xs
xsm
sm
md
lg

ต้องทำประชามติรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับฉีกทิ้งแล้วก็ร่างขึ้นใหม่ ฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เป็นฉบับที่ 20 และกำลังร่างขึ้นใหม่ฉบับที่ 21 โดยคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกกล่าวหาว่ามีที่มาจากเผด็จการ

มีคำถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งจะเป็นกรอบกติกาของประเทศนั้นจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ จะดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่เราฉีกทิ้งไปหรือไม่ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมั่นคงถาวรแล้วหรือยัง

ผมคิดว่า คำตอบที่สำคัญก็คือ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญจะร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือไม่ นอกจากที่กรรมาธิการต้องพกความกดดันว่าต้องร่างรัฐธรรมนูญให้ถูกใจ คสช.ด้วย

เค้าโครงของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาแล้ว ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่มากยิ่งขึ้น อำนาจของประชาชนถูกลิดรอนกลับไปสู่การเป็นรัฐราชการไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด

ที่เห็นชัดคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบให้สมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมมีอำนาจมากกว่าสภาผู้แทนราษฎรและ ส.ส.

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้มีวุฒิสภามาจากการสรรหา 200 คน คัดเลือกจาก 5 ช่องทาง คือ 1. อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานศาลฎีกา เลือกกันเองให้ได้ไม่เกิน 10 คน 2. อดีตข้าราชการพลเรือนระดับปลัดกระทรวง ข้าราชการทหารระดับปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือหัวหน้าองค์กรของรัฐที่เป็นรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐประเภทละไม่เกิน 10 คน (รวมไม่เกิน 30 คน)

3. ผู้แทนองค์กรวิชาชีพหรืออาชีพที่กฎหมายจัดตั้งเลือกกันเองไม่เกิน 10 คน 4. ผู้มาจากการเลือกกันเองขององค์กรด้านเกษตรกรรม แรงงาน วิชาการ ชุมชน ท้องถิ่น และองค์กรด้านต่างๆ ไม่เกิน 50 คน และ 5. ผู้ทรง “คุณวุฒิและคุณธรรม” ด้านต่างๆ ไม่เกิน 100 คน ที่เลือกโดยสมัชชาพลเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นทุกประเภท โดยเลือกจากรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาบุคคลด้านต่างๆ ได้จัดทำขึ้นเป็นจำนวน 2 เท่า

แต่ให้อำนาจหน้าที่ ส.ว.อย่างมาก เช่น การเสนอกฎหมายตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สรรหาองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ถอดถอน ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา ถอดถอนนายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รวมทั้งให้ความเห็นชอบผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรี และประชุมร่วมกับ ส.ส.ในวาระสำคัญ

ที่มาของ ส.ว.ถูกโจมตีว่า ไม่ยึดโยงกับประชาชนกลับไปสู่ยุครัฐราชการระบบอุปถัมภ์ คนที่เข้ามาเป็น ส.ว.ได้ต้องมีเส้นสายและคอนเนกชั่นซึ่งง่ายต่อการสร้างระบบพวกพ้องและถูกกำหนดโดยฝ่ายที่ครองอำนาจรัฐ

ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องคำนึงก็คือว่า อำนาจของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกับระบบรัฐราชการระบบอุปถัมภ์นั้น ถ้ามีพรรคการเมืองไหนสืบทอดอำนาจยาวนานระบบราชการจะตกอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายที่ยึดครองอำนาจรัฐ แล้วต้องไม่ลืมว่าพรรคของทักษิณชนะการเลือกตั้งมาทุกครั้งตั้งแต่ทักษิณตั้งพรรคไทยรักไทยเข้าสู่การเมือง

ยังรวมถึงประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีที่ฝ่ายคัดค้านบอกว่า เป็นการย้อนยุคไปก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ประชาชนออกมาคัดค้านนายกฯ คนนอกและการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กลับเปิดทางให้สืบทอดอำนาจได้โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่มีที่มาจากส.ส. ซึ่งมีการโต้แย้งด้วยวาทกรรมว่า ไม่ใช่เป็นนายกฯ คนนอก แต่เป็นนายกฯที่มาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในสภาฯ

การกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดลง ในกรณีที่มีการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จะทำให้ ส.ส.กล้าที่จะลงมติไม่ไว้วางใจซึ่งอาจทำให้ตนเองสิ้นสภาพแล้วไปเลือกตั้งใหม่หรือไม่

ผมคิดว่า ประเด็นเหล่านี้จะต้องตอบคำถามอย่างหนักแน่นว่า ดีกว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาอย่างไร เป็นการถอยหลังเข้าคลองหรือไม่ เราเคยกลัว ส.ว.ที่กลายเป็นสภาผัวเมียแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แล้วระบบใหม่ดีกว่าระบบผสมผสาน คือมีทั้งจากการสรรหาและการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างไร และทำไมถึงให้ ส.ว.มีอำนาจมากกว่า ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ผมพยายามเข้าใจนะครับว่า เราพยายามร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่ออุดช่องว่างในอดีตที่ก่อให้เกิดวิกฤตการเมือง แต่เราต้องตอบให้ได้ด้วยว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่นำไปสู่วิกฤตยิ่งกว่าเก่า

แน่นอนละครับว่า ความขัดแย้งของประชาชนที่หยั่งรากลึกในประเทศนั้นคงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เราต้องมองให้เห็นว่าอะไรคืออุปสรรคของระบอบประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่าโจทย์การเมืองของสีเสื้อก็คือ ต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน (เสื้อแดงต้องการ) ผู้นำมีความสามารถซื่อสัตย์สุจริตปราศจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยสิ้นเชิง (เสื้อเหลืองต้องการ)

แม้ว่า บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะบอกว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่นี้ จะสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ ยกระดับราษฎรให้เป็นพลเมือง ทำการเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมมีความเป็นธรรม และนำชาติสู่สันติสุข แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นคำตอบข้อโต้แย้งของฝ่ายที่ต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งคำถามถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย

แต่หากกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นที่ยอมรับของประชาชนแม้จะถูกตราหน้าไว้แล้วว่ามีที่มาจากเผด็จการ กรรมาธิการจึงควรจะตอบคำถามต่อข้อครหาของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้ได้ทั้งหมดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีอย่างไรในเชิงรูปธรรมเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับ

และเชื่อเถอะว่าเมื่อนักการเมืองเข้ามาแล้วจะต้องหาทางแก้รัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงมีคำถามว่า ทำไมเราไม่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไม่สามารถแก้ได้ง่ายอย่างใจนึก เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่แม้มาจากคณะรัฐประหารเหมือนกันก็ไม่สามารถแก้ได้ง่าย (ไม่ได้หมายความว่า รัฐธรรมนูญต้องเป็นอมตะนะครับ แต่เห็นด้วยว่าควรจะสามารถปรับตัวไปตามสถานการณ์และภาวการณ์ในแต่ละยุคสมัย เพียงแต่ไม่ควรทำให้นักการเมืองอยากจะแก้ตามใจปรารถนาไร้หลักการอย่างไรเมื่อไหร่ก็ได้)

คำตอบที่เห็นชัดก็คือ เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 มีประชามติจากประชาชนเป็นฐาน ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า คนที่ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ใช้อยู่นี้จึงไม่กำหนดให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่ให้ต้องผ่านประชามติของประชาชนเสียก่อน ราวกับมั่นใจว่าอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช.จะคุ้มครองรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นไปได้ชั่วกัลปาวสาน

เพราะถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติของประชาชน ข้อครหาเรื่องที่มาจากรัฐประหารก็เบาบางไป และจะกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่มั่นคงและแข็งแรงทันที

แต่ถ้าประชาชนไม่ยอมรับไม่ผ่านประชามติ มันก็ไม่สมควรที่จะนำมาใช้เพื่อปกครองประชาชนอยู่แล้ว ก็ควรจะไปเริ่มต้นใหม่ให้ประชาชนยอมรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น