"สมบัติ" เผย ถกร่วม กมธ.ปฏิรูปการเมือง-กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย เห็นพ้อง เสนอแปรญัตติอย่างน้อย 10 ประเด็น ชี้ มาตราอันตราย 181 -182 ให้นายกฯยื่นญัตติไว้วางใจตัวเอง กีดกันฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ แถมให้อำนาจพิเศษเสนอกฎหมายโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา ถือว่า รธน.ฉบับนี้สร้างเผด็จการรัฐสภาเต็มรูปแบบ 100 %
วันนี้ (28เม.ย.) นายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อมคณะ แถลงถึงประเด็นที่จะเสนอแปรญัตติว่ามีการประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การแปรญัตติมีน้ำหนักมากขึ้นในความเห็นที่ตรงกันของกรรมาธิการ 2 ชุด และมีการตั้งกรรมาธิการเตรียมการแปรญัตติเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 1 ชุด มีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธานจะดำเนินการร่างญัตติที่จะยื่นต่อกรรมาธิการยกร่างฯภายในสองสัปดาห์ แต่ถ้าเสร็จก่อนจะให้กรรมาธิการทุกชุดมาร่วมตรวจดูว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ยังไม่สมบูรณ์
สำหรับเบื้องต้นมีการกำหนดประเด็นแปรญัตติอย่างน้อย 10 ประเด็น ประกอบด้วย 1) เรื่องกลุ่มการเมืองซึ่งอนุกรรมาธิการพรรคการเมืองเห็นว่ากลุ่มการเมืองจะมีผลทำให้สถาบันพรรคการเมืองอ่อนแอและจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าเกิดประโยชน์ตามที่กรรมาธิการฯให้เหตุผลไว้ 2) การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดรัฐบาลผสมอ่อนแอ เหมือนร่างกายมีอวัยวะดีหมดแต่หัวใจคือรัฐบาลผสมกลับอ่อนแอแล้วจะอยู่กันอย่างไร เพราะจะทำให้ไม่มีเอกภาพในการบริหารประเทศ
3) ที่มาวุฒิสภาแม้มัมีการปรับให้มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด แต่ก็ต้องผ่านการสรรหาก่อน ถือว่ามีความสลับซับซ้อนเป็นพหุสภา หลักการเหมือนดีแต่ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย 4) ที่มานายกรัฐมนตรีกรณีนายกคนนอกเป็นเรื่องหลักการระบอบประชาธิป ไตยที่ประชาชนเลือกตัวแทนมาใช้อำนาจ กลับกำหนดไม่ให้ฝ่ายบริหารมาจากส.ส. เท่ากับประชาชนไม่มีอำนาจบริหารใช่หรือไม่ ส่วนที่เกรงว่าจะเกิดวิกฤตก็สามารถขัยนให้ไม่มีวิกฤตได้ เพราะในร่างรธน.ชัดเจนว่ารัฐบาลพ้นจากหน้าที่เมื่อยุบสภา จึงไม่มีวิกฤตตามที่กรรมาธิการฯอ้างอีก
5) การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นกลไกตรวจสอบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะจะเกิดระบบฮั้ว และยังมีประเด็นที่จะทำให้เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ได้เลย 6) กลไกลขับเคลื่อนการปฏิรูปควรจะเป็นอย่างไร 7)คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติที่มีหน้าที่ประเมินโครงการภคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติให้ทำหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรอิสระและพรรคการเมืองแต่ประเมินแค่แจ้งให้ทราบ เท่ากับสูญเปล่าถ้าจะทำต้องให้คุ้มค่าและไม่เห็นประโยชน์ในการประเมินพรรคการเมืองกับกลุ่มการเมืองแต่จะเป็นภาระมากกว่า
8) คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาคัดเลือกข้าราชการระดับปลัดกระทรวง 9) น่าจะเสนอเรื่องการทำประชามติ ซึ่งหากเห็นว่าจำเป็นก็จะมีการยื่นญัตติต่อ สปช.เพื่อให้พิจารณาลงมติ หากที่ประชุมเห็นด้วยก็จะส่งข้อเสนอดังกล่าวไปยังครม.และคสช.เพราะขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรียังไม่ได้ตัดสินใจ และ 10) ประเด็นที่ให้อำนาจคณะกรรมการปรองดองฯออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษได้เพียงแค่ให้ข้อมูลและสำนึกผิดกับคณะกรรมการ เป็นการให้อำนาจที่อาจขัดต่อหลักการของกฎหมายและจารีตที่เคยปฏิบัติกันมาเพราะ การอภัยโทษเป็นเรื่องที่ต้องถูกศาลตัดสินความผิด มีการจองจำก่อน แต่ในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดประเด็นเหล่านี้
นายสมบัติ ยังกล่าวด้วยว่า มาตรา 181 และ 182 ซึ่งให้นายกยื่นญัตติไว้วางใจตัวเอง ถ้าไม่ได้รับความไว้วางใจมีอำนาจยุบสภาได้ เป็นการกีดกันไม่ให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ แม้จะอ้างว่าเป็นการบล็อคไม่ให้พรรคร่วมรัฐบาลไปร่วมกับฝ่ายค้านก็ไม่สมเหตุผล อีกทั้งเห็นว่ากลไกนี้ไม่เหมาะสม
“มาตรา 182 ยิ่งน่ากลัวเรื่องการเสนอกฎหมายเร่งด่วนออก พรก.ได้ แต่ให้อำนาจพิเศษในการเสนอกฎหมายพิเศษในหนึ่งสมัยประชุม อันตรายมากคล้ายพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะถ้าฝ่ายค้านไม่อภิปรายไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมงก็ถือว่ากฎหมายผ่าน หรือถ้าผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ถือว่ากฎหมายฉบับนี้ผ่านไปโดยปริยาย แม้จะอ้างว่ามีส.ว.กลั่นกรองแต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อประเทศจึงต้องถามว่ากรรมาธิการฯกำหนดไว้เพื่ออะไร เพราะเป็นการส่งเสริมให้รัฐบาลมีอำนาจเผด็จการ เท่ากับรัฐธรรมนูญรองรับเผด็จการรัฐสภาเต็มร้อย” นายสมบัติ กล่าว
ส่วนการแปรญัตติจะมีผลในทางปฏิบัติหรือไม่ เพราะอำนาจการตัดสินใจเป็นของกรรมาธิการยกร่างฯนั้น นายสมบัติ ออกตัวว่ายังไม่พูดถึงอนาคตเพราะอาจมีการปรับแก้ไขก็ได้ แต่ถ้ายังดำรงร่างรัฐธรรมนูญเช่นนี้จะเป็นระเบิดเวลาสำหรับประเทศตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นไว้ ซึ่งกรรมาธิการญควรจะรับฟังและนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วย