xs
xsm
sm
md
lg

“บวรศักดิ์” ถอยดีกว่า! รับจะไปแก้นายกรัฐมนตรีคนนอก ใช้เสียง 2 ใน 3 แทนเสียงข้างมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ภาพจากแฟ้ม)
ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยอมถอยปรับแก้นายกรัฐมนตรีคนนอก ที่ไม่ใช่ ส.ส. ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เหมือนเลือกจาก ส.ส. จากเดิมใช้เสียงข้างมาก แจงเหตุผลเปิดช่องเพราะมีเหตุการณ์วิกฤตใช้มาตรา 7 ไม่ได้ เชื่อว่าคงจะไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ เฉพาะเกิดวิกฤต หากไม่ร่างเสี่ยงที่อาจจะไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาท หรือฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ปัดตอบเปิดช่องอำนาจพิเศษของทหาร ตอบอ้อมๆ หัวหน้าพรรค - ส.ส. 450 คน ตกลงกันเอง

วันนี้ (22 เม.ย.) ในการประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 3 ในภาค 2 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง ในช่วงบ่าย สมาชิก สปช. ยังคงอภิปรายอยู่ในหมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จนกระทั่งเวลา 16.40 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ลุกขึ้นชี้แจงว่า จะรับข้อเสนอแนะของสมาชิก เกี่ยวกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และขอให้สมาชิกได้เสนอญัตติแก้ไข ซึ่ง กมธ. ยกร่างฯ จะนำไปพิจารณา

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับที่มานายกรัฐมนตรีว่าจะเป็นจุดเสี่ยง ในการเอาคนนอกมาเป็น ดังนั้น ตนขอชี้แจงว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้ร่างรัฐธรรมนูญโดยยึดหลักประชาธิปไตย รวมทั้งคำนึงถึงสถานะความเป็นจริงของสังคมไทย การบัญญัติว่าคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องผ่านอย่างน้อย 2 ด้าน ซึ่งเขียนไว้ในมาตรา 172 วรรค 3 และ มาตรา 171 วรรค 2 โดยนายกฯ จะต้องเลือกโดย ส.ส.ในสภา รวมทั้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับสนองในการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ดังนั้น เชื่อว่า ส.ส. ในสภา คงไม่มีใครเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ ส.ส. 450 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีพรรคการเมือง และมีหัวหน้าพรรคการเมืองกำกับ เขาจะเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ โอกาสเป็นไปได้มีแค่ไหน แทนที่จะถาม กมธ. ยกร่างฯ ว่าทำไมจึงเขียนรัฐธรรมนูญอย่างนี้ จะต้องไปถาม หัวหน้าพรรคการเมือง และ ส.ส. 450 คน ว่า จะเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ หรือไม่

“เรามีบทเรียนที่ขมขื่นในอดีต มีแผลจากเหตุการณ์ปี 2535 จึงได้เขียนว่านายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น แต่เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤต ทั้งในปี 2549 และ 2557 ก็พยายามใช้มาตรา 7 แต่ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นทาง กมธ. ยกร่างฯ จึงต้องเขียนไว้เป็นข้อยกเว้น แต่เชื่อว่าคงจะไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ และที่เขียนไว้ว่าเมื่อเกิดวิกฤต ทางทางตัน ไม่มี ส.ส. ก็ต้องเอาคนที่ไม่เป็น ส.ส. มาเป็น และเมื่อเกิดการยุบสภา ส.ส. ทำหน้าที่ไม่ได้ ก็ให้ ส.ว. ทำหน้าที่แทน ในทางกลับกันหากไม่เขียนไว้อย่างนี้ก็จะเป็นจุดเสี่ยงที่อาจจะไปรบกวนเบื้องพระยุคลบาท หรือมีการเลิกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เมื่อคิดแล้วก็ไม่ควรถึงขั้นต้องเลิกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ส่วนที่บางคนบอกว่าทำไม กมธ. ยกร่างฯ ต้องไปกางร่มในห้องนอน แต่ตนว่าเป็นการเตรียมร่มไว้ในบ้าน เวลาฝนตกเดินออกไปข้างนอกถ้ากางร่มก็จะได้ไม่เปียก” นายบวรศักดิ์ กล่าว

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ข้อท้วงติงของ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ. ปฏิรูปการเมือง ที่บอกว่ามาตรา 173 ที่ระบุว่า การเลือกนายกฯ ในสภาต้องได้เสียง 2 ใน 3 หากได้เสียงไม่ถึง ก็ใช้เสียงข้างมาก ซึ่งจะเป็นช่องว่างให้คนนอกได้ เพราะจะไม่สามารถเลือกนายกฯ ที่มาจาก ส.ส. ได้ภายใน 1 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าฟัง ดังนั้นตนจะไปปรับแก้ โดยเขียนว่า ในกรณีการเลือกนายกฯ ที่ไม่ใช่ ส.ส. ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 จะใช้เสียงข้างมากไม่ได้

จากนั้น นายวันชัย สอนศิริ สปช. ลุกขึ้นถามว่า ประเด็นเรื่องที่มานายกรัฐมนตรีจะมีการเปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกได้ในกรณีที่เกิดวิกฤต แต่ขณะเดียวกันก็อดทำให้บางคนสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อ กมธ. ยกร่างฯ ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้เสียงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตรงนี้อาจทำให้เป็นช่องทางพิเศษบางอย่าง โดยเฉพาะอำนาจพิเศษของทหารเข้ามาเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ จึงอยากขอคำยืนยันจากประธานคณะ กมธ. ยกร่างฯ ด้วย ทำให้ นายบวรศักดิ์ ได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า “ความจริงผมไม่อยากตอบ แต่ขอพูดสั้นๆ ว่า คนที่จะตัดสินใจเรื่องดังกล่าว คือหัวหน้าพรรคการเมือง และคนที่เป็น ส.ส. 450 คน และต้องลงคะแนนอย่างเปิดเผยด้วยเสียง 2 ใน 3 ด้วย ซึ่งผมก็เชื่อว่า เรื่องดังกล่าวไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น