xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กป๊อก” รับมีแนวโน้มชง คสช.ตัดสินใจทำประชามติร่าง รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
“บิ๊กป๊อก” รับมีแนวโน้มชง คสช.ตัดสินใจทำประชามติร่าง รธน. “จุรินทร์” งง! ให้อำนาจนายกฯ คนนอกล้นฟ้าเหมือนพยัคฆ์ติดปีกแถมดำดินได้ หวั่นเกิดวิกฤตซ้ำ “ปกรณ์” เผย “บวรศักดิ์” ห้าม กมธ.ยกร่างฯ โดดประชุมหลังเดือน พ.ค. เชื่องานหนัก แย้มทำ รธน.เล่มเล็กแจกประชาชน พร้อมเล็งแปลเป็นภาษาถิ่นให้เข้าใจง่าย

วันนี้ (27 เม.ย.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญว่า การประชามตินั้น 1. รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ และ 2. เวลาไม่น่าจะทันตามโรดแม็พ ตนคิดว่าน่าจะเป็นข้อสรุปของ สปช.จะดีกว่าที่จะเสนอมายังรัฐบาลว่าจะต้องทำอย่างไร รวมถึงจะต้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา เพราะว่ามีผลกระทบต่อโรดแมปของ คสช. ทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ และกรอบเวลาที่ต้องเกินออกไป

ส่วนกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุต้องให้รัฐบาลและคสช.ตัดสินใจในการทำประชามตินั้น พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า น่าเป็นคสช. ไม่ใช่รัฐบาล เพราะฉะนั้น คำตอบน่าจะไปอยู่ที่ คสช. แต่ว่าใครจะเป็นผู้เสนอนั้นได้หมด เข้าใจว่าขณะนี้ข้อเสนอเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือ สปช.เอง สามารถเสนอได้ทั้งหมดเพื่อให้ กมธ.ยกร่างฯ ได้พิจารณาดำเนินการต่อไป

ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ นายวุฒิสาร ตันไชย กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวยอมรับว่าประเด็นคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรมที่มีฐานที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิจาก ก.พ. อดีตปลัดกระทรวง และประธานกรรมการจริยธรรมของกระทรวง ตามมาตรา 207 ของร่างรัฐธรรมนูญนั้นอาจต้องกลับไปทบทวนในชั้น กมธ.ยกร่างฯ เพราะมีเสียงทักท้วงมาก และมีข้อเสนอให้ปรับปรุงจากที่ประชุม สปช.มาก หน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯ คือ รอญัตติที่เขียนรายละเอียดมาแล้วไปทบทวนในสาระสำคัญ ส่วนประเด็นที่ สปช.วิจารณ์ว่าระบบราชการยังมีการปฏิรูปน้อยนั้น ตนไม่คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเสริมสร้างข้าราชการให้เป็นอำมาตย์ อยากให้คิดว่าบางครั้งการมีส่วนในการทุจริตของข้าราชการ เกิดจากการถูกการเมืองบีบบังคับ แต่บางครั้งก็เสนอตัวเอง จึงมีทั้งกลุ่มที่ผิด แต่ไม่ชั่ว กับผิดและชั่ว ก็ต้องจัดการกับกลุ่มผิดและชั่วก่อน ส่วนผิดแต่ไม่ชั่วก็ต้องสร้างกลไกการคุ้มครอง เมื่อร่างรัฐธรรมนูญให้ระบบภูมิคุ้มกันแล้ว หากราชการยังทำผิดอีกก็จะต้องให้คำตอบกับสังคม จะไปอ้างไม่ได้แล้วว่าถูกบังคับ

ทางด้านนายปกรณ์ ปรียากร กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญหลังจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา หลังจากนั้นก็รอให้ สปช.ทำคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญส่งมาภายใน 30 วัน ก่อนวันที่ 26 พ.ค.นี้ เพื่อจะได้พิจารณาและปรับปรุงแก้ไข โดย กมธ.ยกร่างฯจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขใน 60 วัน ซึ่งจะต้องเชิญ สปช.ส่งคำขอแก้ไขมาหารือ พร้อมกันนั้นก็จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปด้วย ทั้งหมดใช้เวลา 60 วัน ซึ่งนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ได้มีคำสั่งว่าตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.เป็นต้นไป กมธ.ยกร่างฯ ทุกคนไม่มีสิทธิขาดประชุม และไม่ให้ลาไปไหน เพราะหลังจากวันที่ 31 พ.ค.กมธ.ยกร่างฯ จะมีงานหนักมาก

นายปกรณ์ยังกล่าวอีกว่า กมธ.ยกร่างฯ มีแนวคิดที่จะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเล่มเล็ก เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าถึงรัฐธรรมนูญดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งจะเผยแพร่ในส่วนที่ สปช.มีความเห็นร่วมกับ กมธ.ยกร่างฯ อาทิ หมวด 1 ในร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องในมาตราที่ สปช.ยังมีความเห็นต่างกับ กมธ.ยกร่างฯ อาทิ ระบบเลือกตั้ง ที่มานายกรัฐมนตรีจะดำเนินการเผยแพร่หลังจากที่ได้ข้อสรุป นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ ได้มีการสร้างเครือข่ายร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากมีหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่าย และมีแนวคิดว่าจะแปลร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนในภาคต่างๆ ที่มีภาษาแตกต่างกัน โดยจะเป็นถอดความจากร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงความหมายและสาระสำคัญไว้เช่นเดิม และอาจจะมีการทำเป็นอินโฟกราฟิกและสื่อแอนิเมชั่น เพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ด้วย

ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งสัญญาณเตรียมรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายการเมือง เพื่อปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ว่าหากเป็นจริงก็ยินดีให้ความร่วมมือ โดยจะระบุมาตราที่ควรตัดทิ้ง หรือปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ลดความขัดแย้งและเป็นที่ยอมรับ ตนได้ติดตามและศึกษาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ครบทั้ง 315 มาตรามาแล้ว เพียงแต่ขอให้รับฟังอย่างจริงจัง และต้องตระหนักว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นที่ยอมรับได้ ไม่ใช่แค่เพียงผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่สำคัญคือต้องผ่านความเห็นชอบจากคนทั้งประเทศด้วย ซึ่งปัญหาหลักของการเขียนจะนำไปสู่ข้อโต้แย้งในวงกว้าง คือการตั้งโจทย์ กับคำตอบไปคนละทิศละทาง เปิดทางให้คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นนายกรัฐมนตรี ให้นายกรัฐมนตรี มีอำนาจล้นฟ้า กลายเป็นพยัคฆ์ติดปีก แถมดำดินได้ และถึงขั้นสามารถเสนอกฎหมายด้วยวิธีพิเศษ และดำดินหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ด้วย

โดยเฉพาะมาตรา 182 ตนเป็นห่วง เพราะเปิดโอกาสให้นายกฯ เสนอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ใดก็ได้ ซึ่งถือเป็นการให้อำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งกว่าการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หากวันหนึ่งนายกฯ ฉ้อฉล ใช้อำนาจออกพระราชบัญญัติล้างผิด ตามมาตรานี้ บ้านเมืองก็จะเกิดวิกฤติขึ้นมาอีก นอกจากนี้ยังมีมาตรา 181 ที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เพราะให้อำนาจนายกฯ โกง สามารถหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ 2 มาตรานี้ หากได้นายกฯ ที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ เหมือนที่เคยเกิดในอดีตแล้วตรวจสอบไม่ได้ วิกฤติก็จะตามมาได้อีกเช่นกัน 2 มาตรานี้จึงเกินความจำเป็น และขอแนะนำให้ตัดออกไป

ส่วนประเด็นนายกฯ คนนอกนั้น ยังอาจเป็นการเปิดช่องให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในพรรคการเมือง สามารถส่งคนในตระกูลใดตระกูลหนึ่งที่ไม่ได้ลงสมัคร ส.ส.มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หากมีเสียงในสภาฯ 2 ใน 3 ส่วนระบบโอเพ่นลิสต์นั้น หากประสงค์ที่จะเพิ่มอำนาจประชาชน ควรให้อำนาจประชาชนสามารถเลือกผู้สมัครจากบัญชีของพรรค ไม่ใช่ไปจำกัดให้เลือกได้เพียงคนเดียว สำหรับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาที่อ้างว่าจะให้มาจากการเลือกตั้ง 77 คน แต่ประชาชนมีสิทธิเลือกได้เฉพาะจากผู้ที่คณะกรรมการกลั่นกรองคัดเลือกชื่อส่งมาให้เท่านั้น ยิ่งเป็นการสะท้อนการจำกัดสิทธิ ทั้งของผู้สมัคร และประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เหมือนระบบคอมมิวนิสต์ซึ่งไม่ควรนำมาใช้ในรัฐธรรมนูญไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น