วนวุฒิสภาออกแบบเป็นที่รวมของกลุ่มอำนาจในพลังสังคมไทย โดยตั้งใจให้เป็นลักษณะพหุนิยมและแตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎร ยอมรับว่า ไม่ง่ายที่จะทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันจึงมีการปรับจนได้วิธีการที่ดีที่สุด ซึ่งจะมีรายละเอียดในร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ




กำลังโหลดความคิดเห็น