ตัวแทนอดีต ส.ว.เลือกตั้ง ยื่นขอแปรญัตติที่มาวุฒิฯ ใช้ระบบผสมแบบเดิม และให้มีเพิ่มเป็น 200 คน ยันไร้ประโยชน์ เหตุจะไม่ลงสมัคร “สุรชัย” รับชงต่อ กมธ.ยกร่างฯ เชื่อมีผลต่อตัดสินใจ แม้ไร้อำนาจแปรญัตติ แต่มีผลออก กม.ลูก เผยรับศึกษาแนวทางประชามติร่าง รธน. คิดล่วงหน้าไม่ผ่านทำยังไงต่อ รับสังคมข้องใจสืบทอดอำนาจ แต่เชื่อผู้มีอำนาจเรียนรู้จากอดีต
วันนี้ (23 มี.ค.) นายตรี ด่านไพบูลย์ เป็นตัวแทนอดีต ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งรวม 12 คน ยื่นหนังสือขอแปรญัตติให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งเขตจังหวัด ต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดยไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ที่มา ส.ว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด พร้อมกับเสนอให้กลับไปใช้ระบบผสมผสานคือมีทั้งจากการสรรหาและการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจากเป็นการสร้างสมดุลอำนาจทางการเมืองของวุฒิสภาไว้ดีอยู่แล้ว แต่เห็นว่าควรมีจำนวน ส.ว.200 คน จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ 50 กำหนดไว้ที่ 150 คน
นายตรียืนยันว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเกี่ยวข้อง เพราะหากมีการกำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งก็จะไม่ลงสมัคร ส.ว.อย่างแน่นอน ทั้งนี้หวังว่าทาง สนช.จะช่วยเสนอความเห็นต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขประเด็นดังกล่าวให้มีความสมดุลและเป็นประชาธิปไตยด้วย
ด้านนายสุรชัยรับที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวไปรวบรวมไว้ในรายงานความเห็นของ สนช. แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 จะกำหนดให้ผู้มีสิทธิแปรญัตติได้มีเพียงแค่ สปช., ครม. และคสช. โดย สนช.ไม่มีส่วนร่วมในส่วนนี้ แต่คิดว่าความเห็นของ สนช.มีผลต่อการตัดสินใจของกรรมาธิการยกร่างฯ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงที่สร้างสมดุลไว้แล้ว เพราะหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ก็ต้องมีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญตามมาซึ่งต้องเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. จึงเป็นไปไม่ได้ที่ สนช.จะผ่านกฎหมายลูกที่ สนช.ไม่เห็นด้วยในหลักการของรัฐธรรมนูญ
นายสุรชัยกล่าวว่า กำลังศึกษาเพื่อเสนอแนวทางการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ทำทั้งฉบับแล้วมีรัฐธรรมนูญฉบับอื่นมาเป็นตัวเลือก หรือทำทั้งฉบับโดยไม่มีตัวเลือกอื่น หากเลือกวิธีนี้ก็ต้องคิดต่อว่าหากไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไรต่อ กลับมาเริ่มร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือ คสช.จะใช้อำนาจเลือกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาบังคับใช้ ทั้งนี้เห็นว่าการทำประชามติต้องเลือกรูปแบบที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่สร้างปัญหาตามมา โดยยอมรับว่าสังคมเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจมากขึ้น แต่ยังเชื่อว่าผู้มีอำนาจได้เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ทั้ง 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาทมิฬปี 35 อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาในทุกเหตุการณ์ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน