xs
xsm
sm
md
lg

รธน.ให้ผู้หญิงลงปาร์ตี้ลิสต์1ใน3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (31 มี.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการประชุมเป็นการภายใน ของ กมธ.ยกร่างฯ เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 มี.ค.จนถึงวันพฤหัสที่ 2 เม.ย. ถ้ายังไม่เสร็จอาจต่อไปถึงวันที่ 7-9 เม.ย. แต่ถ้าเสร็จภายในวันที่ 2 เม.ย. ได้ก็จะดี เพราะจะได้ทบทวนประเด็นรอการพิจารณา คือ สัดส่วนสตรี ซึ่งจะตัดสินใจในช่วงบ่าย (31 มี.ค.) จากที่รอการพิจารณาไว้ มีการกำหนดสภาท้องถิ่นอย่างน้อยหนึ่งในสาม และบัญชีรายชื่อของผู้สมัครที่เป็นหญิง อย่างน้อยหนึ่งในสาม
นายคำนูณ อธิบายว่าฝ่ายหนึ่งเห็นว่าชายและหญิง มีสิทธิเท่าเทียมให้เป็นไปโดยธรรมชาติ แม้ว่าจะมีสิทธิเท่าเทียมกันตามกฎหมาย แต่ความจริงผู้หญิงมีสิทธิเสียงน้อยกว่าตามวัฒนธรรมที่สืบเนื่องยาวนาน หากกำหนดไว้ในท้องถิ่นให้มีสัดส่วนสตรีเข้ามาจะเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทในการใช้อำนาจรัฐระดับต่างๆ มากขึ้น และถ้าได้การตัดสินใจผู้หญิงมาประกอบการตัดสินใจของท้องถิ่นจะเป็นประโยชน์ แต่บางส่วนยังเห็นว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะเป็นการจำกัดสิทธิคนเลือกหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งต้องเป็นสิทธิของผู้มีเลือกตั้งจะเลือกใครก็ได้ แต่มีทางออกว่า กำหนดเฉพาะขาเข้า ไม่บังคับคนเลือก ซึ่งที่ประชุมคงต้องตัดสินใจ
สำหรับประเด็นหลักๆ ที่จะมีการทบทวน เช่น ที่มานายกรัฐมนตรี ที่มาสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งแนวทางที่จะออกมาก็น่าจะเป็นตามที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เคยระบุไว้ คือกรณีที่มานายกฯ หากมาจากคนนอกอาจกำหนดให้มีวาระสั้นกว่าปกติ คือ 2 ปี หรือต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนกรณีที่มาสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเดิมกำหนดจำนวน 200 คน ให้มาจากการสรรหาของแต่ละสาขาวิชาชีพ อาจมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นระบบผสมผสาน คือ มาจากการเลือกตั้ง 77 จังหวัด แต่ยังไม่มีการหารือว่า จะยังคงจำนวน ส.ว.ที่ 200 คน หรือไม่ ทั้งนี้ หากยึดตามจำนวนเดิม ก็จะทำให้มี ส.ว.สรรหามากกว่า ส.ว.เลือกตั้ง 130 คน ซึ่งถือเป็นเสียงข้างมากของวุฒิสภา
อย่างไรก็ตาม กมธ.ยกร่างฯ ไม่กังวลที่จะต้องชี้แจงต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพราะเป็นการทำงานตามหน้าที่ ถ้ามองอย่างสร้างสรรค์ ต่างฝ่ายก็ต่างพยายามโน้มน้าวแสดงเหตุผลว่า ทุกประการมีที่มาที่ไป แต่ในส่วนที่เห็นต่างก็ต้องแสดงเหตุผลเช่นเดียวกัน กรรมาธิการฯ ต้องรับฟังด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง และดูคำขอแก้ไขที่จะเข้ามาหลัง วันที่ 26 เม.ย. จาก คสช. ครม. และ สปช. เท่านั้น แต่รับฟังทุกความเห็น ซึ่งรธน.ชั่วคราว ให้อำนาจกรรมาธิการฯตัดสินใจ ยิ่งต้องเปิดใจกว้าง เพราะไม่ได้ร่างเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คำวิจารณ์ของสื่อมวลชน และเสียงจากทุกภาคส่วน ก็จะเป็นข้อมูลมาประกอบการตกผลึกครั้งสุดท้าย

** พรรคต้องส่งผู้หญิงลงปาร์ตี้ลิสต์1ใน3

ต่อมาเวลา 16.20 น. วันเดียวกัน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกมธ.ยกร่างฯ และ นางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างฯ แถลงถึงการทบทวน ร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นสัดส่วนเพศตรงข้าม ในผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และมาตราที่กำหนดสัดส่วนสตรี ในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น และสภาท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ว่า เป็นครั้งแรกที่ที่ประชุมลงมติลับ ซึ่งในส่วนของ มาตรา 76 ได้มีการกำหนดให้ใช้ถ้อยคำ กำหนดสัดส่วนสตรี หรือเพศตรงข้าม ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในบัญชีรายชื่อระดับประเทศ และมีมติเห็นด้วย 17 เสียง ไม่เห็นด้วย 15 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง
ดังนั้น ในอนาคตพรรคการเมืองต่างๆ ต้องส่งสตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยจะต้องจัดสัดส่วนสตรีให้ครบทั้ง 6 บัญชี ใน 6 ภูมิภาค มิเช่นนั้น พรรคการเมืองนั้นจะไม่สามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานการเมืองมากขึ้น
ขณะที่มาตรา 112 การกำหนดสัดส่วนผู้หญิงในระดับท้องถิ่น ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วย 22 เสียง ต่อ 10 เสียง และ งดออกเสียง 2 เสียง เนื่องจากในทางปฏิบัติ อาจไม่มีผู้หญิงเข้าไปสมัครในระดับท้องถิ่นเพียงพอ
ส่วนมาตรา 166 กมธ.ได้แก้ไขร่างจากเดิม ในกรณีที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากเสียงในสภาไม่เห็นด้วย สภาจะต้องสิ้นสภาพไปพร้อมนายกรัฐมนตรี โดยกมธ.ได้แก้ไขว่า หากสภาไม่ไว้วางใจนายกฯ สภาจะยังคงสถานะอยู่เช่นเดิม และให้บุคคลที่ฝ่ายค้านเสนอชื่อเป็นนายกฯ แนบท้ายญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นนายกฯแทน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับ รธน.50
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังแก้ไข มาตรา 193 จากเดิมที่รัฐบาลจะไปทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยแก้ไขให้ตั้งคณะกมธ.ต่างประเทศ รัฐสภา ให้ความเห็นชอบแทนรัฐสภา เนื่องจากมีภารกิจค่อนข้างมาก โดยจะนำผู้มีความรู้เชี่ยวชาญเรื่องต่างๆ จากภายนอก เข้ามาเป็นกมธ.ชุดดังกล่าวด้วย
ที่ประชุมยังได้มีการแก้ไขเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี โดยกำหนดให้บุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรี จะต้องไม่เคยจำคุก เว้นแต่เป็นความผิดที่กระทำโดยความประมาท ความผิดลหุโทษ และ หมิ่นประมาท โดยจะต้องพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลาห้าปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง รวมถึงที่ประชุมเห็นชอบให้มีการปรับแก้ถ้อยคำเรื่องการกำหนดหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ในบางส่วน โดยไม่ได้กำหนดให้การเข้าร่วมประชุมสภาฯ วุฒิสภา และ รัฐสภา ของนายกฯ และรัฐมนตรี เป็นหน้าที่ และเป็นภารกิจสำคัญเหนือภารกิจอื่น จากเดิมที่คณะกมธ.ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ และภารกิจสำคัญเหนือภารกิจอื่นใด ของนายกฯ และรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าหากกำหนดสภาพบังคับดังกล่าว อาจมีผลต่อการทำงานของรัฐบาล

** ครม.เบรกกมธ.ฯประชาพิจารณ์

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า ในที่ประชุมมีการหารือกันถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญพอสมควร โดยสิ่งที่ ครม.เป็นห่วงคือ ขณะนี้ กมธ. ยกร่างฯ ได้เปิดเวทีในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยใช้คำว่าประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนทั่วไปในเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในตัวร่างรัฐธรรมนูญ แต่ ครม.มองว่า ส่วนนี้อาจจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดความรู้สึกขัดแย้ง หรือมีทัศนคติไม่ดีต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจริงๆ แล้วระยะเวลากำหนดที่แน่นอนคือ ร่างแรกจะเสร็จ ในวันที่ 17 เม.ย. และต้องส่งให้ผู้เกี่ยวข้องดู ซึ่งทางรัฐบาลและ คสช. ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้เลย ที่ประชุม ครม. จึงมีมติให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รับไปหารือเป็นข้อพิจารณากับทาง กมธ.ยกร่างฯ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะปรับรูปแบบจากประชาพิจารณ์ มาเป็นลักษณะของการขอรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่า ต้องการให้มีอะไรบ้างในรัฐธรรมนูญ และไม่อยากให้มีอะไรบ้างในรัฐธรรมนูญ ไม่ถึงขนาดอยากให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในตัวร่างรัฐธรรมนูญทีละข้อ เพราจะเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกขัดแย้งในแนวความคิดของการยกร่างรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น