xs
xsm
sm
md
lg

โหวตลับ! พรรคการเมืองส่งผู้หญิงลงปาร์ตี้ลิสต์ 1 ใน 3 - กสม.ขอเท่าเทียมชาย-หญิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และนางถวิลวดี บุรีกุล กรรมาธิการยกร่างฯ แถลงถึงการทบทวนร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นสัดส่วนเพศตรงข้าม ในผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และมาตราที่กำหนดสัดส่วนสตรีในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น และสภาท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
กมธ.ยกร่างฯ โหวตลับเห็นชอบ พรรคการเมืองส่งผู้หญิงลงปาร์ตี้ลิสต์ 1 ใน 3 ขณะที่ท้องถิ่นแพ้โหวต ส่วนลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯแพ้สภาอยู่ พร้อมกำหนดการเข้าร่วมประชุม ด้าน กสม.วอน สปช.-กมธ.ยกร่างฯ กำหนดสัดส่วนหญิง-ชายเท่าเทียม ใน รธน.

เมื่อเวลา 16.20 น. วันนี้ (31 มี.ค.) ที่รัฐสภา น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ นางถวิลวดี บุรีกุล กรรมาธิการยกร่างฯ แถลงถึงการทบทวนร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นสัดส่วนเพศตรงข้าม ในผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ และมาตราที่กำหนดสัดส่วนสตรีในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น และสภาท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ว่า เป็นครั้งแรกที่ที่ประชุมลงมติลับ ซึ่งในส่วนของมาตรา 76 ได้มีการกำหนดให้ใช้ถ้อยคำกำหนดสัดส่วนสตรี หรือเพศตรงข้าม ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในบัญชีรายชื่อระดับประเทศ และมีมติเห็นด้วย 17 เสียง ไม่เห็นด้วย 15 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง ดังนั้น ในอนาคตพรรคการเมืองต่างๆ ต้องส่งสตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยจะต้องจัดสัดส่วนสตรีให้ครบทั้ง 6 บัญชีใน 6 ภูมิภาค มิเช่นนั้นพรรคการเมืองนั้นจะไม่สามารถส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาทำงานการเมืองมากขึ้น ขณะที่มาตรา 112 การกำหนดสัดส่วนผู้หญิงในระดับท้องถิ่น ที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วย 22 เสียง ต่อ 10 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง เนื่องจากในทางปฏิบัติอาจไม่มีผู้หญิงเข้าไปสมัครในระดับท้องถิ่นเพียงพอ

น.ส.สุภัทรากล่าวต่อว่า ในส่วนมาตรา 166 กมธ.ได้แก้ไขร่างจากเดิมในกรณีที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากเสียงในสภาไม่เห็นด้วย สภาจะต้องสิ้นสภาพไปพร้อมนายกรัฐมนตรี โดย กมธ.ได้แก้ไขว่าหากสภาไม่ไว้วางใจนายกฯ สภาจะยังคงสถานะอยู่เช่นเดิม และให้บุคคลที่ฝ่ายค้านเสนอชื่อเป็นนายกฯ แนบท้ายญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นนายกฯแทน ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 50 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังแก้ไขมาตรา 193 จากเดิมที่รัฐบาลจะไปทำสนธิสัญญากับต่างประเทศจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยแก้ไขให้ตั้งคณะ กมธ. ต่างประเทศ รัฐสภา ให้ความเห็นชอบแทนรัฐสภา เนื่องจากมีภารกิจค่อนข้างมาก โดยจะนำผู้มีความรู้เชี่ยวชาญเรื่องต่างๆ จากภายนอกเข้ามาเป็น กมธ.ชุดดังกล่าวด้วย

น.ส.สุภัทรากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังได้มีการแก้ไขเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรี โดยกำหนดให้บุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรี จะต้องไม่เคยจำคุก เว้นแต่เป็นความผิดที่กระทำโดยความประมาท ความผิดลหุโทษ และหมิ่นประมาท โดยจะต้องพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลาห้าปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง รวมถึงที่ประชุมเห็นชอบให้มีการปรับแก้ถ้อยคำเรื่องการกำหนดหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ในบางส่วน โดยไม่ได้กำหนดให้การเข้าร่วมประชุมสภา วุฒิสภา และรัฐสภา ของนายกฯ และรัฐมนตรี เป็นหน้าที่ และเป็นภารกิจสำคัญเหนือภารกิจอื่น จากเดิมที่คณะ กมธ.ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่และภารกิจสำคัญเหนือภารกิจอื่นใดของนายกฯ และรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่าหากกำหนดสภาพบังคับดังกล่าว อาจมีผลต่อการทำงานของรัฐบาล

อีกด้านนางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล ขอเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) พิจารณา 1. คงหลักการความเสมอภาคของหญิงและชาย ตามนัยมาตรา 30 และมาตรา 80 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และ 2. ให้มีการกำหนดสัดส่วนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เนื่องจากตามหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งระบุว่าทุกคนเสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกันโดยปราศจาการการเลือกปฏิบัติใดๆ และตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ รัฐภาคีมีความผูกพันที่จะประกันสิทธิอันเท่าเทียมของหญิงและชาย

“การกำหนดให้มีระบบโควตาหรือสัดส่วนของสตรีนี้ มุ่งเพื่อประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง เพราะสัดส่วนของสตรีในระบบการเมืองของไทยปัจจุบันอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น การเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการกำหนดให้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ และสภาท้องถิ่น ควรมีสัดส่วนผู้หญิงไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เป็นการนำศักยภาพของผู้หญิงที่เป็นประชากรของประเทศกว่าครึ่งหนึ่งมาใช้ประโยชน์ เพื่อการกำหนดนโยบายที่มีความครบถ้วนทุกมิติของการพัฒนาประเทศ เพื่อให้สตรีได้ใช้ศักยภาพให้เป็นประโยชน์ร่วมกับบุรุษอย่างสมดุลและสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างสมบูรณ์” นางวิสากล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น